รู้มั้ยมีตรวจโควิด-19 ทีตรวจได้มากกว่าปัจจุบันถึง 5 เท่า
แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของประเทศไทยในแต่ละวันจะลดน้อยลงเหลือเพียงหลักสิบเท่านั้น แต่คนไทยก็ยังมีคำถามว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบน้อยลง เนื่องด้วยเหตุใด?เกิดจากการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้ครอบคลุมในวงกว้าง หรือเป็นเพราะมาตรการของรัฐกันแน่
ด้วยข้อจำกัดของการตรวจที่ต้องใช้เครื่องมือราคาสูงที่มีเฉพาะในห้องปฏิบัติการบางแห่ง คือเครื่อง Polymerase chain reaction (PCR) และน้ำยาตรวจที่มีจำกัด ทำให้ไม่สามารถตรวจทุกคนที่ต้องการตรวจในประเทศไทยได้ ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อให้การควบคุมโรคมีประสิทธิภาพสูงสุด กระทรวงสาธารณสุขจึงจำเป็นต้องทุ่มตรวจเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อเดิมหรือผู้ที่มีอาการชัดเจนเท่านั้น
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เห็นข้อจำกัดดังกล่าว ได้เสนอให้ปรับขั้นตอนการตรวจโดยใช้เทคนิคการตรวจแบบรวมกลุ่ม (Pooled Sample Testing) เพื่อเพิ่มความสามารถในการตรวจแบบก้าวกระโดด ซึ่งจะช่วยให้มีความสามารถในการตรวจเพียงพอที่จะขยายวงมาตรวจประชาชนทั่วไปได้มากขึ้น
ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการนำเสนอวิธีการตรวจแบบรวมกลุ่ม ว่า การตรวจโควิด-19 ในประเทศนั้น มีผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย 3 กลุ่ม คือ 1. กรมควบคุมโรค ผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้ว และแพทย์ที่เกี่ยวข้อง 2. กลุ่มผู้บริหาร ซึ่งคุมนโยบายของประเทศ และ 3.ประชาชนทั่วไปที่ติดตามสถานการณ์
การตรวจคัดกรองในปัจจุบันนี้ ได้ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ของกลุ่มที่ 1 คือ การควบคุมโรคจากจุดระบาดที่ทราบแล้ว และการตรวจเพื่อรักษากลุ่มเสี่ยง เท่านั้น กลุ่มผู้ได้รับการตรวจจึงเป็นกลุ่มที่เฉพาะมากๆ ประเทศไทยยังไม่มีการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประชากรทั่วไป
ดังนั้น สถิติข้อมูลที่ตรวจได้ในปัจจุบัน จึงไม่สามารถนำมาแปลหรือคำนวณย้อนกลับมาได้ว่าปัจจุบันมีการแพร่ระบาดอยู่ในกลุ่มประชากรทั่วไปหรือไม่ ถ้ามีมีมากหรือน้อยเพียงใด ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ตรวจพบและรายงานทุกวันนี้ ไม่ใช่ดัชนีชี้การระบาดในวงกว้างที่แท้จริง จึงไม่เป็นการตอบโจทย์คนกลุ่มที่ 2 และ ที่ 3 แต่อย่างใด
“เมื่อวิธีการตรวจดังกล่าวใช้เฉพาะคนกลุ่มหนึ่งเพื่อไม่ให้เกิดการระบาด แต่ไม่ได้สุ่มตรวจคนทั้งประเทศ และโรคโควิด-19 บางคนเป็นแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการ ฉะนั้น ไม่มีใครทราบได้เลยว่าคนที่เราเดินผ่านไปผ่านมาเป็นโควิด-19 หรือไม่ ใครติดเชื้อบ้าง ข้อมูลตัวเลขผู้ติดเชื้อที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศอยู่ในแต่ละวันเป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงเพียงส่วนหนึ่งจากคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่สถิติจากคนไทยในวงกว้าง” ศ.ดร.ชูกิจ กล่าว
นอกจากนั้น เมื่อประชาชนเห็นข้อมูลของ สธ. ว่าพบคนไทยติดโควิด-19 เพิ่มวันละเพียงหลักสิบคน โดยที่ไม่ทราบว่ามาจากการตรวจกี่คน ทุกคนก็เกิดความสบายใจอย่างผิดๆ ซึ่ง อาจนำไปสู่ความหละหลวม ไม่ระมัดระวังตัว และ บางกลุ่มเริ่มเรียกร้องให้มีการเลิก Lockdown
การที่ประเทศจะสามารถออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลการระบาดในกลุ่มประชากรทั่วไปที่แม่นยำว่ามีประชากรติดเชื้อแล้วกี่เปอร์เซ็นต์มีความสำคัญมาก ศ.ดร.ชูกิจ กล่าวต่อว่า การสุ่มตรวจประชาชนในจำนวนที่มากเพียงพอ จะทำให้ทราบข้อมูลดังกล่าว จะช่วยให้ผู้บริหารประเทศทราบถึงผลการดำเนินการนโยบายต่างๆ ว่าช่วยลดผู้ติดเชื้อได้เพียงใด ประชาชนทั่วไปก็ได้จะทราบถึงผลของการปฏิบัติเคร่งครัดทำหน้าที่ของตนว่าส่งผลดีต่อการควบคุมเพียงไร
เมื่อ สสวท. เห็นถึงความสำคัญในการที่ประเทศจะต้องขยายวงการตรวจมายังประชาชนทั่วไป สสวท. จึงได้นำเสนอเทคนิคการตรวจแบบรวมกลุ่ม (Pooled Sample Testing) โดยใช้การคำนวณทางคณิตศาสตร์ช่วย พบว่า เทคนิคง่ายๆ นี้จะช่วยให้สามารถตรวจคนได้มากกว่าเดิมประมาณ 5 เท่า ซึ่งจะทำให้สามารถขยายวงการตรวจไปสุ่มตรวจประชากรทั่วไปได้ โดยการตรวจใช้ทรัพยากรและงบประมาณแทบไม่เพิ่มขึ้น ยังคงมีประสิทธิภาพ และผลที่ได้มีความแม่นยำแทบไม่แตกต่างจากเดิม
“เทคนิคที่เสนอนี้ เป็นการตรวจแบบรวมกลุ่ม โดยแบ่งตัวอย่างที่จะตรวจออกเป็นกลุ่มๆ เมื่อแบ่งกลุ่มแล้วก็นำสารคัดหลั่งตัวอย่างในกลุ่มนั้นมารวมกัน และตรวจครั้งเดียว หากตรวจผลเป็นลบก็แสดงว่าทั้งกลุ่มไม่มีผู้ใดติดเชื้อ หากเป็นบวกค่อยตรวจตัวอย่างในกลุ่มนั้นรายคน ก็จะได้ผู้ติดเชื้อ วิธีนี้จะช่วยให้ตรวจคนได้มากขึ้น ดีกว่าการต้องเสียชุดตรวจตรวจทีละคน” ศ.ดร.ชูกิจ กล่าว
ตัวอย่างเช่น สมมุติว่า ใน 100 คน ที่มาตรวจมีอยู่ 1 คนที่ติดเชื้อ หากเราแบ่งเป็นกลุ่มละ 10 คน จะได้ 10 กลุ่ม แล้วเอาสารคัดหลั่งของคน 10 คนใน 1 กลุ่มมารวมกันและตรวจทีละกลุ่ม จะใช้การตรวจเพียง 1 ชุด ต่อกลุ่ม ดังนั้น ขั้นแรกนี้จะใช้ชุดตรวจเพียง 10 ชุด และ จะพบว่ามี 1 กลุ่ม ที่ได้ผลเป็นบวก คือกลุ่มที่มีผู้ติดเชื้อคนนั้นอยู่
ในขั้นตอนที่สองก็นำ สารคัดหลั่งของกลุ่มที่พบผู้ติดเชื้อทั้ง 10 คน มาตรวจรายบุคคล ก็จะใช้ชุดตรวจอีก 10 ชุด และจะพบผู้ติดเชื้อ 1 คนนั้นได้ผลเป็นบวกอยู่คนเดียว ในสองขั้นนี้ ใช้ชุดตรวจรวมเพียง 20 ชุด ดีกว่าตรวจรายบุคคล ที่ต้องทำให้ใช้ชุดตรวจไปถึง 100 ชุด เป็นต้น
จากตัวอย่างนี้ จะเห็นว่าเพิ่มจำนวนที่ตรวจได้ถึง 5 เท่า และ ถ้ามีเปอร์เซ็นต์ผู้ติดเชื้อจำนวนน้อยกว่านี้ประสิทธิภาพของเทคนิคนี้ก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก อย่างไรก็ดี หากในจำนวนตัวอย่างที่นำมาตรวจนั้นมีเปอร์เซ็นต์ที่คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อสูงที่สูงขึ้น (เช่น 3-10 คนใน 100 คน) การคำนวณทางคณิตศาสตร์ชี้ว่าให้รวมกลุ่มที่เล็กลง และประสิทธิภาพก็จะลดลง แต่ก็ยังคงดีกว่าการตรวจทีละคน
ผอ.สสวท. กล่าวต่อไปว่าเทคนิคการรวมตัวอย่างทดสอบนี้ สามารถเพิ่มจำนวนผู้ได้รับการตรวจได้ถึง 5 เท่าเทียบกับวิธีเดิม โดยใช้ อุปกรณ์ สารเคมี เวลา และงบประมาณ แทบไม่แตกต่างจากเดิม โดยยังคงความแม่นยำในการตรวจวัด ซึ่งหากนำความสามารถที่ตรวจได้เพิ่มมากขึ้นนี้ ไปตรวจแบบสุ่มในวงกว้าง จะทำให้รัฐบาลมีข้อมูลตามข้อเท็จจริง อันนำไปสู่กระบวนการตัดสินใจ ดำเนินการทางนโยบาย มาตรการต่างๆ ที่จะมาดูแลประชาชน ประเทศได้ดีขึ้น และอาจจะลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนจากมาตรการเคอร์ฟิวได้
สำหรับรายละเอียดการใช้เทคนิคการรวมกลุ่มตรวจนี้ สสวท. ได้นำการคำนวณทางคณิตศาสตร์มาคำนวณโดยละเอียดทำให้ทราบถึงขนาดของกลุ่มที่เหมาะสมที่สุดที่ควรใช้ กล่าวโดยสรุป คือ ได้เสนอว่า ในกรณีที่คาดว่าจะตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวน 2% หรือน้อยกว่า ให้รวมกลุ่ม 10 ตัวอย่างต่อกลุ่ม และ หากคาดว่าจะตรวจพบผู้ติดเชื้อประมาณ 3-10% ให้รวมกลุ่ม 4 ตัวอย่างต่อกลุ่ม
สำหรับเทคนิคการรวมกลุ่มตรวจนี้ ทางการแพทย์ได้มีการใช้กับการตรวจหาเชื้ออยู่แล้ว แต่มักใช้ในกรณีที่มีโอกาสพบการติดเชื้อต่ำมากๆ เช่น การตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบในเลือดบริจาค เป็นต้น
ภายหลังจากที่ สสวท. เสนอให้ใช้ เทคนิคการรวมกลุ่มตรวจเพื่อตรวจเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย เพียงไม่นาน พบว่า มีผลงานตีพิมพ์โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Stanford ก็ได้เสนอให้ใช้เทคนิคการรวมกลุ่มตรวจโควิด-19 พร้อมรายงานผลการทดลองใช้จริง ณ เมืองซานฟรานซิสโก กว่า 2000 คนว่า ได้ผลแม่นยำ
นอกจากนั้น ประเทศ เยอรมนี ออสเตรีย และอิสราเอล ก็กำลังจะนำเทคนิคนี้มาใช้คัดกรองผู้ป่วย ดังนั้น สสวท.เสนอในส่วนของหลักการและวิธีการที่จะใช้ พร้อมทั้งมีผลงานวิจัยต่างประเทศรองรับ ส่วนทางเทคนิค การนำไปปฏิบัติคงต้องเป็นไปตามกระบวนการของกระทรวงสาธารณสุข ในเบื้องต้นนี้ ได้รายงานไปยังรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา ที่กำกับดูแล สสวท. (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) เพื่อประสานกับกระทรวงสาธารณสุข และผู้เกี่ยวข้องต่อไปแล้ว
“สถิติข้อมูลผู้ติดเชื้อที่เชื่อถือได้ จะเป็นดัชนีสำคัญในการตัดสินใจของรัฐบาล ว่าผู้คนจะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เมื่อใด และ เมื่อมีการผ่อนคลายหรือทดลองผ่อนคลายมาตรการต่างๆ สถิตินี้ก็จะเป็นดัชนีที่สำคัญที่จะบอกถึงผลของการปรับเปลี่ยนนั้นๆ และเป็นเครื่องตัดสินใจของผู้คุมนโยบายในการดำเนินการต่อไป” ผอ.สสวท. กล่าวทิ้งท้าย
ในขณะนี้ เมื่อยังไม่มีการสุ่มเก็บสถิตินี้ ก็ยังเชื่อไม่ได้ว่าเราควบคุมการแพร่ระบาด ได้อย่างแท้จริง เราทุกคนก็ยังคงต้องต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 แบบตาบอด ตาบอดเพราะไม่รู้เลยว่าคนรอบตัวเราใครติดเชื้อบ้าง ไม่รู้แม้แต่ว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่รอบตัวเรามากน้อยเพียงไร
ดังนั้น ในนาทีนี้ เมื่อไม่รู้ เราคงเพียงทำได้แต่หลับหูหลับตาทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ระวังตัวสุดชีวิต เราต้องถือว่าทุกคนที่เราพบอาจจะเป็นผู้ติดเชื้อ ต้อง Social Distancing ต้องสวมหน้าการอนามัย ต้องล้างมือบ่อย ไม่ออกนอกบ้านถ้าไม่จำเป็น ทั้งนี้เพราะ บทเรียนที่ต่างประเทศชัดเจนมากว่า หากเราการ์ดตก ปล่อยให้ไวรัสเริ่มตีตื้นมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเมื่อไร การเพิ่มขึ้นจะเพิ่มอย่างรวดเร็วจนกลับมาควบคุมไม่ทัน ต้องสามัคคี ร่วมมือ ร่วมใจ ทำหน้าที่กันอย่างเต็มที่ทุกคนเท่านั้น เราจึงจะรอดจากวิกฤตครั้งนี้ด้วยกัน