“เฮลท์ตี้บอท" หุ่นยนต์อัจฉริยะ ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงโควิด-19
จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 หรือ โควิด -19 ซึ่งมียอดผู้ป่วยสะสม ณ วันที่ 17 ก.พ. อยู่ที่ 35 ราย รักษาหาย 15 ราย เหลือรักษาในโรงพยาบาล 20 ราย และพบว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 1 รายเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา
จากสถานการณ์และความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ทำให้หลายโรงพยาบาลเพิ่มความเข้มข้นและนำนวัตกรรมมาใช้เพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากร
ล่าสุด โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้นำนวัตกรรมทางการแพทย์มาประยุกต์ใช้กับแนวทางการดูแล และให้บริการผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโดยลดการติดต่อสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง ด้วย “หุ่นยนต์เฮลท์ตี้บอท” ซึ่งจะทำหน้าที่ให้บริการผู้ป่วยแทนบุคลากรโรงพยาบาล ในการส่งยาเวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม รวมถึงสิ่งของอื่นๆ ให้กับผู้ป่วยในพื้นที่คัดแยก และควบคุมการติดเชื้อ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในสภาวะที่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว
แพทย์หญิงสมจินตนา เอี่ยมสรรพางค์ ผู้อำนวยการแผนกฉุกเฉินกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดตัว “เฮลท์ตี้บอท” หุ่นยนต์อัจฉริยะ ลดการติดเชื้อโรคระบาดภายในโรงพยาบาล ณ โรงพยาบาลกรุงเทพ ว่า หุ่นยนต์เฮลท์ตี้บอท เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สิ่งสำคัญ คือ ลดการสัมผัส ไม่ว่าจะบุคลากร ญาติผู้ป่วย และตัวผู้ป่วยเอง
"โดยหุ่นยนต์จะมาทำหน้าที่ส่งยา ส่งอาหาร สื่อสารระหว่างญาติ เภสัชกรสามารถอธิบายการใช้ยากับผู้ป่วยผ่านหุ่นยนต์โดยตรง นวัตกรรมตรงนี้มีการนำเอาอุปกรณ์สื่อสารเข้ามาเพิ่ม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยและบุคลากร นอกจากนี้ ยังมีล่ามภาษาต่างประเทศซึ่งทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ สำหรับการสื่อสารกับผู้ป่วยต่างชาติโดยเฉพาะภาษาจีนตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย"
สำหรับ “หุ่นยนต์เฮลท์ตี้บอท” เริ่มใช้งานเมื่อปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีทั้งหมด 3 ตัว ได้รับการพัฒนาต่อยอดโดย โรงพยาบาลกรุงเทพ และ บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ (เอ็นเฮลท์) จากหุ่นยนต์ 2 ตัวแรก ที่ใช้เทคโนโลยีเดิมซึ่งทำหน้าที่ในการขนส่งยาให้แผนกต่างๆ ในโรงพยาบาล รวมถึงพื้นที่เสี่ยงที่มีสารรังสี ในโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ
พัฒนามาสู่ตัวที่ 3 ซึ่งใช้ในผู้ป่วยคัดกรองโควิด - 19 มีระบบเทเลเมดิซีน เพิ่มความสามารถในการสื่อสารกับผู้ป่วยด้วยโปรแกรมสื่อสารพูดคุยผ่านจอมอนิเตอร์ ที่ติดตั้งไว้บนตัวหุ่นยนต์ ซึ่งถูกควบคุมด้วยเครือข่ายสัญญานอินเทอร์เน็ต ช่วยให้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนญาติของผู้ป่วย ได้ติดต่อสื่อสาร ผ่านจอมอนิเตอร์ คลายกังวล และเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ป่วยอุ่นใจตลอดการรักษา
- คลายกังวลบุคลากร
พรพิมล เหล่างาม ผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเกิดโรคระบาดเกิดขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึง คนส่งอาหาร และล่ามก็มีภาวะกังวล หากต้องใส่ชุดป้องกันก็อาจจะใส่ไม่ถนัดเหมือนพยาบาล รวมถึง ผู้ป่วยเวลารอผลต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยอาจจะหิว หรืออยากจะคุยกับใคร เกิดความกลัว ดังนั้น การใช้หุ่นยนต์จะลดความกังวล และทำให้บุคลากรมีความสุขมากขึ้น
ด้าน นายแพทย์นิวัติ อินทรวิเชียร รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่าเนื่องจาก โรงพยาบาลกรุงเทพ มีผู้ป่วยต่างชาติมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก และมีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่มีความเสี่ยงในการระบาดของโรคดังนั้น การนำหุ่นยนต์ที่เป็นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า มาผสานกับความรู้ความสามารถทางการแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทุกท่าน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และลดการแพร่กระจายของโรคในพื้นที่โรงพยาบาลและพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย ดังนั้น หากมีการพัฒนาหุ่นยนต์ต่อไปเรื่อยๆ ในรุ่นต่อๆ ไปจะสามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น
- จัดพื้นที่คัดกรองป้องกันระบาด
สำหรับสถานการณ์ผู้ที่มาตรวจคัดกรองโควิด -19 ตั้งแต่ช่วงระบาดใหม่ๆ มีจำนวนมากพอสมควร ทั้งชาวจีน คนที่สัมผัสกับผู้ป่วยชาวจีน รวมถึงคนไทย จึงจัดให้มีพื้นที่ห้องแยกจากผู้ป่วยทั่วไป โดยเป็นห้องแอร์แยกส่วนจากแอร์ส่วนรวมป้องกันอากาศไหลเวียน ช่องทางเดินต่อจากห้องฉุกเฉินมาถึงห้องคัดกรองสามารถเดินออกนอกอาคารได้ ทุกจุดลงทะเบียน มีการคัดกรองผู้ป่วยทุกราย โดยสอบถามประวัติการเดินทาง อาการไข้และอาการทางระบบทางเดินหายใจ เพื่อนำส่งผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงไปยังพื้นที่บริการที่จัดไว้
โดยเจ้าหน้าที่จะทำการวัดอุณภูมิร่างกาย และตรวจประเมินตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค กรณีผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามข้อบ่งชี้ จะต้องส่งตรวจหาเชื้อไวรัสจากสารคัดหลั่ง โดยผู้ป่วยจะได้รับการดูแลระหว่างรอผลตรวจในพื้นที่คัดแยก รวมถึงเตรียมห้องความดันลบ สำหรับรองรับคนไข้กลุ่มนี้โดยเฉพาะ โดยทำงานร่วมกับกรมควบคุมโรค หมุนเวียนผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงไปที่สถาบันบำราศนราดูร และ โรงพยาบาลราชวิถี
นายแพทย์นิวัติ กล่าวต่อไปว่า หากดูผู้ป่วยในประเทศไทยอัตราการป่วยไม่ได้สูงมาก ความรุนแรงของโรคก็ไม่ได้สูงเท่าประเทศจีน เนื่องจากร่างกายผู้ป่วยส่วนใหญ่แข็งแรง และการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขที่ทำงานมีประสิทธิภาพ ขณะที่ประเทศจีนผู้ป่วยเขาเยอะ อากาศเขาเย็นกว่าทำให้ดูแลรักษายาก”
“ดังนั้น คำแนะนำทั่วไปคือ การรักษาสุขอนามัยตามที่กระทรวงสาธารณสุขบอก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ทานผักผลไม้เพิ่มขึ้น ล้างมือบ่อยๆ พกพาแอลกอฮอลล์เจล หากไม่มีให้ใช้สบู่ล้างมือธรรมดาก็ได้ เพียงแค่ล้างบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่ผู้คนแออัด ใครที่ป่วยก็ต้องใส่หน้ากากอนามัยป้องกันไม่ให้ไอจามรบกวนคนอื่น ออกกำลังกายเล่นกีฬาให้ร่างกายแข็งแรง” นายแพทย์นิวัติ กล่าวทิ้งท้าย