ยางล้อตันสูตรประหยัด
นวัตกรรม "ยางล้อตันประหยัดพลังงาน" สำหรับรถฟอร์คลิฟท์ ยกระดับคุณภาพสินค้ามีมาตรฐานทัดเทียมต่างประเทศ
มาตรฐานยุโรปกำหนดให้ยางล้อ ต้องระบุค่าความต้านทานการหมุน ซึ่งบอกถึงประสิทธิภาพการประหยัดนํ้ามัน กลายเป็นโจทย์สำคัญของผู้ผลิตยางล้อตันไทยต้องปรับตัวและสร้างนวัตกรรม "ยางล้อตันประหยัดพลังงาน" สำหรับรถฟอร์คลิฟท์ ยกระดับคุณภาพสินค้ามีมาตรฐานทัดเทียมต่างประเทศ แต่สามารถขายในราคาถูกกว่า 30-40%
นวัตกรรมนี้เกิดจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยมีบริษัท วี.เอส.อุตสาหกรรมยาง จำกัด ผู้ผลิตล้อยาง ร่วมออกแบบและทดสอบ
เอสเอ็มอีพบนักวิจัย
"8 เดือนหลังจากพัฒนายางล้อตันออกสู่ตลาด ยอดขายจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 30% จากสัดส่วนเดิม 20% ส่วนที่เหลือ 70% มาจากลูกค้าในประเทศ ซึ่งมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 20% และจากการทดสอบคุณภาพมาตรฐานเราอยู่อันดับ 2 เทียบกับแบรนด์ทั่วโลก" วงศ์ทิพย์ จันทบุบผา ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท วี.เอส.อุตสาหกรรมยาง จำกัด กล่าวถึงผลตอบรับของนวัตกรรมยางล้อตัน
คุณสมบัติหลักคือ ยางล้อตันที่พัฒนาขึ้นมีค่าสัมประสิทธิ์ความต้านทานการหมุนดีกว่ายางล้อตันเดิม 20-30% มีความต้านทานต่อการสึกกร่อนดีกว่ายางล้อตันเดิม 2 เท่า และเมื่อนำไปทดสอบการใช้งานจริงในภาคสนาม พบว่าสามารถใช้งานได้นานกว่ายางล้อตันเดิมของบริษัท 70% สำหรับยางล้อหน้า และ 55% สำหรับยางล้อหลัง หากคำนวณผลเชิงเศรษฐกิจ พบว่ายางล้อตันที่พัฒนาขึ้นช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้งานรถฟอร์คลิฟท์ได้ถึงปีละ 60,000 บาทต่อคันต่อปี
วงศ์ทิพย์ กล่าวว่า ในมุมของเอสเอ็มอี การพัฒนาสินค้าและบริการเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องลงทุน ร่วมกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากจำนวนบุคลากรและเงินทุนมีอยู่จำกัด รายได้ต่อปี 150 ล้านบาท ทำให้ไม่สามารถลงทุนอุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการได้เหมือนบริษัทขนาดใหญ่ จึงต้องอาศัยการสนับสนุนจากเครือข่ายภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ไม่ควรคิดว่า รอให้มีความพร้อมก่อนถึงลวทุนพัฒนาวิจัย เพราะถึงเวลานั้นทุกอย่างสายเกินไป นอกจากนี้ไม่ควรกังวลเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทคู่แข่งในประเทศ เนื่องจากตามกฎกติกาการทำวิจัยร่วมกันระหว่างสถาบัน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ย่อมจะมีข้อกำหนดที่ชัดเจนในการนำเสนอผลงานวิจัยต่อสาธารณชน
ทั้งนี้ โครงการวิจัยและพัฒนายางล้อตันรถฟอร์คลิฟท์ประหยัดพลังงาน เป็น 1 ใน 16 โครงการที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยเด่นประจำปี 2556 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
โฉมใหม่อุตสาหกรรมยาง
ผศ.กฤษฎา สุชีวะ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า แนวทางการนำเสนอผลงานวิจัย ไม่ใช่เปิดหมดทุกอย่างสู่สาธารณชน เพราะเราทำงานวิจัยเสริมศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการก่อนที่ทำการวิจัยร่วมกัน
เช่น รายละเอียดเชิงเทคนิคอาจเก็บเป็นความลับ 2-3 ปีก่อนเผยแพร่สู่สาธารณชน เพราะเมื่อถึงเวลานั้นทางบริษัทที่ร่วมวิจัย ย่อมมีศักยภาพในการพัฒนาเทคนิคหรือกระบวนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับแต่ละบริษัทต้องดูความพร้อมของแต่ละบริษัท ซึ่งมีไม่เท่ากัน การถ่ายทอดจะเป็นไปตามศักยภาพและความสามารถ นักวิจัยมีหน้าที่สนับสนุนให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมยางในประเทศดีขึ้น
"งานวิจัยนี้ถือเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในการผลิตยางล้อรถ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ลดการลอกเลียนเทคโนโลยีมาจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตยางล้อที่มีคุณภาพดีขึ้น และเกิดการพัฒนาต่อยอดในการผลิตยางล้อรถอื่นๆ ทำให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนต่อไป เนื่องจากสามารถผลิตยางล้อรถประหยัดพลังงานที่เป็นความต้องการของตลาด และพัฒนาคุณภาพของสินค้าได้ดีขึ้นกว่าเดิมแทนที่แข่งเรื่องราคาเพียงอย่างเดียว รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มการสร้างรายได้ให้ประเทศจากการส่งออกยางล้อตันที่มีมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท"
นอกจากนี้ ยังสามารถนำองค์ความรู้ถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการไทยอื่นๆ ในการพัฒนาคุณภาพและสมรรถนะของยางล้อรถของบริษัทต่อไปได้ โดยงานวิจัยนี้ได้รับการพัฒนาต่อในระยะที่ 2 เป็นการพัฒนายางล้อรถบรรทุกเล็กเรเดียลประหยัดพลังงานร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.สยามอุตสาหกรรมยาง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ เพื่อพัฒนานวัตกรรมเข้าไปรุกตลาดที่มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 4.9 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยตั้งเป้าหมายการพัฒนายางล้อให้มีค่าสัมประสิทธิ์ความต้านทานการหมุนเทียบเท่ากับบริษัทชั้นนำอันดับหนึ่งด้านการประหยัดพลังงานของโลกด้วยเช่นกัน