นายกฯไฟเขียวตั้ง"บอร์ด5จี" จ่อถกนัดแรก
นายกฯเซ็นคำสั่งตั้งคณะกรรมการเดินเครื่อง 5จีแล้ว มอบดีอีเอสรับผิดชอบ เร่งสรรหาบอร์ดพร้อมประสาน กสทช.นัดถกวาระแรก “ฐากร” ชี้รายงานจากต่างประเทศชี้ราคาคลื่น 5จีไม่แพงอย่างที่คิด
นายกฯ เซ็นคำสั่งตั้งคณะกรรมการเดินเครื่อง 5จี แล้ว มอบดีอีเอสรับผิดชอบ เร่งสรรหาบอร์ดพร้อมประสาน กสทช.นัดถกวาระแรก “ฐากร” ชี้รายงานจากต่างประเทศชี้ราคาคลื่น 5จีไม่แพงอย่างที่คิด ระบุประเทศเพื่อนบ้าน จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ทยอยขยายโครงข่ายพร้อมให้บริการแล้ว ไทยไม่ควรช้าหวั่นเสียโอกาส ขณะที่ ประธาน กสทช เผยครบรอบ 8 ปี กสทช. ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ข้อกำหนดทางกฎหมายเต็มที่ เดินหน้าประมูลคลื่น สร้างรายได้เข้ารัฐ 390,193 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (7 ต.ค.) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือคำสั่งมายังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) รวมถึงมีหนังสือมายังพลเอก สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยมีคำสั่งให้ดีอีเอสเป็นผู้รับผิดชอบสรรหาแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จีระดับชาติในทุกภาคส่วน
จากนั้นให้ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อประชุมร่วมกันโดยเร็วที่สุดและให้รายงานผลต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีในทันที
เร่งภารกิจ 5จี
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า ความจำเป็นเร่งด่วนในการขับเคลื่อน 5จี เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงสร้างบรรยากาศในการลงทุนที่ดีให้กับประเทศไทย
ทั้งนี้ จากการรายงานที่สำนักงาน กสทช. ทำการสำรวจ พบว่า ราคาของใบอนุญาต 5จี หากมีการเปิดประมูลนั้น ในราคา 100 เมกะเฮิรตซ์ จะมีราคาเท่ากับ 40% ของราคาใบอนุญาตในระบบ 4จี ที่ประมูลจำนวน 20 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งทำให้ทราบว่า ราคาของใบอนุญาต 5จี ที่มีการประมูลในต่างประเทศไม่ได้มีราคาแพงอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้
นอกจากนี้ มีรายงานว่าปัจจุบันมี 26 ประเทศที่เริ่มเปิดให้บริการ และติดตั้งสถานีฐาน 5จี แล้ว โดยเฉพาะ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีที่เตรียมความพร้อมแล้ว ซึ่งในจีนมีการทยอยขยายโครงข่าย 5จีแล้ว 100,000 แห่ง และจะเริ่มเปิดบริการในต้นปีหน้า ขณะที่ ตามรายงานยังระบุว่า มี 40 ประเทศทั่วโลกที่เปิดให้บริการ 4จี อย่างเต็มรูปแบบ และ 4จี ช่วยเรื่องการพัฒนาประเทศด้านดิจิทัลอย่างมาก โดย 40 ประเทศดังกล่าวมีประเทศไทยด้วย ดังนั้น การพัฒนา 5จีและการประมูลคลื่นความถี่ควรเกิดขึ้นโดยเร็ว
ครบ 8 ปี ดึงเงินเข้ารัฐ3.9แสนล.
พร้อมกันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (7 ต.ค.) ได้จัดงานครบรอบ 8 ปี กสทช.โดยปัจจุบันมีคณะกรรมการ กสทช. เหลืออยู่จำนวน 6 คน ดำเนินการตามภารกิจในการจัดสรรและบริหารคลื่นความถี่ กำกับดูแลกิจการดาวเทียม สร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม คุ้มครองผู้บริโภคให้ได้ใช้บริการที่มีมาตรฐานในราคาที่เป็นธรรม
ภารกิจสำคัญ เร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านกิจการโทรคมนาคม เพื่อรองรับการใช้งานของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี รวมทั้งผลักดันให้เกิด 5จีเพื่อรองรับการพัฒนาการสื่อสารในระบบดิจิตอล รองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0
โดยตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา กสทช. ได้ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ข้อกำหนดทางกฎหมาย บริหารคลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรของประเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยกสทช. ได้เริ่มจัดประมูลคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ หรือที่เรียกว่า การประมูล 3จี ซึ่งถือเป็นการประมูลคลื่นความถี่ครั้งแรกของประเทศไทย ขณะที่ ปี 2555 ถือเป็นจุดเปลี่ยนของการประกอบกิจการโทรคมนาคมจากระบบสัญญาสัมปทานเป็นระบบใบอนุญาต และมีการจัดประมูลคลื่นความถี่เรื่อยมาจนล่าสุดในปี 2562 ได้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ สร้างรายได้เข้ารัฐรวมทั้งสิ้น 390,193 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
นอกจากนี้ กสทช. ยังได้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อการทดลองทดสอบ 5จี พร้อมร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำให้มีการทดลองเทคโนโลยี 5จี ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
เปลี่ยนผ่านทีวีสู่ดิจิทัล
ในด้านกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ ได้มีการเปลี่ยนผ่านจากโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบอนาล็อกไปสู่โทรทัศน์ระบบดิจิทัลของประเทศไทย ให้ประชาชนได้มีทางเลือกรับชมโทรทัศน์เพิ่มมากขึ้น แจกคูปองทีวีดิจิทัล เพื่อให้ผู้ชมได้มีอุปกรณ์ในการรับชมโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล รวมถึงแก้ปัญหาให้กับโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล
พร้อมส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำเรตติ้งเพื่อพัฒนาคุณภาพรายการ จัดลำดับความนิยมของผู้ชมรายการโทรทัศน์อย่างเป็นธรรม เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ได้ตั้งศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมายเพื่อตรวจสอบเนื้อหาที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และได้ดูแลในส่วนของรายการที่มีปัญหาเรื่องความเหมาะสมของรายการ เพื่อให้ประชาชนคนไทยมีโอกาสได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์ รับเรื่องร้องเรียนเนื้อหารายการที่ไม่เหมาะสม
รวมถึงการร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งศูนย์ปราบการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ ในด้านกิจการโทรคมนาคมมีการดูแลตรวจสอบคุณภาพสัญญาณให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ กำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้เป็นธรรม รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีที่เกิดปัญหา
อาทิ โทรศัพท์ระเบิด บิลช็อก ฯลฯ กรณีเกิดภัยพิบัติ สำนักงาน กสทช. ประสานงานผู้ประกอบการทุกราย ให้ตรวจสอบและดูแลคุณภาพสัญญาณโทรคมนาคม และเร่งซ่อมแซมสถานีฐาน รวมถึงอุปกรณ์ที่อาจได้รับความเสียหาย เพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างไม่ขาดช่วง หน่วยงานต่างๆ สามารถติดต่อสื่อสารเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ ในส่วนของศูนย์สายลม สำนักงาน กสทช. เป็นแม่ข่ายวิทยุสื่อสาร วิทยุสมัครเล่นทั่วประเทศ เพื่อการสื่อสารในทุกสภาวะ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-นายกฯไฟเขียวตั้ง"บอร์ด5จี" จี้"กสทช-ดีอีเอส"ถกนัดแรก
-อว.หนุน'นวัตกรรมตำรวจ' มั่นใจส่งตีตลาดเพื่อนบ้าน
-ดีเลย์ '5จี' นักลงทุนหนี กสทช.จ่อขยับโรดแมพเร็วขึ้น
-ชงรัฐบาลตั้งบอร์ด5จีแห่งชาติ