เตรียมรับแรงกระแทก
สำหรับผู้บริการ และเจ้าของธุรกิจ การรับมือกับภาวะที่เกิดขึ้น เป็นเหมือนการเตรียมพร้อมรับวิกฤติครั้งใหญ่ มองหาทางให้ดีที่สุด และคิดทางเลือกเผื่อไว้ด้วยหากเกิดแรงกระแทก
ในภาวะที่สถานการณ์การระบาดของโรคเริ่มคลี่คลาย หลายคนอาจรู้สึกเบาใจที่เรากำลังจะหลุดพ้นภาวะที่ประสบอยู่หลังจากทนอยู่กับความยากลำบากมานานเกือบ 3 ปี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งในด้านชีวิตส่วนตัว สังคม และเศรษฐกิจ
แต่สิ่งที่เราต้องเผชิญก็คือภาวะดังกล่าวที่เราเรียกกันว่านิวนอร์มอลนั้นจะยังคงอยู่กับเราตลอดไป แม้ว่าโรคโควิด-19 จะอ่อนกำลังลงเป็นเพียงโรคประจำถิ่น แต่ความผันผวนที่เกิดขึ้นนั้นจะคงอยู่ตลอดไป ซึ่งเราได้สัมผัสกับการเปลี่ยนแปลงในระลอกอื่นๆ กันบ้างแล้วไม่ว่าจะเป็นภาวะสงคราม ภาวะโลกร้อน ฯลฯ
เราจึงต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความผันผวนต่อไป และเลิกคิดว่าโลกนี้จะกลับมาสู่ภาวะปกติที่เราจะได้ใช้ชีวิตแบบสุขสบายไร้ความเครียด เพราะโลกได้เปลี่ยนไปแล้วและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็ยังก่อให้เกิดผลเป็นลูกโซ่กระทบด้านอื่นๆ จนสะท้อนกลับมาที่ตัวเราอยู่ดี
ธุรกิจหลายๆ แห่งจึงเตรียมพรัอมรับสถานการณ์เลวร้ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงก็อย่าคิดว่าจะหยุดอยู่เพียงแค่นี้ มาตรการต่างๆ จึงต้องเตรียมพร้อมไว้ว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร
รวมถึงวิกฤติจากภาวะสงครามที่ทำให้ขาดแคลนปัจจัยในการผลิต ก็อย่ามัวรอให้ทุกอย่างสงบ แต่ต้องต้องคิดว่าจะดำเนินธุรกิจต่อได้อย่างไร จะต้องเปลี่ยนแหล่งจัดซื้อวัตถุดิบไหม ฯลฯ
เช่นเดียวกับภาวะโลกร้อนที่คนทั่วโลกเริ่มตระหนักหลังจากได้ยินเสียงของเด็กรุ่นใหม่อย่าง เกรต้า ทุนเบิร์ก เมื่อ 4 ปีที่แล้วแต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับเรื่องดังกล่าวน้อยมากจนเกิดผลกระทบมากมายในทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นความสุดขั้วของสภาพอากาศ ทั้งหนาวจัด ร้อนจัด
รวมถึงพายุฝนที่มาคู่กับภาวะน้ำท่วมรุนแรงมากขึ้นทุกปีและเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก จนเราเห็นประเทศปากีสถาน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฯลฯ ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่เป็นประวัติศาสตร์ ไม่ต่างอะไรกับในประเทศเราที่ต้องเจอภาวะน้ำท่วมใหญ่ในหลายจังหวัด และล่าสุดพายุเฮอริเคนที่เข้าถล่มสหรัฐอเมริกา ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนอย่างมหาศาล
หากเราจะยังคงใช้ชีวิตแบบเดิมต่อไป เช่นใช้พลังงานจากแหล่งเดิมคือน้ำมันซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องตัดไม้ทำลายป่า ฯลฯ เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพบเจอปัญหาต่างๆ เหล่านี้ต่อไป
การหันมาพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนจึงต้องเร่งดำเนินการให้เร็วขึ้น นโยบายภาครัฐคงต้องชัดเจนกว่านี้และกำหนดเป็นนโยบายทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น
ส่วนประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่งที่ลดการใช้พลังงานนิวเคลียร์ลงเพื่อหันมาใช้พลังงานสีเขียว แต่เมื่อต้องพบกับภาวะสงครามที่ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ด้านพลังงาน เราก็อาจเห็นการกลับมาใช้พลังงานนิวเคลียร์อีกครั้งเพราะความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น
ทั้งหมดนี้ย่อมส่งผลถึงภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเราไม่อาจหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงาน การกระจายการผลิตไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อรองรับการนโยบายภูมิรัฐศาสตร์และมาตรการกีดกันทางการค้า ล้วนกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
สำหรับผู้บริการ และเจ้าของกิจธุรกิจ การรับมือกับภาวะที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหมือนการเตรียมพร้อมรับวิกฤติครั้งใหญ่
หากจำเป็นต้องห่อตัวรับภาวะวิกฤติก็ต้องมองหาทางลงจอดให้ดีที่สุด และคิดทางเลือกเผื่อไว้ด้วยหากเกิดแรงกระแทกในขณะลงจอด เช่นเดียวกับการฮาร์ดแลนดิ้งของเครื่องบินที่กัปตันจะเตือนให้ลูกเรือเตรียมความพร้อมสูงสุด