การแก้ปัญหาขยะที่ยั่งยืนคือ 'ไม่ต้องมีถังขยะ'
ที่ไหนมีถังขยะที่นั่นก็จะมีคนเอาขยะมาทิ้ง คำถามคือว่าถ้าไม่ต้องการให้มีขยะเลย ก็ไม่ต้องมีถังขยะให้ทิ้ง จะแก้ปัญหาขยะได้หรือไม่
สมมติฐานนี้เป็นจริงแล้วที่เมื่อปี 2558 ที่โรงเรียนอนุบาลทับสะแก อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรขันธ์ เมื่อ “ครูต้อ- สุดารัตน์ สังข์ฤทธิ์” นำแนวคิด “โรงเรียนไร้ถังขยะ”ไปใช้รณรงค์ให้แยกขยะทุกชนิดก่อนนำไปกำจัด กระทั่งสามารถลดขยะจากเดิอนละ 15 ตันเหลือเพียงเดือนละ 2 กิโลกรัม
ขยะในโรงเรียนแต่ละวันมีจำนวนไม่น้อย ยิ่งโรงเรียนขนาดใหญ่ก็จะมีปริมาณมากขึ้นตามไปด้วย การรณรงค์ให้เด็กอนุบาล 2 จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 580 คนซึมซับการแยกขยะทุกชนิดก่อนจะนำไปกำจัดจนกลายเป็นนิสัย จนนำแนวคิดดังกล่าวกลับไปใช้ในบ้าน 5 ปีผ่านไป โรงเรียนแห่งนี้ได้รางวัลลูกโลกสีเขียว ชายหาดทับสะแกสะอาดไม่มีขยะ ถุงพลาสติกจนนักท่องเที่ยวทึ่ง
“ครูต้อ” สอนวิชาพละและสุขศึกษา แถมยังเป็นคนพื้นถิ่นและไม่มีครอบครัว จึงไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่ จะทุ่มเทสอดแทรกวิธีการคัดแยกขยะอย่างบูรณาการให้กับนักเรียนทุกระดับชั้นที่สอนอย่างกลมกลืน โดยไม่ต้องกำหนดเป็นรายวิชาบังคับ จนนักเรียนทุกคนซึมซับกลายเป็นนิสัย หลังจากเรียนจบชั้นสูงสุดแล้วไปเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น หลายคนกลายเป็นผู้นำชักชวนเพื่อนนักเรียนและครูโรงเรียนนั้นๆรณรงค์เกี่ยวกับการเก็บขยะต่อเนื่อง
"ขยะที่รีไซเคิลได้ก็แยกไว้ให้นักเรียนเอาไปขาย ขยะบางชนิดเช่น เศษอาหาร เศษเหลาดินสอ เศษไม้กวาด เอาไปทำปุ๋ยได้ก็มี ส่วนที่เป็นขยะพิษ พวกถ่าน แบตเตอรี ก็จะส่งให้เทศบาลนำไปกำจัดต่ออย่างถูกวิธี ทุกวันนี้โรงเรียนไม่มีถังขยะในโรงเรียนเลย เพราะถ้าช่วยกันแยกได้มากหมายความว่าพวกเขาก็จะมีกองทุนโรงเรียนไร้ถังสะสมไว้ทำกิจกรรมต่างๆได้มากนั่นเอง" ครูต้อกล่าว
ยกตัวอย่างเช่น พลาสติกแข็งอย่างปากกา ไม้บรรทัด แปรงสีฟัน ขายได้กิโลกรัมละ 4 บาท กระดาษขาวกิโลกรัมละ 4 บาท กระดาษสี 1 บาท ถุงนม 7 บาท (เมื่อก่อนเศรษฐกิจดี 14 บาท) ถึงพลาสติก 4 บาท กล่องนม 2 บาท ถ้าไม่ขายก็บริิจาคให้เพราะสามารถนำไปทำอักษรเบลล์ หรือโต๊ะ เก้าอี้ และผนัง ได้
ปัจจุบัน “ครูต้อ” ได้ส่งเสริมให้นักเรียนนำแนวคิด โรงเรียนไร้ถังขยะ ไปใช้ที่บ้าน เพื่อชักชวนให้ผู้ปกครองคัดแยกขยะ เพราะเชื่อว่าหากว่าแต่ละครอบครัวแยกขยะและนำไปขายได้แล้วก็จะทำให้บ้านหลังนั้นๆมีขยะเหลือทิ้งน้อยลง และเมื่อบ้านทุกหลังในชุมชนปฏิบัติเช่นเดียวกัน จะส่งผลให้ปริมาณขยะชุมชนนั้นๆน้อยลงตามไปด้วย หากทั้ง 18 โรงเรียนใน อ.ทับสะแก มีแนวคิดเดียวกัน ก็จะทำให้ “ทับสะแกไร้ถัง (ขยะ)”ได้ในที่สุด
ต่อมาปี 2562 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้นำรูปแบบโรงเรียนไร้ถังขยะ ของโรงเรียนอนุบาลทับสะแก ไปเป็นต้นแบบในโครงการ “ต้นกล้าไร้ถัง” พร้อมทั้งให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการและขยายผลอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นไปที่โรงเรียนภายใต้มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) จำนวน 392 โรงเรียน
โดยเริ่มจากปีการศึกษา 2563 จำนวนประมาณ 54 โรงเรียน ปีการศึกษา 2564 เพิ่มเป็น 100 โรงเรียน และปีการศึกษา 2565 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED จะดำเนินการจนครบ 392 โรงเรียน โดยให้แต่ละโรงเรียนนำไปดำเนินการในโรงเรียนของตัวเอง และสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพื่อช่วยลดปริมาณขยะทั้งในโรงเรียนและชุมชนใกล้เคียง
“จากประสบการณ์ที่ทำเรื่องขยะมา 5 ปีทำให้ได้คำตอบว่าการแก้ปัญหาขยะที่ดีสุด คือไม่ต้องมีถังขยะ และต้องปลูกจิตสำนึกให้คนในสังคมตระหนักว่าต้องคัดแยกขยะจนเป็นนิสัยก่อนนำไปกำจัด จะช่วยให้มีขยะเหลือกำจัดน้อยที่สุด ตั้งใจว่าจะทำงานเรื่องนี้ต่อไปโดยปีหน้า่หลังจากเกษียณแล้วจะลงไปช่วยชุมชนอ.ทับสะแกให้ปลอดขยะให้จงได้” ครูต้อ กล่าวอย่างมุ่งมั่น
อย่างไรก็ตามอาจไม่ใช่ทุกโรงเรียนที่จะลดขยะได้จาก 15 ตัน เหลือเพียง 2 กิโลกรัมในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพราะแต่ละโรงเรียนมีบริบทที่แตกต่างกัน "สุวิทย์ กิ่งแก้ว" ที่ปรึกษาอาวุโสคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แต่สิ่งที่ต้องการเห็น และต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดขึ้น คือการส่งต่อองค์ความรู้และทักษะในการจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดการลดปริมาณการก่อขยะตั้งแต่ต้นทาง พร้อมทั้งปลูกฝังจิตสำนึกในการลดขยะไปยังเยาวชน ซึ่งเป็นต้นกล้าแห่งอนาคต เพื่อให้เกิดความใส่ใจดูแลและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บรรเทาปัญหามลภาวะอย่างยั่งยืน
สำหรับ 54 โรงเรียนนำร่องในครั้งนี้ จะได้รับคู่มือการดำเนินการจัดการขยะแบบโครงการต้นกล้าไร้ถัง พร้อมสื่อการเรียนรู้ เพื่อจัดทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพื่อกลับไปใช้ดำเนินการต่อในโรงเรียนของตัวเอง ขณะเดียวกัน จะได้รับคำแนะนำ การติดตาม และประเมินผลอย่างใกล้ชิด จากทั้งโรงเรียนอนุบาลทับสะแก โรงเรียน Best Practice ภายใต้โครงการ CONNEXT ED ที่ริเริ่มโครงการนี้ ตลอดช่วงปีการศึกษา 2563
- จัดการขยะวิถีใหม่
โรงเรียนอนุบาลทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการลด ละ เลิก การใช้สิ่งที่สามารถกลายมาเป็นขยะ เช่น หลอด จาน กระดาษ แก้วน้ำแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยอาศัยการสร้างความร่วมมือกับพ่อค้าแม่ค้าในโรงเรียนยกเลิกการขายสินค้าที่จะสร้างขยะ การซื้อแก้วน้ำส่วนตัวให้นักเรียนเพื่อลดการใช้แก้วน้ำแบบครั้งเดียวทิ้ง
ขณะเดียวกัน ก็บ่มเพาะนักเรียนในโรงเรียนให้มีส่วนร่วมในการจัดการขยะในชีวิตประจำวันตั้งแต่ต้น พัฒนาและบูรณาการหลักสูตรให้เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะ นำสิ่งที่คนมองว่าเป็นขยะ มารียูส รีไซเคิล มาจัดการเป็นวัสดุอินทรีย์ สร้างรายได้กลับสู่โรงเรียนจากการจัดการขยะ
โดยมีซีพี ออลล์ สนับสนุนงบประมาณ พร้อมทั้งให้คำแนะนำ จนเกิดการพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพื่อมอบองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะให้แก่คนในชุมชน ส่งผลให้โครงการต้นกล้าไร้ถัง เป็นโครงการจัดการขยะวิถีใหม่ แตกต่างจากวิถีเดิมที่มุ่งเน้นการจัดการขยะแบบมีถัง เน้นเพียงการแยกขยะสำหรับถังสีต่างๆ เท่านั้น