เตือน 7 กลุ่มเสี่ยง หลีกเลี่ยงบริโภคน้ำประปาเค็ม

เตือน 7 กลุ่มเสี่ยง หลีกเลี่ยงบริโภคน้ำประปาเค็ม

กปน. เตือน 7 กลุ่มเสี่ยง หลีกเลี่ยงบริโภคน้ำประปาเค็ม ย้ำหากใช้น้ำประปาเพื่อปรุงอาหาร ควรลดการเติมเครื่องปรุงรสให้น้อยลง

นายปริญญา ยมะสมิต ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดภาวะภัยแล้ง และน้ำในเขื่อนมีน้อย ไม่เพียงพอที่จะปล่อยมาผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งที่ผ่านมา กปน.ได้หลีกเลี่ยงการสูบน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาในช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนสูง อีกทั้งประสานความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำกับสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกรมชลประทานมาโดยตลอด แต่เนื่องจากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในปีนี้ มีความรุนแรงสูงสุดในรอบ 50 ปี จึงยังคงมีความเค็มผ่านเข้ามาในระบบ ประกอบกับระบบผลิตน้ำของ กปน.ไม่สามารถกำจัดความเค็มออกจากน้ำดิบได้ จึงส่งผลให้รสชาติของน้ำประปาในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเปลี่ยนไปสามารถรับรู้ถึงรสชาติกร่อยเล็กน้อยในบางช่วงเวลา ซึ่งความเค็มในรูปคลอไรด์เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร มีปริมาณสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่มีผลต่อความน่าดื่มและการยอมรับ ของผู้บริโภค ทั้งนี้ กปน. ขอยืนยันในภารกิจที่ต้องผลิตน้ำประปาเพื่อให้บริการประชาชน ทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง
 
กปน. ขอแนะนำแนวทางการใช้น้ำประปาในช่วงภัยแล้งสำหรับประชาชน ตามคำแนะนำ ของกรมอนามัย ดังนี้
· ผู้ที่มีสุขภาพปกติ สามารถบริโภคน้ำประปาได้ โดยยังไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ด้วยรสชาติ ที่เปลี่ยนไปอาจส่งผลต่อความน่าดื่ม ทั้งนี้ ความเค็มในรูปของโซเดียมในน้ำประปา ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณโซเดียมในอาหารทั่วไปที่บริโภคในชีวิตประจำวัน
· การใช้น้ำประปาเพื่อปรุงอาหารในช่วงเวลานี้ ควรลดการเติมเครื่องปรุงรสให้น้อยลง
· กลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันสูง โรคเบาหวาน
โรคทางสมอง ผู้สูงอายุ และ เด็กเล็ก
 
โดย กปน. จะจัดให้บริการน้ำประปาดื่มได้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในกรณีดังกล่าว ซึ่งเป็นน้ำประปาจากโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ที่รับน้ำจากเขื่อนแม่กลองและไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเค็ม สามารถนำภาชนะมารับน้ำประปาดื่มได้ที่สำนักงานประปาสาขาใกล้บ้านท่านทั้ง 18 สาขา เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 6 มกราคม 2563 เป็นต้นไปโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
 
อนึ่ง สถานการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นต่อเนื่องจนกว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝน หรือประมาณ เดือนพฤษภาคม 2563 ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลคุณภาพน้ำประปาออนไลน์ด้วยตนเอง ทาง http://twqonline.mwa.co.th หรือแอปพลิเคชัน MWA onMobile หรือสอบถาม MWA call center โทร. 1125 รวมทั้ง เพจ Facebook และ Line@ ในชื่อ @MWAthailand ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยความห่วงใยจากการประปานครหลวง

157806100842

รมว.เกษตรฯ​ สั่งทำฝนหลวงช่วยบรรเทาภัยแล้ง

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า สั่งการให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด โดยแผนการจัดสรรน้ำทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 - 30 เมษายน 2563 มีน้ำจัดสรรให้ 17,699 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น อุปโภค-บริโภค 2,300 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 7,006 ล้าน ลบ.ม. สำรองน้ำต้นฤดูฝนปี 2563 (พ.ค.-ก.ค. 63) รวม 10,540 ล้านลูกบาศก์เมตร เกษตรฤดูแล้งปี 2562/63 7,874 ล้าน ลบ.ม. และอุตสาหกรรม 519 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรรับทราบ สถานการณ์น้ำต้นทุน แนวทางการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติมาเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย ทดแทนการทำนาปรังซึ่งจะกำหนดชนิดพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 22 จังหวัด ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งมีน้ำเพียงพอเฉพาะการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ และเลี้ยงพืชต่อเนื่อง


ทั้งนี้ยังให้กรมชลประทานขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานขนาด 1,260 ลบ.ม.ให้เกษตรกรที่ขอรับการสนับสนุนทั่วประเทศ 40,000 บ่อ เพื่อกักเก็บน้ำ บรรเทาและชะลอความแห้งแล้ง เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดินในฤดูฝนทิ้งช่วงหรือฤดูแล้งในระดับไร่นา ให้เกษตรกรสามารถมีน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง สำหรับปลูกพืชผักแบบผสมผสานเลี้ยงปลาและตกกล้าเตรียมสำหรับทำนาในฤดูเพาะปลูกซึ่งเป็นการทำการเกษตรแบบใช้น้ำน้อย


นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า ในปี 2563 มีแผนก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กและแก้มลิงรวม 421 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการจะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1,232,121 ไร่และเพิ่มปริมาตรเก็บกัก 942.00 ล้าน ลบ.ม. ส่วนโครงการที่ดำเนินการมาก่อนนี้ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2563 จะได้พื้นที่ชลประทาน 176,968 ไร่ และปริมาตรน้ำเก็บกัก 199.54 ล้าน ลบ.ม. จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ปัจจุบันสภาพฝนมีความผันแปรสูงมาก ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำท่าและน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2562 ในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ ใช้น้ำเกินแผนที่ได้จัดสรรไว้ทำให้เกิดปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็ม ส่งผลต่อระบบนิเวศและคุณภาพน้ำด้านการเกษตรกรรม – อุปโภคบริโภค จึงมีแผนการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างในฤดูแล้ง ปี 2562/2563 จำนวน 850 ล้าน ลบ.ม. สำหรับในอนาคตจะพิจารณาผันน้ำมาสนับสนุนลุ่มน้ำเจ้าพระยา

นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า ได้สั่งการกรมฝนหลวงและการบินเกษตรปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพืช ป่าไม้ และเพิ่มน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ โดยมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ และจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วเพื่อติดตาม เฝ้าระวังสภาพอากาศ และสามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้เมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวยในการช่วยเหลือพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เกษตรกรรม การเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งการบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า และจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 - 13 หน่วยปฏิบัติการเพื่อปฏิบัติการฝนหลวงให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลักในพื้นที่ 77 จังหวัด ซึ่งจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 230 ล้านไร่

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกรที่ไม่สามารถทำการเกษตรในฤดูแล้งได้ กรมชลประทานมีแผนปฏิบัติการการจ้างแรงงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (งบลงทุน) สำหรับงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน ก่อสร้างแหล่งน้ำระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำและโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ ซึ่งดำเนินการจ้างแรงงานทั่วทุกภาคของประเทศ วงเงินประมาณ 3,100 ล้านบาท สามารถจ้างแรงงานได้ไม่น้อยกว่า 41,000 คน ระยะเวลา 3-7 เดือน เกษตรกรจะได้ค่าจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 24,000-58,000 บาท /คน ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานที่ดำเนินการซึ่งเป็นมาตรการสนับสนุนช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาระยะสั้นในฤดูแล้งนี้////