ชาวบ้านลุ่มน้ำยวม จี้ 'รมว.กษ.' ค้านโครงการผันน้ำยวม-สาละวิน ลงเขื่อนภูมิพล
หวั่นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้ายน้ำรุนแรง
โดยเมื่อวานนี้ กรมชลประทานได้จัดประชุมชี้แจงงานสำรวจ ออกแบบ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือที่รู้จักกันคือโครงการผันน้ำยวม-สาละวิน ในพื้นที่ โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 160 คน จากหน่วยงานรัฐ และชาวบ้านหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก และจ.เชียงใหม่
ผู้แทนกรมชลประทานได้ชี้แจงว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อสรุปการสำรวจออกแบบโครงการ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพิ่มเติม
สำหรับโครงการผันน้ำ ประกอบด้วยเขื่อนกั้นแม่น้ำยวมสูงราว 70 เมตร ตั้งอยู่ที่อำเภอสบเมย สถานีสูบน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำ โดยระยะทางจากเขื่อนไปถึงปลายอุโมงค์ รวม 63 กิโลเมตร ซึ่งจะมีการสูบน้ำขึ้นไปยังถังพักน้ำ ผ่านอุโมงค์ไปลงที่ลำห้วยแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ก่อนลงสู่เขื่อนภูมิพล
สำหรับรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้มีการจัดทำแล้วเมื่อปี 2561 และมีการส่งไปยังสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยรายงานระบุถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่า ในเรื่องผลกระทบต่อประชาชน น่าจะอยู่ที่ราว 25 ครัวเรือน รวมถึงพื้นที่ที่ตั้งเขื่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพียงที่ทำกิน
ผู้แทนกรมชลฯ ชี้แจงว่าการผันน้ำจะทำเฉพาะในฤดูฝน ปริมาณน้ำ 1,600 ล้านลบ.ม. ต่อปี ซึ่งแม่น้ำยวมมีปริมาณน้ำ 2,800ล้าน ลบม.ต่อปี จึงจะมีน้ำเหลือเพียงพอสำหรับท้ายน้ำ
สำหรับพื้นที่ป่าไม้ โครงการจะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่า ประมาณ 3,700 ไร่ แต่จะให้กรมป่าไม้ปลูกป่าทดแทน มีมาตรการลดผลกระทบ 15 รายการ รวม 388 ล้านบาท
ทั้งนี้ ชาวบ้านได้แสดงความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมากกว่าที่แสดงในรายงานผลกระทบฯ และได้มีการยื่นจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผ่านกรมในนามของเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน
โดยในจดหมายมีเนื้อหาระบุว่า รู้สึกกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อโครงการผันน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการผันน้ำ ประกอบด้วยโครงสร้าง ได้แก่ เขื่อนแม่น้ำยวม ถังพักน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำ ฯลฯ จะส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมรุนแรง โดยเฉพาะเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม ที่จะทำลายระบบนิเวศแม่น้ำยวมและแม่น้ำเงา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีการรบกวนจากมนุษย์น้อยมาก
“แม่น้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความเปราะบางและมีคุณค่าเช่นนี้ ควรได้รับการอนุรักษ์มากกว่าการทำลาย” ชาวบ้านระบุในจดหมาย
นอกจากนี้ ชาวบ้านยังแสดงความกังวลต่ออุโมงค์ส่งน้ำที่ต้องเจาะทะลุป่าต้นน้ำชั้น 1 A ที่เป็นป่าสมบูรณ์บริเวณรอยต่อ 3 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก รวมทั้งเศษวัสดุที่เหลือจากการก่อสร้างในป่า
“ข้อสำคัญคือ เป็นที่ชัดเจนว่า โครงการผันน้ำ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน การให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการไม่ครอบคลุม และไม่เพียงพอ
“เอกสารโครงการบอกเพียงผลประโยชน์ของโครงการ แต่ไม่ระบุถึงผลกระทบด้านลบ ต่อผืนป่า ลำน้ำ สิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ปากท้องของประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ ตลอดจนประชาชนไทยผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติอันล้ำค่า
“นอกจากนี้การนำเสนอข้อมูลและเอกสารเผยแพร่ไม่ได้ใช้ภาษาท้องถิ่นของผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ทำให้ไม่อาจเข้าใจได้อย่างแท้จริง อันเป็นอุปสรรคในการแสดงความคิดเห็น” ชาวบ้านระบุในหนังสือ
นายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ชาวบ้านแม่ทะลุ อ.สบเมย กล่าวว่าตนได้เข้าร่วมเวทีหลายครั้ง ได้แสดงความกังวลว่า ผลกระทบจะมาก แต่การศึกษาไม่ครอบคลุม ลุ่มน้ำยวมมีหมู่บ้านตลอดลำน้ำจำนวนมาก แต่ไม่รวมในการศึกษา
นอกจากนี้การศึกษาวิถีชีวิตของชาวบ้าน ชาติพันธุ์ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับแม่น้ำยวมเป็นต้นน้ำชั้น 1เอ มีป่าที่สำคัญมาก หากมีโครงการ ผลกระทบที่ชาวบ้านจะต้องเผชิญจะมีมาก
นายสมชาย ตระกูลพัฒนาคีรี กำนันตำบลแม่สวด อ.สบเมย กล่าวว่า ผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ติดกับน้ำแม่เงา บ้านแม่เงา ห้วยม่วง มีชาวบ้านมาร้องเรียนว่า หากมีการก่อสร้างจริงจะกระทบต่อประชาชนอย่างมาก ป่าทั้งป่า ต้นไม้ทุกต้นชาวบ้านร่วมกันรักษาไว้ แต่โครงการจะกระทบต่อป่า ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ในตำบลแม่สวด ขอให้โครงการสำรวจให้รอบคอบ
หากเกิดผลกระทบจะให้ชาวบ้านไปอยู่ที่ไหน กำนันสมชายกล่าว