UNBOX “สตูล” ไขความลับ 500 ล้านปี ที่หลายคน (อาจ) ไม่เคยรู้
เมื่อเอ่ยถึง "สตูล" หลายคนอาจนึกถึง เกาะตะรุเตา เกาะสุดชายแดนทะเลอันดามัน และเป็นเมืองเล็กๆ ที่คนอยากพักใจนิยมไปเยือน แต่ความจริงแล้ว สตูล มีความสวยงามและน่าสนใจซ่อนอยู่มากมาย และนั่นทำให้ สตูล ถูกยกให้เป็น “อุทยานธรณีโลก” จาก ยูเนสโก
“สตูล” จังหวัดเล็กๆ ชายฝั่งทะเลอันดามัน ทางตอนใต้ของประเทศไทย นับเป็นพื้นที่ที่มีสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ และ มรดกทางธรณีวิทยาอายุกว่า 500 ล้านปี จากความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องประชาชนทั้งจังหวัดที่ดูแลรักษาสิ่งมหัศจรรย์จากธรรมชาติเหล่านั้น รวมถึง ความคงอยู่ซึ่งศิลปะวัฒนธรรมพื้นถิ่น
ทำให้สตูล ถูกผลักดันให้เป็น “อุทยานธรณีโลกสตูล” (Satun UNESCO Global Geopark) ที่ได้รับการรับรองจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เป็นแห่งที่ 5 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2562 และเป็นหนึ่งเดียวของประเทศไทย จากอุทยานธรณีโลกทั้งหมด 147 แห่งทั่วโลก
- กว่าจะได้มาซึ่งการรับรอง อุทยานธรณีโลก
ความภาคภูมิใจนี้ ไม่เฉพาะประชาชนชาวจังหวัดสตูลเท่านั้น ยังเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ ทั้งแวดวงวิชาการธรณีวิทยา และวงการท่องเที่ยว ที่ต่างตื่นตัวและได้รับผลดีจากอุทยานธรณีโลกสตูลทั้งสิ้น
“สมหมาย เตชวาล” อธิบดี กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า อุทยานธรณีโลกสตูล นับเป็นแหล่งทางธรณีวิทยาที่มีความสำคัญ มีการทำงานร่วมกันระหว่าง กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คนในพื้นที่ จังหวัด โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความรู้ หารือร่วมกันในการพัฒนาสตูลเป็นอุทยานธรณี ต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่ปี 2553
โดยหลักเกณฑ์ในการประเมิน คือ นักธรณีวิทยาระดับนานาชาติของทาง ยูเนสโก ต้องมาดูว่ามีความสำคัญระดับนานาชาติหรือไม่ มีหลักฐานที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกสนใจ ต้องมีการศึกษา เผยแพร่ความรู้ด้านธรณีวิทยาในพื้นที่ มีการท่องเที่ยวทาง ธรณีวิทยา และการใช้ประโยชน์จากการวิจัย
“นอกจากนี้ ยังมีการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงมีอัตลักษณ์ของคนในชุมชน มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และจะต้องมีคนที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ โดยทางจังหวัดมีการแต่งตั้งคนที่มาดูแลในด้านดังกล่าว และมีโครงสร้างการทำงานชัดเจน เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าสามารถนำมรดกทางธรณีวิทยาในพื้นที่มาก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนได้ ขณะเดียวกัน ชุมชนก็ต้องมีส่วนร่วมกับมรดกทางธรณีวิทยาด้วย” อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าว
- บันทึกหลักฐานใต้ทะเล 500 ล้านปี
ทั้งนี้ อุทยานธรณีโลกสตูล นับเป็นบันทึกหลักฐานของโลกใต้ทะเลเมื่อ 500 ล้านปีก่อน ที่อุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตยุคเก่า มีความโดดเด่นระดับนานาชาติด้านซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ทะเลมหายุคพาลีโซอิก (ประมาณ 542 – 251 ล้านปีก่อน) ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และสามารถพบได้ง่าย นอกจากนี้ ยังมีภูมิประเทศที่งดงามทั้งแนวเทือกหินปูน ถ้ำขนาดใหญ่ ชายหาดและเกาะน้อยใหญ่ในทะเล ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนที่ผูกพันกับผืนแผ่นดินที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
- UNBOX สตูล ก่อนใคร ในโลกเสมือนจริง
ในสถานการณ์ที่ทุกคนต่างห่างไกลจากกิจกรรมการท่องเที่ยว ทำให้ปัจจุบัน มรดกทางธรณีวิทยาเหล่านี้ ได้รับการฟื้นฟูและดูแลรักษาอย่างดีจากประชาชนชาวจังหวัดสตูลและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในช่วงหยุดพักธุรกิจการท่องเที่ยวในยุคโควิด โดยที่ผ่านมา “กรมทรัพยากรธรณี” ได้มีการจัด มหกรรม "เที่ยวทิพย์" อุทยานธรณีโลกสตูล เปิด 6 เส้นทางท่องเที่ยวทิพย์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ความผ่อนคลาย นำเสนอธรรมชาติของอุทยานธรณีโลกสตูลที่ได้รับการพักผ่อนและฟื้นฟูตัวเองอย่างเต็มที่ เตรียมความพร้อมก่อนเที่ยวจริง
ทั้งนี้ 6 เส้นทาง ที่ผู้เข้าชมจะได้เห็นใน โลกเสมือนจริง ได้แก่ 1. เส้นทางเชื่อมทะเลอันดามันสู่ทะเลโบราณ 2. เส้นทางตื่นตาท่องป่าหินปูน 3. เส้นทางบุกถ้ำ-ทะลุป่าหลุมยุบโบราณ 4. เส้นทางท่องดงฟอสซิลเขาน้อย 5. เส้นทางถ้ำเลสเตโกดอน และ 6. เส้นทางข้ามกาลเวลา รวมทั้งความรู้ความเข้าใจในวิวัฒนาการของโลกจากหลักฐานทางธรณีวิทยาและนิเวศวิทยา การเรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ผ่านผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่หลอมรวมเรื่องราวของอุทยานธรณีไว้ด้วยกัน
- เที่ยวทิพย์ 360 องศา
หากเข้าไปในเว็บไซต์ (เที่ยวทิพย์สตูล) สามารถเลือกเที่ยวได้ทั้ง 6 เส้นทาง ไปได้ทุกจุดที่ต้องการ พร้อมข้อมูลอธิบายอย่างละเอียด อาทิ ข้ามน้ำข้ามทะเลปัจจุบัน ไปเยี่ยมเยียนทะเล 500 ล้านปีบนแผ่นดิน “เกาะตะรุเตา” ถัดมา คือ “อ่าวเมาะ” ที่มีซากของสัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์ยุคแคมเบรียน
เส้นทางข้ามกาลเวลา “อ่าวฟอสซิล” แหล่งสะสมตัวของซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ทะเลไฟลัมมอลัสกา แห่งยุคออร์โดวิเชียนอายุกว่า 400 ล้านปี ที่มีเนื้อนิ่มและเปลือกแข็งหุ้มห่อร่างกาย จำพวกเดียวกันกับหอยและหมึกที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์มาให้มนุษย์ได้ใช้เป็นอาหาร นอกจากนี้ ยังมี “ปราสาทหินพันยอด” สิ่งอัศจรรย์ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของธรรมชาติและจินตนาการ เกิดเป็นปราสาทหินยอดแหลมมากมาย และประติมากรรมธรรมชาติทางธรณีวิทยา “หัวใจสีฟ้ามรกต” หัวใจแห่งอุทยานธรณีโลกสตูล ที่ต้องไปชมสักครั้งหนึ่งในชีวิต
สัมผัสสิ่งมีชีวิตโบราณที่เคยครอบครองผืนดินผืนน้ำสตูล เมื่อหลายร้อยล้านปีใน “ดงฟอสซิลเขาน้อย” เนินเขาลูกเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนรอยต่อของหิน 2 ยุค เที่ยวมุดถ้ำเสมือนจริง บนเส้นทางท่องป่าหินปูน Satun Karst Wanderers’ Trail ที่ “ลานหินป่าพน” โครงสร้างหินสาหร่ายสโตรมาโตไลต์ ผู้ผลิตก๊าซออกซิเจนรายแรกให้กับโลก
มุดถ้ำแบบ 360 องศา “ถ้ำภูผาเพชร” ถ้ำใหญ่เป็นอันดับหนึ่งในภาคใต้ รวมถึงสถานที่น่าสนใจอย่าง “ห้องแสงมรกต” ที่มีปล่องแสงขนาดใหญ่ เป็นช่องทางนำแสงเข้าสู่ถ้ำอันมืดมิด เป็นถ้ำที่พบความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ ที่มีความแตกต่างกันในพื้นที่มืดและพื้นที่ได้รับแสงจากปล่องแสง ความอัศจรรย์ของการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ
และไฮไลต์สำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ “ถ้ำเลสเตโกดอน” ที่ต้องล่องเรือคายัคผ่านถ้ำยาวประมาณ 2.5 กม. และนับว่ายาวที่สุดของเมืองไทย โดยใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง เพื่อชมประติมากรรมถ้ำที่สวยงามตระการตา ไม่ว่าจะเป็นหลอดกาแฟ หินงอก หินย้อย เสาหิน ม่านหินย้อย จนถึงโล่หิน
- เปิดเบื้องหลัง "เที่ยวทิพย์"
“ชานนท์ ชาญเวช” ในฐานะ Project manager virtual trial อุทยานธรณีโลกสตูล ผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจคเที่ยวทิพย์ เผยว่า ขั้นตอนการถ่ายทำต้องวางแผนวันต่อวัน เพราะในช่วงนั้นรัฐบาลประกาศให้ออกกองได้ไม่เกิน 5 คน ขณะเดียวกัน ต้องถ่ายภาพมุมสูง ถ่ายภาพ 360 องศา ภาพนิ่ง วิดีโอ สัมภาษณ์ชุมชน และปักหมุดกว่า 4,000 จุด ถือเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก และเป็นความท้าทาย รวมถึงไปในช่วงหน้าฝน การถ่ายทำจึงยิ่งลำบากมากขึ้น ต้องปรับแผนตลอดเวลา แต่ด้วยความโชคดีที่มีคนในพื้นที่ช่วยซัพพอร์ตประสานงาน
“จากการลงพื้นที่ เราได้เห็นว่าชาวบ้านมีความรู้สึกร่วมและรักในมรดกที่พวกเขามี มันคือสุดยอดของความร่วมมือ และทุกคนรักทรัพยากรในพื้นที่ ผมมองว่าการจะปลูกฝังสิ่งใด ต้องปลูกฝังให้เขารู้คุณค่าสิ่งนั้น เมื่อเขารู้คุณค่าเขาก็จะรักษามันได้ดี รวมไปถึงกลุ่มเยาวชนเอง ก็มีความรู้สึกร่วม และรู้เรื่องราวในพื้นที่ดีกันทุกคน”
“ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ชุมชนเอง ก็ไม่ใช่แค่ขายในระดับประเทศ แต่ตอนนี้ไประดับโลกมีการออกแบบผ้าบาติก ลายไทรโลไบท์ขึ้นเวทีแฟชั่นระดับโลก จากการพูดคุยกับคนในพื้นที่ เขาบอกว่า ไม่ใช่แค่เรามีแผ่นดินที่น่าอนุรักษ์ แต่สำคัญ คือชุมชนทำอย่างไรให้นำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน” ชานนท์ กล่าว
- ท่องเที่ยวยั่งยืน ชุมชนอยู่ได้ ธรรมชาติอยู่รอด
ภาพสะท้อนดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการ "ท่องเที่ยวยั่งยืน" ของ "อุทยานธรณีโลกสตูล" ซึ่งครอบคลุมทั้งการคำนึงถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตอบสนองทั้งความต้องการของนักท่องเที่ยว อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และชุมชนท้องถิ่น มีการจัดการและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ชานนท์ กล่าวต่อไปว่า อุทยานธรณีโลกสตูล เรียกได้ว่าเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแน่นอน เพราะไม่ใช่เจ้าหน้าที่รักษาพื้นที่ฝ่ายเดียว แต่เป็นชุมชนช่วยกันรักษา ช่วยกันดูแล แม้แต่ก้อนหินที่บางคนอาจจะมองว่าเป็นแค่ก้อนหิน แต่กับชุมชน มันคือ หาดหินหลากสีสัน ซึ่งชุมชนช่วยกันดูแลและไม่เก็บกลับไป
- “เที่ยวทิพย์” ตั๋วเชิญก่อนเที่ยวจริง
หลายคนสงสัยว่า เที่ยวทิพย์แล้วจะได้อะไร “ชานนท์” กล่าวว่า การท่องเที่ยวทิพย์ อาจจะไม่สามารถทดแทนการเที่ยวจริงได้ 100% เราคงจะเอาเท้าไปจุ่มน้ำไม่ได้ สัมผัสไอร้อนของแดดไม่ได้ ไม่อาจทำให้ทุกท่านได้ออกเดิน ได้เสียเหงื่อ ได้ออกกำลังปีนป่ายเหมือนเที่ยวจริง แต่มันเป็นเหมือนตั๋วเชิญให้คนรู้จักสตูลมากขึ้น ได้เรียนรู้ก่อนที่จะเที่ยวจริง และคาดหวังว่าเด็กๆ ผู้สูงอายุ คนป่วย จะได้เยียวยาจิตใจ เพราะการไปเที่ยวในบางสถานที่เป็นเรื่องลำบาก ผู้สูงอายุอาจจะไปไม่ได้ อยากให้คนที่ไม่เคยไปให้ได้ไป และคนที่เคยไปมาแล้วได้เห็นอีกหลายแง่มุม
“นี่คือจุดเริ่มต้น ที่เรากำลังสร้างโลกเสมือนจริง ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาเที่ยวสตูล ชุมชนอาจจะขายของออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง ไม่ใช่แค่ขายในจังหวัด วันนี้เราทำ เป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้น และในอนาคตจะมีการขยายการท่องเที่ยวเสมือนจริงไปยังสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ต่อไป” ชานนท์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับใครที่สนใจ สามารถเข้าไปเที่ยวทิพย์ "อุทยานธรณีโลกสตูล" แบบเสมือนจริงได้ที่ เว็บไซต์ เที่ยวทิพย์สตูล