เคล็ด(ไม่)ลับ ฉบับเอสเอ็มอีโตสตรอง! ชี้ต้องใช้ ‘ดิจิทัล+ครีเอทีฟ’
โควิด-19 เปรียบเสมือนอาวุธพลานุภาพร้ายแรง สร้างแรงสั่นสะเทือนไปยังธุรกิจน้อยใหญ่ให้ต้องทำการทรานส์ฟอร์มสู่ทางรอดที่ดีกว่า จึงเป็นที่มาของ “SMEs Grow Up” เบื้องหลังความสำเร็จของบรรดาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการจะพลิกโฉมธุรกิจสู่ยุคนิวนอร์มอล
เพื่อฝ่าวิกฤติกู้ยอดขายด้วยไอเดียครีเอทีฟ กรุยทางเติบโตให้สตรอง เป็นหนึ่งในกลไกพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีศักยภาพในการทำตลาดและขยายฐานลูกค้าโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมทั้งสนับสนุนการเข้าถึงตลาดออนไลน์
ใบน้อย สุวรรณชาตรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า กรมฯ มีโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงช่องทางการทำตลาดออนไลน์ เพราะเป็นทางเลือกที่สามารถทำได้ทันทีในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมองไกลไปถึงช่วงหลังโควิด
ภารกิจฝ่าวิกฤติโควิด-19
โดยโครงการปั้น SMEs สู่ B2C ฝ่าวิกฤติโควิด-19 หรือ โครงการ SMEs Grow Up มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.ให้ความรู้ แนวคิดและทักษะในการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการพัฒนากลยุทธ์การทำตลาดออนไลน์ 2.ขยายฐานลูกค้าใหม่ในช่องทางตลาดออนไลน์โดยเน้นที่การทำตลาดธุรกิจแบบ B2C มีระยะเวลาดำเนินการ ก.ค.-ธ.ค. ใต้งบประมาณ 8 ล้านบาท มีผู้ประกอบการกว่า 10,000 กิจการเข้ารับการอบรมออนไลน์ในหลักสูตรพื้นฐาน จากนั้นจะถูกคัดเลือกเฉพาะกิจการที่มีศักยภาพให้เข้าร่วมคลาสเชิงลึกอีก 350 กิจการ สามารถพัฒนาให้สามารถสร้างรายได้และส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมากถึง 330 ล้านบาท
ตัวอย่างผู้ประกอบการในโครงการฯ เช่น "Mis-School" ระบบสารสนเทศบริหารจัดการสถานศึกษา ภายใต้บริษัท โปรเกรส เน็ตเวิร์ค คอนซัลท์ จำกัด, บริษัท ชุโน จำกัด ผลิตเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านคุณภาพสูง พร้อมรับผลิตงาน OEM ทั้งงานไม้และงานเหล็กครบวงจร เช่น ชั้นวางของติดผนัง โต๊ะจักร เก้าอี้ม้านั่งของเล่นสัตว์เลี้ยง บันไดแมว ที่ลับเล็บแมว, บริษัท อีเอ็มพีดรีม จำกัด สถาบันให้คำปรึกษาและกระตุ้นพัฒนาการเพื่อบำบัดด้านสมาธิสั้น ออทิสติกและดาวน์ซินโดรม,
บริษัท สิกขาดี จำกัด ผลิตเครื่องสำอางที่ได้รับมาตรฐาน อย. ผ่านกระบวนการผลิตที่ผสมผสานสมุนไพรและเทคโนโลยีสมัยใหม่ “Short Fermentation” ที่เป็นสิทธิเฉพาะของบริษัท ผลิตภัณฑ์เด่น เช่น ยาสีฟันผสมสารสกัดสมุนไพรแบรนด์ “10+”, หัตถ์จันทร์ (Hatchan) เสื้อผ้าฝ้ายผ่านการทอมือจากเส้นใยธรรมชาติ มีขั้นตอนย้อมสีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เป็นการนำอัตลักษณ์และภูมิปัญญาล้านนามาออกแบบให้ร่วมสมัย
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคปรับเปลี่ยนไปอย่างมาก ดังนั้น เทคโนโลยีดิจิทัลผนวกกับกลยุทธ์ด้านการตลาดออนไลน์ถือเป็นรากฐานสำคัญ ที่กรมฯ อยากจะดำเนินตามนโยบายปั้นปรุงเปลี่ยนให้เอสเอ็มอีดีพร้อมเพื่อทำให้เกิดดิจิทัลเอสเอ็มอีที่แท้จริง”
ทั้งนี้ กรมฯ ได้ช่วยเหลือสถานประกอบการทั้งในเรื่องของการวางแผนธุรกิจ การให้คำปรึกษาแนะนำในการแก้ไขปัญหาการตลาดต่างๆ ผลที่ได้มาคือ ผู้ประกอบการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจได้มากกว่า 80% สร้างยอดขายออนไลน์เพิ่ม 49% ของเสียการผลิตลดลง 52% และภาพรวมธุรกิจดีขึ้น 43%
ส่วนในปี 2564 จะเน้นเรื่องของการใช้ดิจิทัลในสถานประกอบการ พร้อมกับผลักดันโครงการให้ดำเนินอย่างต่อเนื่องและลงลึกถึงผู้ประกอบการรากหญ้า เพื่อกระจายรายได้ เสริมศักยภาพประชาชน ส่งเสริมผู้ประกอบการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและนำไปผลักดันธุรกิจให้เติบโตทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
ดึงดิจิทัล‘สร้างแบรนด์’
พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด กล่าวว่า ผู้ที่จะรอดจากสถานการณ์โควิด-19 คือผู้ที่นำออนไลน์มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ ยกตัวอย่างการก้าวข้ามจากสื่อ Traditional ที่มีค่าใช้จ่ายในการเช่าเวลาออกอากาศ ออกตามเวลาของผังรายการ มาเป็นสื่อออนไลน์ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลาง ผ่านการเสิร์ฟคอนเทนท์ตรงเวลาตามที่สังคมตรงนั้นต้องการคำตอบ ขณะเดียวกันวิกฤติครั้งนี้ผลักดันให้วงการสื่อออนไลน์เติบโตกว่า 300% ดังนั้น ผู้ที่ก้าวข้ามดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่นได้คือ ผู้ที่ใช้ “สื่อออนไลน์” เสริมด้วย “ครีเอทีฟ”
เทคโนโลยีออนไลน์เป็นเพียงเครื่องมือ แต่หากมีการครีเอทีฟจะสามารถขายประสบการณ์ได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น กรณีการบินไทยที่พาผู้โดยสารทัวร์ 99 วัด 31 จังหวัดในเวลา 3 ชั่วโมง พร้อมสวดมนต์รับบุญบนฟ้า แบบบินวนไม่ลงจอด ปรากฏว่าได้รับผลตอบรับจากผู้บริโภคในกลุ่มที่เป็นพรีเมียมมาร์เก็ตเป็นอย่างดี ถือได้ว่ามีการนำครีเอทีฟไอเดียมาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ จึงเป็นไอเดียการเอาตัวรอดในยุคโควิดดิสรัปได้เป็นอย่างดี
“ช่องทางการสื่อสารออนไลน์เป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีเติบโตอย่างสตรอง แต่อย่ายึดติดเพียงแพลตฟอร์มเดียว มีคำพูดที่ว่า Content is King แต่ Context is king of king บ่งบอกว่าวิธีการเล่าเรื่องสำคัญมาก อย่างวิธีการนำเสนอคอนเทนท์ให้ผู้คนเห็นสินค้านั้นว่า มีฟีเจอร์อะไรและมีบทวิจารณ์อย่างไร จะเป็นสิ่งที่เข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุด เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ การรู้ว่าลูกค้าเป็นใคร อยู่ตรงไหน พร้อมกับทำฐานข้อมูลเพื่อเก็บข้อมูลลูกค้า"
นอกจากนี้ ในอนาคตอาจมีการนำเอไอมาช่วยวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อไม่ต้องทำงานซ้ำๆ ในรูปแบบเดิม หรือแม้กระทั่งบิ๊กดาต้าที่เป็นระบบฐานข้อมูลที่จะสามารถสานต่อได้ว่า ลูกค้ามีพฤติกรรมแบบใดและนำไปสู่วิธีการขายรูปแบบใดจึงจะเหมาะสม ฉะนั้น จงอย่าหยุดที่จะเรียนรู้เพราะความรู้มักเก่าเร็วเสมอ