‘ยอด ชินสุภัคกุล’ แม่ทัพใหญ่ไลน์แมน มั่นใจดิลิเวอรีไทยโตต่อ แม้ Robinhood ปิดตัว
เจาะมุมมองของ “ยอด ชินสุภัคกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai ต่อ “อนาคตฟู้ดดิลิเวอรีไทย” หลัง Robinhood ปิดตัว โดยมองว่าแม้เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ฟู้ดดิลิเวอรียังคงทำกำไรต่อไปได้ มั่นใจตลาดโตเกิน 10% ในปีนี้
โรบินฮู้ด (Robinhood) เตรียมประกาศปิดบริการในวันที่ 31 ก.ค.2567 ผ่านการดำเนินงานมา 4 ปี และขาดทุนสะสมกว่า 5.5 พันล้านบาท แม้จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกลุ่ม SCBX อย่างเต็มที่
ฟู้ดดิลิเวอรีสตาร์ตอัปเจ้านี้เปิดตัวในช่วงการระบาดของโควิด-19 ด้วยแนวคิด “แอปเพื่อคนตัวเล็กที่ยั่งยืน” ไม่เก็บค่า GP จากร้านค้า แต่ไม่สามารถแข่งขันกับยักษ์ใหญ่อย่าง GrabFood และ LineMan ที่ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 100% (GrabFood 56% และ LineMan 53%) ในขณะที่โรบินฮู้ดมีส่วนแบ่งเพียง 5%
ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า ภาพรวมของธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรี (Food Delivery) หรือธุรกิจบริการส่งอาหาร ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะไทยมีผู้เล่นหลายรายอยู่ในตลาด หรือถ้าส่งผลกระทบก็ยังคงเป็นเชิงบวก เพราะทำให้การแข่งขันมีผู้เล่นน้อยลง
“เมื่อโรบินฮู้ดปิดตัวลง ไลน์แมน วงใน กลายเป็นฟู้ดดิลิเวอรีสัญชาติไทยรายสุดท้ายที่เหลืออยู่ เพราะเป็นบริษัทโดยคนไทยเป็นเจ้าของ ผมได้คุยกับทีมงานโรบินฮู้ด คุยถึงเรื่องว่าพนักงานคนไหนที่ไลน์แมน วงในสามารถรับเข้าทำงานต่อได้บ้าง
ไรเดอร์ที่อยู่ในแพลตฟอร์มของโรบินฮู้ดสามารถที่จะเข้ามาสมัครทำงานกับ ไลน์แมน วงใน ต่อได้เลย โดยเราจะช่วยรับคนเท่าที่จะรับได้เพราะกำลังขยายการเติบโต ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม บางพื้นที่อาจจะยังไม่เข้าถึงบริการ บางพื้นที่อาจต้องรอการเพิ่มบริการ
ส่วนร้านค้า 98% ที่อยู่ในแพลตฟอร์มโรบินฮู้ดก็ได้อยู่กับไลน์แมน วงใน ด้วยแล้ว แต่ร้านค้าไหนที่ประสบปัญหาทางบริษัท ก็ยินดีต้อนรับเสมอ และพร้อมที่จะช่วยเหลือร้านค้าอย่างใกล้ชิด อาจจะพูดได้ว่าการเป็นภารกิจที่ต้องรับไม้ต่อจากโรบินฮู้ด”
สำหรับแนวโน้มของการเติบโตของตลาดดิลิเวอรี คุณยอด ระบุว่า ตลาดดิลิเวอรีปี 2567 นี้ค่อนข้างที่จะเติบโต แม้กำลังซื้อโดยรวมในประเทศไทยอาจจะไม่มากนัก แต่กำลังซื้อออนไลน์ยังมีอยู่ โดยคาดการณ์ว่าตลาดดิลิเวอรีไทยในปีนี้จะโตถึง 10% แต่ไลน์แมน วงในอาจโตมากกว่านั้น
“การเติบโตของไลน์แมน วงใน สำหรับฟู้ดดิลิเวอรียังคงเติบโต เรียกได้ว่าเป็นลำต้นที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะมี product ใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนของไลน์เพย์ (LINE Pay) ที่เพิ่มบริการเข้ามาเมื่อปีที่แล้วก็มีมูลค่าธุรกิจที่เติบโตถึง 2 เท่า
ผมอยากให้มองฟู้ดดิลิเวอรีเป็นเหมือนอีคอมเมิร์ซของร้านอาหาร แต่เดิมเราต้องเดินไปกินที่ร้าน ซึ่งในตอนนี้เราสั่งมากินที่บ้านหรือที่ไหนก็ได้ แม้โควิดจบคนก็ยังใช้อยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะกลายเป็นนิสัยของคนไปแล้ว
หากจะบอกว่าธุรกิจดิลิเวอรีทำกำไรไม่ได้เลย หรือไม่มีวันจะทำกำไรได้ ก็คงคิดว่าไม่ใช่ เพราะอย่างผมเห็นตัวเลขกำไรที่วิ่งหลังบ้านทุกวัน คาดว่าในอนาคตก็อาจทำกำไรได้อีกขึ้นอยู่กับสภาพโดยรวมของตลาดด้วย
ตลาดต่างประเทศที่มีผู้เล่นน้อยราย เช่น จีน มีผู้เล่นเพียง 2 ราย ซึ่งทั้งสองรายก็สามารถทำกำไรจากกิจการดิลิเวอรีได้ ฝั่งอเมริกาก็มีอีกหลายบริษัทที่สามารถทำกำไรได้ ดังนั้น มันจึงขึ้นอยู่กับสภาพของตลาด จำนวนผู้เล่น และสภาพเศรษฐกิจของประเทศ แต่สุดท้ายแล้ว ฟู้ดดิลิเวอรีจะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่หลายผู้เล่นสามารถทำกำไรได้”
คุณยอด ยังได้กล่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล มองว่าหากสามารถใช้จ่ายออนไลน์หรือแพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอรีตัดยอดเงินจากเงินตรงนี้ได้ ก็จะทำให้ช่วยร้านค้ารายย่อยหรือร้านค้าที่ไม่ได้มีหน้าร้านได้มากขึ้น เพราะเป็นการเพิ่มจำนวนยอดขาย
“ผมได้อ่านความเห็นของกลุ่มสตาร์ตอัป ซึ่งผมก็เห็นด้วยบางรายโดยเฉพาะนายกสมาคมสตาร์ตอัปไทย เขาตั้งคำถามเรื่องการ subsidize ของสตาร์ตอัปหรือบริษัทใหญ่ๆ ที่ลงมาทำสตาร์ตอัปเอง
โดยผมมองว่า หากรัฐบาลจะช่วยเหลือโรบินฮู้ด อยากให้พิจารณาอย่างรอบคอบว่าทำไมถึงต้องให้การสนับสนุน (subsidize) และจะทำในรูปแบบใด รวมถึงควรพิจารณาว่าการช่วยเหลือควรจำกัดเฉพาะวงการนี้หรือไม่” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ดี การปิดตัวลงของโรบินฮู้ด ได้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรียังเผชิญความท้าทายหลายประการ ทั้งการแข่งขันที่รุนแรง ต้นทุนดำเนินการสูง และความยากในการรักษาฐานลูกค้า
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องค่า GP ที่สูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อร้านอาหารขนาดเล็ก และผู้บริโภค ในสภาวะที่ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น นักลงทุนเริ่มไม่อดทนกับธุรกิจที่ขาดทุนต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายแพลตฟอร์มต้องปรับตัว ควบรวมกิจการหรือพยายามครองตลาดเพื่อความอยู่รอด
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์