U ปรับ โลกเปลี่ยน “รักษ์โลกอย่างไรให้ไม่ตกเทรนด์”
มหาวิทยาลัยมหิดล ผนึก บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จัดโครงการ “U ปรับ โลกเปลี่ยน” เพื่อให้นักศึกษาได้ร่วมค้นหาคำตอบรักษ์โลก
ผศ.ดร.จงดี โตอิ้ม รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานเปิดงานฯ กล่าวว่า “CIRCULAR LIVING” คือ การหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ในระบบ 5 R ซึ่ง R ที่หนึ่ง คือ “Reduce” หรือการลดการใช้ R ที่สอง คือ “Reuse” หรือ การใช้ซ้ำ R ที่สาม คือ “Recycle” หรือการแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ R ที่สี่ คือ “Renewable” หรือการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน และ R ที่ห้า คือ “Refuse” หรือการปฏิเสธการใช้ โดยกิจกรรมนี้เสริมสร้างให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรต่างๆ รวมทั้งการใช้ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อรณรงค์ให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการสิ่งของเหลือใช้ให้กลายเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียน เกิดความความตระหนัก และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรด้วยความรับผิดชอบในชีวิตประจำวัน ซึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากโครงการ CIRCULAR LIVING ของ GC ซึ่งเป็นองค์กรต้นแบบ เพื่อร่วมรณรงค์ปกป้องและดูแลโลกของเราด้วยกัน
ในงานดังกล่าว CIRCULAR ICON “ท็อป” พิพัฒน์ และ “นุ่น” ศิรพันธ์ ได้มาบอกเล่าถึงไลฟ์สไตล์รักษ์โลกที่ไม่เหมือนใคร โดย “ท็อป” ได้มาเปิดตัวแอปพลิเคชัน “ECOLIFE” ที่พัฒนาขึ้นเพื่อรณรงค์การลด การรับ และการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยทำขึ้นมาเป็นเกมเพื่อตอบโจทย์ของคนรุ่นใหม่ ให้ผู้ที่ใช้บริการในร้านที่อยู่ในเครือข่าย ได้สแกนคิวอาร์โค้ดเมื่อไม่รับถุง โดยจะได้สะสมแต้มที่เป็นตัวการ์ตูนที่ออกแบบขึ้นกว่า 100 แบบ และได้รับสิทธิประโยชน์ หรือของรางวัลต่างๆ ด้วย ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จาก www.ecolifeapp.com
ปัจจุบันแอป “ECOLIFE” มียอดผู้ใช้เกือบ 40,000 ราย มีการวัดผลอย่างเป็นรูปธรรมแบบเรียลไทม์ ตลอดจนมีการแสดงจัดอันดับและแสดงสถิติการเข้าใช้ของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวจะบอกได้เลยว่าแต่ละมหาวิทยาลัยจริงจังกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน
ด้าน “นุ่น” ศิรพันธ์ ได้ให้แนวคิดเรื่องการนำขยะมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (upcycling) ซึ่งการที่ผลิตภัณฑ์ upcycling มีราคาขายแพงกว่าสินค้าที่ผลิตขึ้นมาใหม่ นอกจากมีต้นทุนจากความคิดสร้างสรรค์ที่ใส่ลงไปแล้ว ยังมีต้นทุนอย่างอื่นเกิดขึ้นด้วย นอกจากนี้ อยากให้ช่วยกันลดการใช้พลาสติก โดยใช้แต่เท่าที่จำเป็น และหันมาใช้ชีวิตแบบ CIRCULAR โดยพกถุงผ้า กระบอกน้ำ กล่องข้าว และใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ในส่วนของนักศึกษาที่ร่วมบอกเล่าถึงไลฟ์สไตล์รักษ์โลกได้อย่างน่าสนใจ ได้แก่ นายปกรณ์เกียรติ ศิลป์วิสุทธิ์ หรือ “ตังค์” ซึ่งกำลังศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีแนวคิดนำขยะจากเศษอาหาร เปลือกผัก ผลไม้ มาทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ และ นางสาวจีรพร ขุนเพชร์ หรือ“ทราย” นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ที่รวบรวมกล่องนมไปร่วมโครงการแปลงร่างกล่องนมให้กลายเป็นหลังคา เพื่อลดขยะในชีวิตประจำวัน
“การเริ่มต้นที่ดี คือ การเริ่มต้นที่ตัวเรา ขอให้เพียงเราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด หากเราเริ่มต้นที่จะทำ และเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เล็กๆ ที่เราสามารถทำได้ เราก็จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลและปกป้องโลกของเราได้ เพียงแค่เราเริ่มต้นปรับและเปลี่ยนก็เท่ากับว่าเราได้มีส่วนช่วยในการดูแลรักษาโลกนี้ และส่งต่อสิ่งที่ดีๆ ให้กับโลกของเรา แม้เราจะมีเพียงหนึ่งพลัง แต่ถ้าได้รวมกันหลายพลัง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้” ผศ.ดร.จงดี กล่าว