หวั่นหลังโควิด-19 ประเทศกลับมาปกติส่งผลก๊าซเรือนกระจกเพิ่ม 20%

หวั่นหลังโควิด-19 ประเทศกลับมาปกติส่งผลก๊าซเรือนกระจกเพิ่ม 20%

รมว.ทส. หวั่นหลังโควิด-19 ประเทศกลับมาปกติส่งผลก๊าซเรือนกระจกเพิ่ม 20% เผยมติ(ร่าง) ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย เตรียมเสนอครม.เห็นชอบนำไปประกาศในงานประชุม COP 26 เดือนพ.ย.นี้

วันนี้ (11 ต.ค.2564)จากการประชุม Global Compact Network Thailand Annual Forum (GCNT Forum) ประจําปี 2564 “Thailand’s Climate Leadership Summit: A New Era of Accelerated Actions” สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และสหประชาชาติในประเทศไทย  ซึ่งในปีนี้ สมาชิก GCNTจะหารือระหว่างสมาชิกกว่า 80 องค์กร พร้อมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในไทย ร่วมหาทางออก (solutions-oriented) ในการบรรเทาและป้องกันปัญหา อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีภาคเอกชนเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนที่สําคัญ โดยมี พล.อ. ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดงานร่วมประกาศเจตนารมณ์ของสมาชิก GCNT

  • หวั่นโควิดหาย ก๊าซเรือนกระจกเพิ่ม20%

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในหัวข้อ “บทบาทของภาคเอกชนในการป้องกันและแก้ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ว่าขณะนี้การที่ไม่ได้อยู่ร่วมกัน การแยกกันอยู่จากสถานการณ์โควิด-19  สะท้อนให้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องดำเนินการเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม ซึ่งอดีตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ  

“สถานการณ์น้ำท่วม ที่เกิดจากพายุ หรือแม้แต่ภัยแล้งประจวบกับการแพร่ระบาดโควิด ทำให้กิจกรรมต่างๆ ทั้งภาคเศรษฐกิจ มีการชะลอตัว ซึ่งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงประเด็นเดียว ที่ได้รับประโยชน์จากการชะลอตัวทางด้านเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะการที่มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกปล่อยลดน้อยไปถึงเกือบ 10% แต่คาดว่าหากสถานการณ์โควิด-19 เปลี่ยนแปลงไป การคมนาคม การขนส่ง  การปล่อยของเสียต่างๆกลับมาปกติ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มมากถึง 20%”นายวราวุธ กล่าว

 

  • เสนอร่างฯปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในCOP26 นี้

ทั้งนี้ ในส่วนประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก เป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1. เป้าหมายก่อนปี ค.ศ. 2020 เป็นการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Action: NAMA) (ระยะการดำเนินงานถึง พ.ศ.2563) บนพื้นฐานการดำเนินการโดยสมัครใจ ซึ่งประเทศไทย  ได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ7-20 เทียบกับกรณีปกติ ในสาขาพลังงานและขนส่ง ซึ่งจากการดำเนินการในปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่าไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 17

ขณะที่2.เป้าหมายหลังปี ค.ศ.2020 เป็นเป้าหมายตามกลไกการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด  หรือ NDC ฉบับที่ 1 (ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2564-2573) ภายใต้ความตกลงปารีส โดยประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 จากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีปกติ (BAU) ในปี พ.ศ.2573  โดยดำเนินการในทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ (Economy-wide) ได้แก่ พลังงานและขนส่ง กระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และการจัดการของเสีย 

นายวราวุธ กล่าวต่อว่านอกจากการประกาศเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) ซึ่งมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  ได้มีมติ(ร่าง) ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission development Strategy) เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา และจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเร็วๆ นี้  เพื่อนำไปประกาศในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) เดือนพ.ย.นี้

 

  • กำหนดลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ปี 2090

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้รับทราบถึงระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่าด้วยการปลูกและบำรุงป่าชายเลนสำหรับองค์กรหรือบุคคลภายนอก พ.ศ. 2564 และระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตจากการปลูก บำรุง อนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ป่าไม้ พ.ศ. 2564  ความก้าวหน้าในการดำเนินงาน โครงการกลไกเครดิตร่วม Joint Crediting Mechanism (JCM) ภายใต้ความร่วมมือทวิภาคีระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2564 และมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป

ประเทศไทยได้กำหนดในการลดก๊าซเรือนกระจกให้สุทธิเป็นศูนย์ในปี 2090 โดยขณะนี้ได้มีการดำเนินการมาตรการต่างๆ ในการปลดปล่อยภาคพลังงาน อาทิ มติ กนภ.เมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมา มีการเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าใหม่ เพิ่มพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น และให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่ม 30% ภายในปี 2030  ขณะที่ภาคอื่นๆ  เช่น ภาคการเกษตร และภาคของเสียซึ่งมีส่วนสำคัญลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้เป็นกลางทางคาร์บอน การดูดกลับก๊าซเรือนกระจก และการปลูกป่าธรรมชาติ เพิ่มพื้นที่สีเขียว 55% แบ่งเป็นพื้นที่ป่า 35% พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 15% และพื้นที่ป่าสีเขียวป่าชายเลน 5% เพื่อช่วยดูดก๊าซเรือนกระจก” รมว.ทส.กล่าว

อย่างไรก็ตาม การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาครัฐไม่สามารถดำเนินการได้เพียงฝ่ายเดียว ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนรวม เพราะการทำนโยบายต่างๆ หากไม่ได้รับการตอบรับจากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ประชาชน นโยบายก็จะเป็นเพียงเศษกระดาษไม่กี่แผ่น ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การลดก๊าซเรือนกระจกต้องขับเคลื่อนไปในทุกมิติ

  •  3 มาตรการช่วยเอกชนลดก๊าซเรือนกระจก

รมว.ทส. กล่าวต่อไปว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย เป็นผลทำให้มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในจำนวนที่มาก โดยเฉพาะภาคพลังงาน ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และการจัดการของเสีย อนาคตอันใกล้หากประเทศไทยไม่มีการดำเนินการใดจะเกิดปัญหามากกว่านี้ ขณะเดียวกันตอนนี้หลายประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป หรือEU ได้เริ่มปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน ซึ่งเป็นการชำระมาตรการเก็บภาษีต่างๆ ของEU ที่จะพิจารณาว่าสินที่จะเข้า EU มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยอย่างไร ทุกสินค้าต้องมี ฉลาดคาร์บอนที่ได้มาตรฐาน การดำเนินการนี้อาจจะทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าที่จะส่งไปEU เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องปรับตัวตาม

โดยบทบาทของภาครัฐในการสนับสนุนการดำเนินงานของภาคเอกชนนั้น จะมี 3 มาตรการ คือ

1.การลงทุน จะมีการส่งเสริมการลงทุนที่มีการคำนึงถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรกระบวนการผลิต

2. นวัตกรรม จะสนับสนุนให้ภาคเอกชนดำเนินการร่วมกับสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษาในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงเทคโนโลยีเตือนภัยพิบัติตามๆ และการดำเนินการให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน 

 3.ผนึกกำลัง สร้างเครือข่ายภาคเอกชน ภาครัฐ สถาบันการศึกษา ชุมชน องค์กรในประเทศ/ต่างประเทศ การถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยี ความตระหนักรู้ และ CSR เพื่อความยั่งยืน รวมถึงการจัดตั้งเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย ที่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. พัฒนาขึ้นจะใช้เป็นแพลทฟอร์มหลักของประเทศ สำหรับการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต ซึ่งขณะนี้มีสมาชิก 118 องค์กร

“สิ่งที่อยากจะฝาก และอยากจะเห็นในประเทศไทย คือภาคเอกชนเริ่มมีความคิดที่จะพัฒนาสายการผลิต และเริ่มกำหนดสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญ ทส. ต้องการให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งภาคขนส่ง ภาคพลังงาน  ภาคอุตสาหกรรม ภาคกำจัดของเสียง ภาคเกษตร และภาคอื่นๆมีคำว่าสิ่งแวดล้อม และสีเขียวเป็นแกนกลางในการพัฒนาเศรษฐกิจ จัดเซตระบบ โควิด เป็นเหมือนคำเตือนจากธรรมชาติ ถึงเวลาที่มนุษย์ต้องทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับโลกใบนี้”รมว.ทส. กล่าว