วิกฤติศก.ฉุด 'ตลาดพีซีโลก' ร่วง 29% 'ดีมานด์ลด-สินค้าค้างสต็อก'
ไอดีซี เปิดเผยรายงาน ระบุว่า ตลาดพีซีทั่วโลกในไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2566 หดตัวลง 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปี 2565 ขณะที่ การ์ทเนอร์ ระบุ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ฉุดความต้องการอุปกรณ์ไอทีเติบโตลดลง
Key Points :
- IDC เผยรายงาน ตลาดพีซีทั่วโลกในไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2023 ได้หดตัวลง 29%
- ยอดจำหน่ายพีซีระหว่างเดือนม.ค.– มี.ค.2023 นั้น 56.9 ล้านเครื่อง น้อยกว่าไตรมาสที่ 1 ปี 2022 ถึง 23.3 ล้านเครื่อง
- พิษเศรษฐกิจ ความต้องการของผู้บริโภคลดลง สินค้าค้างสต็อก
รายงานดังกล่าว ระบุว่า ยอดจำหน่ายพีซีระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 56.9 ล้านเครื่อง ซึ่งลดลงกว่าไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ถึง 23.3 ล้านเครื่อง โดยแบรนด์ผู้ผลิตพีซีชั้นนำของตลาดได้ประสบปัญหายอดจำหน่ายลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะแอ๊ปเปิ้ลที่มียอดจำหน่ายลดลงไปถึง 40.5%
ทั้งนี้ เลอโนโว ยังคงเป็นครองตำแหน่งผู้ผลิตพีซีที่ยอดจำหน่ายสูงสุดทั่วโลก อยู่ที่ 12.7 ล้านเครื่อง ส่วนแบ่งตลาด 22.4% ตามมาด้วย เอชพี ที่มียอดจำหน่าย 12 ล้านเครื่อง ส่วนแบ่งตลาด 15.8% และ เดลล์ เทคโนโลยีส์ ที่มียอดจำหน่าย 9.5 ล้านเครื่อง ส่วนแบ่งตลาด 13.7%
ขณะที่ แอ๊ปเปิ้ล ติดอันดับ 4 มียอดจำหน่าย 4.1 ล้านเครื่อง ส่วนแบ่งการตลาด 7.2% และ เอซุส ที่มียอดจำหน่าย 3.9 ล้านเครื่อง ส่วนแบ่งการตลาด 6.8%
สำหรับยอดจำยอดจำหน่ายพีซีที่ลดลงอย่างมากในไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมานี้ เป็นผลมาจากความต้องการของผู้บริโภคลดลง ทำให้มีสินค้าคงคลังอยู่เป็นจำนวนมาก และเศรษฐกิจมหภาคที่เลวร้ายลง ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การจัดส่งพีซีลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาสแรก
แม้จะมีการลดราคาอย่างหนักของราคาพีซี แต่สินค้าคงคลังก็ยังคงค้างอยู่ในจำนวนมาก ความต้องการพีซีที่ชะลอตัวลงชั่วคราว ยังส่งผลต่อซัพพลายเชนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ช่วงโควิด โรงงานหลายแห่งเริ่มสำรวจทางเลือกในการผลิตนอกประเทศจีน ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตพีซีต่างกำลังทบทวนแผนของพวกเขาในช่วงที่เหลือของปี และเริ่มดึงคำสั่งซื้อ โครมบุ๊ค เนื่องจากค่าลิขสิทธิ์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปลายปีนี้
ดังนั้น ไอดีซี มองว่า การจัดส่งพีซียังมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยจะกลับมาเติบโตอีกครั้งในช่วงปลายปี โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น และเป็นช่วงของการอัพเกรดคอมพิวเตอร์เป็น วินโดว์ส 11
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของ ไอดีซี ประเมินว่า ตลาดพีซีในไตรมาสที่ 2 อาจยังคงประสบปัญหาเช่นนี้ แต่คาดว่ายอดจำหน่ายจะกลับมาสูงขึ้นในปลายปี 2566 นี้
ทั้งนี้ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ ‘การ์ทเนอร์’ ที่ระบุไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ยอดจัดส่งอุปกรณ์ไอทีทั่วโลก พีซี แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ คาดจะเติบโตลดลง 4.4% ในปี 2566 คิดเป็นอุปกรณ์จำนวน 1.7 พันล้านยูนิต จากในปี 2565 ที่การจัดส่งอุปกรณ์ลดลง 11.9%
‘รันจิต อัตวาล’ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยการ์ทเนอร์ ประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจะยังคงส่งผลทำให้ความต้องการอุปกรณ์เติบโตลดลงต่อเนื่องในปี2566สอดคล้องกับปริมาณการใช้จ่ายในกลุ่มอุปกรณ์ไอทีของผู้ใช้ปลายทางที่ลดลง 5.1% ในปีนี้
ขณะที่ ความเชื่อมั่นทางธุรกิจเริ่มฟื้นตัวหลังจากการระบาดครั้งเลวร้ายที่สุด และตอนนี้ในหลายภูมิภาคส่วนใหญ่ลดลงอย่างมาก จากวันนี้จนถึงไตรมาสที่สี่ ไม่คาดว่าการผ่อนคลายของอัตราเงินเฟ้อและจุดต่ำสุดของภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะปรับตัวดีขึ้น
แนวโน้มขาลงที่ส่งผลกระทบต่อตลาดอุปกรณ์จะคลี่คลายในปี 2566 จากความคาดหวังของเศรษฐกิจในแง่ร้ายที่ลดลงตลอดปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ยอดการใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นในที่สุด
ผู้จำหน่ายพีซี จะลดจำนวนสินค้าคงคลังตลอดปี 2566 และนักวิเคราะห์ของ การ์ทเนอร์ คาดว่า ยอดพีซีคงคลังจะกลับมาเป็นปกติในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ หลังจากที่มียอดเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีที่แล้ว เนื่องจากผู้จำหน่ายประเมินความต้องการของตลาดสูงเกินไป และเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ตกต่ำ รวมถึงอุปสงค์ที่ลดลงอย่างมาก
ขณะที่ ในปี 2565 พีซีสำหรับธุรกิจจำนวนมากสามารถอัปเกรดเป็นระบบปฏิบัติการ Windows 10 (OS)แต่ยังมีอีกมากที่อัปเกรดไม่ได้
การ์ทเนอร์ คาดว่า กว่า 25% ของพีซีสำหรับธุรกิจจะอัปเกรดเป็น วินโดว์ส 11 ในปี 2566 แต่วินโดวส์ 11 ไม่สามารถกระตุ้นยอดจำหน่ายให้กลับมามีปริมาณเท่าในช่วงปี 2563-2565 นอกจากนี้ ผลจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นและภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังคืบคลานเข้ามา จะส่งผลให้เกิดการลดการใช้จ่าย และจัดสรรงบประมาณตามความเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม การ์ทเนอร์ คาดว่าสิ้นปี 2566 กลุ่มผู้บริโภคและธุรกิจ จะปรับขยายรอบการเปลี่ยนอุปกรณ์พีซีและแท็บเล็ตออกไปเป็นมากกว่า 9 เดือน