สภาอุตฯ-ปตท.ลุ้นคิวแรกฉีด'Sinopharm' ราคาไม่เกิน 1 พันบาทต่อเข็ม
'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์’ กระจายวัคซีน 'Sinopharm' 1 ล้านโดส ราคาขายพร้อมประกันให้ สภาอุตฯ ซื้อ3 แสนโดส และบริษัท ปตท. ย้ำพิจารณาตามต้นทุนไม่ได้มุ่งหากำไร คาดราคาวัคซีน ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเข็ม
'Sinopharm' เป็นวัคซีนโควิด-19 รายที่ 5 ของไทยที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติขึ้นทะเบียนแบบใช้ในภาวะฉุกเฉิน โดยเป็นการนำเข้าจากบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ซึ่งวัคซีน 'Sinopharm' ผลิตขึ้นโดยสถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง (Beijing Institute of Biological Product Co.LTD) เป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการผลิต 'ชนิดเชื้อตาย' โดยการฉีดจะกำหนดให้ใช้ 2 เข็มในระยะห่างกัน 28 วัน โดยวัคซีนนี้ได้รับการรับรองให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลก (WHO EUL) แล้วเป็นลำดับที่ 6
วันนี้ (28 พ.ค.2564 ) 'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' ซึ่งจะนำวัคซีน 'Sinopharm'เข้าไทย ได้บูรณาการความร่วมมือแนวทางการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนโควิดทางเลือก 'Sinopharm' ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยมี ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่าการนำเข้าวัคซีน 'Sinopharm'เป็นการทำงานคู่ขนานกับทางกระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยในการจัดหาวัคซีน และกระจายวัคซีนไปสู่ประชาชนให้เร็วที่สุด เพื่อให้สังคมไทยกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้เร็วที่สุด
โดยวัคซีน'Sinopharm' 1 ล้านโดสที่จะนำเข้าในเดือนมิ.ย. นั้น จะเป็นวัคซีนคนละส่วนกับที่ให้บริการฉีดวัคซีนฟรีแก่ประชาชนในขณะนี้ เพราะวัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนทางเลือก เราต้องพิจารณาว่าจะไปช่วยสังคม ประเทศตรงจุดไหน หากมีกิจกรรมบางอย่าง องค์กร หน่วยงานบางอย่างที่ต้องการฉีด อาจจะไม่ใช่ภาคธุรกิจเพียงอย่างเดียว โรงเรียน หน่วยงานรัฐที่ต้องการฉีด ก็สามารถมาติดต่อขอซื้อเพื่อนำฉีด โดยการนำไปฉีดนั้นต้องมีสถานที่ถูกต้อง ผ่านการตรวจสอบ รู้ว่าจะไปฉีดที่ไหนให้แก่กลุ่มใด หรือต้องการให้ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไปฉีดก็สามารถทำได้
- 'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' ขาย 'Sinopharm' พร้อมประกัน ไม่หวังกำไร
“วัคซีนชนิดนี้จะมีการรวมราคาค่าประกันในการขายอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่ได้กำหนดราคาชัดเจน เพราะการพิจารณาต้องดูต้นทุน ราคาขนส่ง และราคาจัดเก็บ แต่ทั้งหมดจะไม่ได้เป็นการดำเนินการเพื่อหากำไร การนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม ไม่ได้เป็นการหากำไร ซึ่งขณะนี้มีหน่วยงานที่เข้ามาติดต่อแล้ว ได้แก่ สภาอุตสาหกรรม จำนวนซื้อ 3 แสนโดส และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ส่วนที่อื่นๆ กำลังพิจารณาอยู่สำหรับผู้ที่ฉีดนั้น จะมีการกำหนดราคาขายราคาเดียวกันทั่วประเทศ คาดว่าราคาของวัคซีนจะอยู่ราวๆ ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเข็ม”ศ.นพ.นิธิ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การที่ ‘ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์’ เลือกจาก 'Sinopharm'เพราะเป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก อีกทั้งได้รับการอนุมัติจากอย. ซึ่งทาง ‘ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์’ อยากให้ทุกคนได้ฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ที่สุด และมีความปลอดภัย ส่วนประสิทธิภาพของ 'Sinopharm' อยากให้ทุกคนมองว่าวัคซีนทุกตัวมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค อย่าไปเทียบวัคซีนว่าป้องกันได้กี่เปอร์เซ็นต์ แต่ขอให้มองว่าวัคซีนที่ผ่านการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลกและอย.ของประเทศไทยก็ควรฉีดวัคซีนโควิด-19
ศ.นพ.นิธิ กล่าวต่อว่าสำหรับแผนการกระจายและการฉีดวัคซีน 'Sinopharm'เมื่อเข้ามาในเดือนมิ.ย.เราก็จะสำรวจ สอบถามไปว่ามีกลุ่มไหนบ้างต้องการวัคซีนชนิดนี้ จะได้นำไปใช้ก่อน และถ้ามีหน่วยงานไหน องค์กรใดอยากนำไปใช้ก็สามารถขอซื้อจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ใด ซึ่ง 'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' จัดหาวัคซีนมาได้โดยใช้รายได้ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เอง ไม่ได้ร่วมซื้อกับใคร
ดังนั้น เมื่อวัคซีนนี้เป็นวัคซีนทางเลือก ไม่ได้ปนกับวัคซีนให้ฟรีของรัฐบาล การจัดทำแผนการในฉีดและการกระจายวัคซีน คงต้องพิจารณาตามความเดือนร้อน ความช่วยเหลือที่ประชาชนควรจะได้รับ และหลังจากฉีดวัคซีน 'Sinopharm' แล้วนั้น จะมีการติดตามข้อมูล ซึ่งในรพ.จุฬาภรณ์ และ'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์'ได้มีการเก็บข้อมูลทั้งในส่วนของภูมิคุ้มกัน และสามารถต้านเชื้อไวรัสที่อยู่ในชุมชนได้อย่างไรบ้าง มีการติดตามอย่างละเอียด
นอกจากนั้น ‘ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์’ เป็นสถาบันทางการแพทย์ และสถาบันวิจัย จะมีการศึกษาวิจัยและข้อมูล ของวัคซีนทั้งหมด เพื่อดูว่าวัคซีนชนิดไหน เหมาะสมกับการระบาดในอนาคตข้างหน้า และมีการทำงานส่งเสริมกับทางกระทรวงสาธารณสุข และมีการทำงานติดต่อกับต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม วัคซีนโควิด-19 จะเป็นเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่วัคซีนต้องมีมากกว่าคนป่วย และทุกคนจะต้องเข้าถึงวัคซีนโควิด-19
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' นำเข้า 'Sinopharm' 1 ล้านโดส มิ.ย.
'อย.' ขึ้นทะเบียนวัคซีน 'Sinopharm' แล้ว
'หมอนิธิ' แจง 5 ภารกิจ - เหตุผลนำเข้าซิโนฟาร์ม 'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์'
- 'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์'หน่วยงานรัฐนำเข้าวัคซีนทางเลือกได้
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขขอแสดงความยินดีกับทาง 'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์'ในการนำวัคซีนทางเลือก 'Sinopharm' มาให้แก่พี่น้องประชาชนชาวไทย ซึ่งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้เร่งฉีดวัคซีนให้แก่พี่น้องประชาชน และมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในการผลิตวัคซีน ในส่วนของสธ.สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของทูลกระหม่อมศ.ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระองค์ท่านมิได้เคยทรงทอดทิ้ง พสกนิกร และทรงพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ ในการที่จะทำให้ระบบสาธารณสุขของไทยมีความมั่นคง แข่งแกร่ง พระองค์ท่านได้พระราชทานเวชภัณฑ์ ทั้งยาเครื่องมือแทพย์ และพระราชดำรัสสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนการให้บริการสาธารณสุขแก่พี่น้องประชาชน
“กระทรวงสาธารรสุข และราชวิชาลัยจุฬาภรณ์ มีความร่วมมือในการทำงานด้วยกันมาตลอด ซึ่งการที่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติ มีความเป็นสถาบันทางการแพทย์สามารถติดต่อกับหน่วยงานใดเพื่อนำวัคซีนโควิดเข้ามาได้นั้น เป็นการช่วยประชาชนคนไทย และเสริมการทำงานของสธ.โดยรัฐบาลได้มีนโยบายชัดเจนในการบริหารจัดการวัคซีน และให้มีวัคซีนทางเลือกได้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นหน่วยงานรัฐที่สามารถเจรจาทำความตกลงกับผู้ที่ยื่นของจดทะเบียนวัคซีนทางเลือก ยี่ห้อ ซิโนฟาร์ม ได้ เป็นข่าวดีของประชาชน”นายอนุทิน กล่าว
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ได้อนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนของ'Sinopharm' ซึ่งการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 กับอย.จะมีส่วนสำคัญมาก เพราะนั่นหมายถึง วัคซีน 'Sinopharm'มีความปลอดภัย มีคุณภาพ และมีประสิทธิผลน่าเชื่อถือ ถึงได้ผ่านการขึ้นทะเบียนและนำไปใช้ได้ ส่วนเรื่องการขึ้นทะเบียนได้อย่างรวดเร็วนั้น เนื่องจากข้อมูล เอกสารวิจัยที่มีการจัดส่งมีความครบถ้วนเป็นข้อมูลเดียวกับที่ส่งให้องค์การอนามัยโลก ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกันให้เป็นวัคซีนลำดับที่ 5 แก่พี่น้องประชาชน
พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่าสำหรับการกระจายวัคซีน ในส่วนของหน่วยงานราชการ เช่น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น มีการติดต่อเข้ามาซื้อในเบื้องต้น เนื่องจากวัคซีนของรัฐบาลอาจจะยังเข้าไม่ถึง ในส่วนของรายละเอียดว่าราคา และการกระจายวัคซีนจะเป็นอย่างไร ต้องมีการหารืออีกครั้ง ฉะนั้น รายละเอียดการกระจายวัคซีนคงต้องรออีกครั้ง