"ศบค." ยังไม่อนุมัติ กทม. "แซนด์บ็อกซ์" ย้ำต้องเตรียมพร้อมรัดกุม
"ศบค." เผย รับทราบ แต่ไม่ถือเป็นการมติอนุมัติ กทม. "แซนด์บ็อกซ์" 15 ต.ค. จำเป็นต้องหารือ ตรวจสอบมาตรการ รอบคอบ รัดกุม และคงมาตรการการกักตัว 14 วัน ยังไม่เปลี่ยนแปลง
วันนี้ (17 ก.ย.64) ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวถึง ความชัดเจนเปิดพื้นที่นำร่องหลายจังหวัดและ กทม. ซึ่งจะเริ่มในเดือน ต.ค. โดยระบุว่า วานนี้ มีการรายงานโดยทาง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หารือร่วมกับ กทม. เสนอแผนจัดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว กทม. แซนด์บ็อกซ์ โดย ศบค. ชุดเล็ก รับทราบ ต้องเรียนว่ายังไม่ถือเป็นการมติอนุมัติ ในเรื่องของ กทม. แซนด์บ็อกซ์ 15 ต.ค. เพราะการเสนอแผนต้องทำเป็นขั้นตอน โดยพื้นที่มีการหารือร่วมกันในส่วนที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องเสนอผ่าน สธ. ให้มีการตรวจสอบมาตรการอย่างรอบคอบ ประณีต รัดกุม
เนื่องจาก กทม. เป็นพื้นที่ใหญ่ มีความหลากหลายในหลายพื้นที่ ต้องพิจารณาอย่างละเอียด เมื่อ สธ. พิจารณาแล้วจะมีการหารือ กับ ศบค. ชุดเล็ก และมีการนำเสนอผ่านอนุมัติโดย ศบค.ชุดใหญ่ โดยตรงนี้ การอนุมัติพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ต้องทำเป็นมาตรการเดียวกันในทุกๆ พื้นที่ โดยหลักๆ สธ. จะพิจารณาทั้งในแง่ของความพร้อมในพื้นที่ และมาตรการควบคุมโรค และหากมีการติดเชื้อ รายงานคลัสเตอร์ พื้นที่มีมาตรการรับมืออย่างไร จะต้องมีการประเมินตนเองของพื้นที่ หน่วยงาน สธ .และภาครัฐ เอกชน ที่เกี่ยวข้องด้วย กว่าจะกำหนดเป็นพื้นที่นำร่องได้ เช่น ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
"ในแง่ของการพบผู้ติดเชื้อ ไม่ได้หมายความว่า ถ้ามีผู้ติดเชื้อจะดำเนินการไม่ได้ อย่างที่ย้ำในตอนแรกว่า ระบบสาธารณสุขที่รองรับ ต้องมีความพร้อม อย่างที่ผ่านมา ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่สามารถดำเนินการอย่างดีเยี่ยม ส่วนหนึ่ง คือ การดึงทรัพยากรส่วนกลาง ทั้งการรักษา สอบสวนโรค ที่เข้าไปช่วยกันทำให้ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ดำเนินการได้ การจะทำ "แซนด์บ็อกซ์" ที่ใดก็ตาม จะต้องมีการหารืออย่างรอบคอบ" ผู้ช่วย โฆษก ศบค. กล่าว
- ยังไม่ยกเลิกมาตรการกักตัว 14 วัน
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อไปว่า เมื่อมีการพูดถึงการเปิดพื้นที่นำร่อง กทม. จะมีคำถามว่า การกักตัว 14 วัน จะยกเลิกไปหรือไม่ คงเป็นคำตอบเดียวกัน คือ ในมติของวันนี้ (17 ก.ย. 64) ยังคงมาตรการการกักตัว ที่ Alternative Quarantine (AQ) ตามมาตรการสาธารณสุข 14 วัน ยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่ในส่วนของ AQ จะเริ่มมีการทบทวนในการเปลี่ยนเป็นสถานที่พัก SHA+ แบบที่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ทำ คือ ให้บริการนักท่องเที่ยวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรที่ทำงานใน AQ ส่วนใหญ่ ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามมติของ ศบค. ชุดใหญ่ ในเรื่องของแซนด์บ็อกซ์ในกทม.และพื้นที่อื่นๆ ยังไม่ได้สรุปเป็นมติในวันนี้
"ขอให้ทุกคนยังคงมาตรการป้องกันตัวเองแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) เพราะแม้จะดูเหมือนว่าสถานการณ์จะมีผู้ติดเชื้อลดลง มีการเปิดกิจการกิจกรรมมากขึ้น แต่การป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ ต้องระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง"
- 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด
สำหรับรายละเอียด จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศรายใหม่ 17 ก.ย. 64 พบว่า จังหวัดที่มีการติดเชื้อสูงสุดยังคงเป็น กรุงเทพมหานคร 2,911 ราย ถัดมา ได้แก่ สมุทราปราการ ชลบุรี ระยอง ราชบุรี ยะลา สมุทรสาคร ปราจีนบุรี นครศรีธรรมราช และสระบุรี ตามลำดับ
- ภาพรวมการติดเชื้อยังทรงๆ
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อทั้งประเทศ พบว่า กทม.ปริมณฑล 5 จังหวัด สัดส่วน 37% และ ต่างจังหวัด 71 จังหวัด 63% ภาพรวมทิศทางเป็นไปในทางลดลง แต่ 1-2 สัปดาห์ ยังทรงๆ ยังอยากเห็นลดลงกว่านี้ และสิ่งสำคัญ หลายจังหวัดมีการปรับเตียง เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ศบค.ชุดเล็ก ขอเน้นย้ำว่า หากมีการลดเตียง ขอให้ยังคงเตียงระดับเหลือง แดง ไว้ เพราะมีความจำเป็นที่เราจะเตรียมสถานการณ์รองรับหากเกิดการเปลี่ยนแปลง
- ไทยฉีดวัคซีนแล้ว 43.3 ล้านโดส
จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. - 16 ก.ย. 2564) รวม 43,342,103 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 28,436,015 ราย
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 14,285,995 ราย
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 620,093 ราย
- 8 จังหวัด ที่ได้รับวัคซีนเกิน 50%
ความครอบคลุมของการได้รับ "วัคซีนโควิด-19" จังหวัดที่มีความครอบคลุมประชากรทั้งหมดมากกว่า 50% จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ กทม. ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ภูเก็ต และพังงา
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อไปว่า นโนบายของ ศบค. ในช่วง ต.ค. แผนต้องมีการฉีดครอบคลุมอย่างน้อย 50% ของประชากรทุกจังหวัด รวมถึงในจังหวัดที่ปัจจุบันฉีดประชากรเกิน 70% ไปแล้ว ขอให้เดินหน้าฉีดกลุ่ม 608 อย่างต่อเนื่องให้ได้มากที่สุด เมื่อกลุ่มเสี่ยงครบ ขอให้แต่ละจังหวัดพิจารณาฉีดเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยฉีดให้เกิน 70% อย่างน้อย 1 อำเภอ และมีต้นแบบ COVID-Free Area อย่างน้อย 1 พื้นที่ ซึ่งฉีดวัคซีนครอบคลุม 80%
- กระตุ้นเข็ม 3 กลุ่มฉีดซิโนแวค 2 เข็ม
ทั้งนี้ ในวันที่ 24 ก.ย. ซึ่งเป็นวันมหิดล กระทรวงสาธารณสุข มีการอนมัติให้ประชาชนที่ฉีด ครบซิโนแวค 2 เข็ม ระหว่างเดือนมี.ค. - พ.ค. เข้ารับกระตุ้นเข็ม 3 ตั้งแต่ วันที่ 24 ก.ย. เป็นต้นไป โดยได้รับข้อความแจ้งเตือนเพื่อรับกระตุ้นเข็ม 3 และทยอยฉีดต่อไป
- ภูเก็ต ศึกษาฉีดวัคซีนใต้ผิวหนัง
สำหรับ ภูเก็ต ซึ่งมีการฉีดครบ 2 เข็ม เกิน 70% โดยในการกระตุ้นเข็ม 3 จะเป็นการฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข้าใต้ผิวหนัง โดยที่ผ่านมา มีการศึกษาเทียบระหว่างการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ในภูเก็ต พบว่า ให้ภูมิคุ้มกันไม่แตกต่างกัน ทำให้วัคซีนเข็ม 3 ของผู้เก็ต จะเป็นการฉีดเข้าทางใต้ผิวหนัง 1 โดส ฉีดได้ 5 คน คนละ 0.1 มิลลิลิตร
- เดินหน้าฉีดวัคซีน 12-17 ปี
"ขณะที่การขยายกลุ่มฉีด 12-17 ปี กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รายงานว่า มีโรงเรียนหลายสังกัด ถือว่าเยาวชนทั้งหมดจะอยู่ในการดูแลของ ศธ. โดยรับเป็นเจ้าภาพในการดูแลฉีดกลุ่ม 12-17 ปี และมีการชี้แจง และส่งแบบสำรวจ ทั้งสถานศึกษาได้ทำการสำรวจชี้แจ้งไปยังผู้ปกครอง เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในบุตรหลาน และแสดงความจำนงค์มายังจังหวัด ขอให้สถานศึกษาติดตามนโยบาย ขณะที่กลุ่มอายุ 3 ขวบ สธ. โดย อย. ยังไม่รับรองต้องให้บริษัทยื่นเรื่องตามขั้นตอน เพราะต้องดูเรื่องความปลอดภัย" ผู้ช่วย โฆษก ศบค. กล่าว