‘ดาต้าเซนเตอร์ เอไอ คลาวด์’ โจทย์ใหญ่รัฐ ดัน ‘ไทย’ เฉิดฉายเวทีโลก
ย้อนไปในรัฐบาลเศรษฐา 1 การเดินสายหาความร่วมมือบิ๊กเทคโลก เป็นหนึ่งมิชชั่นที่รัฐบาลต้องการสร้างให้ไทยเป็นฮับของการลงทุนดิจิทัล เป็นโจทย์ใหญ่ ที่หากทำสำเร็จจะช่วยดึงภาพลักษณ์ประเทศขึ้นชั้นระดับแนวหน้าภูมิภาค ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่น่าลงทุนเรื่องเทคโนโลยี
KEY
POINTS
- เมกะโปรเจกต์ ‘เทค เอไอ’ โจทย์ใหญ่รัฐบาลแพทองธาร
- จับตา บิ๊กเทค ‘กูเกิล ไมโครซอฟท์ เอดับบลิวเอส’ ลงทุนลุยคลาวด์ เอไอ ดาต้าเซนเตอร์
- วิชั่นทักษิณ แนะจีบนักลงทุนลุยดาต้าเซนเตอร์ - พลังงานสีเขียว
ไล่เลียงมาตั้งแต่ ความร่วมมือกับ “กูเกิล, เอดับบลิวเอส (อะเมซอน) ไมโครซอฟท์” ที่นับเป็นยักษ์เทคแนวหน้าของโลก ที่รัฐบาลไทย พยายามดึงเงินลงทุนเข้ามาในประเทศ ซึ่งทั้งหมดก็ให้คำมั่นที่จะลงทุนเทคโนโลยีในไทย โดยเฉพาะ คลาวด์ ดาต้าเซนเตอร์ และเอไอ ในประเทศไทย ในลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับดูท่าทีของความชัดเจน และต่อเนื่องของรัฐบาลไทยในนโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัล
‘กูเกิล’ เปิด ‘Cloud Region' หนุน ศก.ดิจิทัล’
บิ๊กเทคคอมพานีโลก “กูเกิล” ประกาศขยายการลงทุนในไทย สร้าง คลาวด์ อินฟราสตรักเจอร์ “Cloud Region” รองรับความต้องการบริการคลาวด์ที่เติบโตต่อเนื่องซึ่งการขยับตัวอย่างมีนัยสำคัญครั้งนี้สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนให้วงการเทคโนโลยีไทยได้มากน้อยเพียงใด
กูเกิล ประจำประเทศไทย รายงานว่า Cloud Region แห่งนี้ ถือเป็นการลงทุนครั้งสำคัญในประเทศไทยของกูเกิล เพื่อรองรับการเติบโตของฐานลูกค้าไทย ตลอดจนบริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นอีกส่วนสำคัญของการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจไทยสู่เฟสต่อไป กูเกิล ยังคงให้ความสำคัญกับพาร์ตเนอร์ชิปที่แข็งแกร่งกับประเทศไทยตอกย้ำวิสัยทัศน์ที่มุ่งผลักดันให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีภายใต้แนวคิด “Leave No Thai Behind”
การขยายการลงทุนด้วยการสร้าง Cloud Region ในไทย กูเกิลต้องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ยอดเยี่ยม ปลอดภัย น่าเชื่อถือ ตอบโจทย์ได้ทุกความต้องการของภาคธุรกิจ
ขณะเดียวกัน ผลักดันให้อีโคซิสเตมขององค์กร และผู้ใช้งานเข้าใกล้กันมากขึ้น ครอบคลุมทั้งโปรแกรมเสิร์ช ยูทูบ แผนที่ เพลย์ คลาวด์ และอื่นๆ วางตำแหน่งเป็นพันธมิตรกับองค์กรท้องถิ่นทุกขนาด สามารถให้บริการตลาดภายในประเทศ สนับสนุนการส่งออก การเติบโตของภาคธุรกิจ รวมถึงการขยายบริการไปทั่วโลก
ด้านแนวทางการให้บริการ โฟกัสที่บริการสำหรับธุรกิจ และระบบคลาวด์ศักยภาพสูงที่จำเป็นต่อองค์กร เพื่อเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ดิจิทัล และสร้างข้อได้เปรียบใหม่ๆ ในการแข่งขัน ตลอดจนตอกย้ำเจตนารมณ์ของกูเกิลคลาวด์ที่ต้องการสนับสนุนแผนพัฒนาเศรษฐกิจในเฟสต่อไปของรัฐบาลไทย
การประกาศแผนติดตั้ง Cloud Region ในประเทศไทย กูเกิลคลาวด์วางเป้าหมายที่จะส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการรุกหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของประเทศ มุ่งสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางดิจิทัลในประเทศไทย และเพื่อประเทศไทยรวมถึงโอกาสในการขยายโครงสร้างคลาวด์เพื่อยกระดับประเทศไทยไปสู่กลุ่มประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงที่มาพร้อมกับนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยยกระดับการปฏิบัติงานขององค์กรในท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีความหน่วงต่ำ ขณะที่แผนการสร้างระบบ และกระจายปริมาณงานไปใน 3 โซน จะทำให้การให้บริการมีความปลอดภัย เป็นไปอย่างราบรื่นป้องกันไม่ให้การบริการหยุดชะงัก สามารถกู้คืนได้เมื่อเกิดความเสียหาย
‘กัลฟ์’ ผนึก ‘กูเกิล’ บูมคลาวด์
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวน่าสนใจ “กัลฟ์” ผนึกกำลัง “กูเกิล” รุกตลาดคลาวด์ในประเทศไทย ด้วยบริการ “Sovereign Cloud ” พิทักษ์อธิปไตยข้อมูล มุ่งเจาะองค์กรด้านความมั่นคง ภาครัฐ การเงิน ต่อยอดธุรกิจดาต้าเซนเตอร์งบลงทุน 2 หมื่นล้านบาท ปูทางนำประเทศไทยสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมดิจิทัลและ AI
โดยความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ครั้งนี้จะรวมจุดแข็งของกูเกิลด้านเทคโนโลยี AI ที่ล้ำสมัยสำหรับองค์กร โครงสร้างพื้นฐาน นักพัฒนา ข้อมูล ความปลอดภัย และเครื่องมือการทำงานร่วมกันระดับองค์กร เข้ากับความเป็นผู้นำของกัลฟ์ในด้านการผลิตไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านพลังงานสะอาด ศูนย์ข้อมูล และโทรคมนาคมผ่านบริษัทในเครือ
การการลงทุนเพื่อให้บริการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งที่จะไปต่อยอดการให้บริการดาต้าเซนเตอร์ 50 เมกะวัตต์ของกัลฟ์ซึ่งแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 เฟส เฟสละประมาณ25เมกะวัตต์โดยเฟสที่ 1 จะแล้วเสร็จ และพร้อมให้บริการประมาณเดือนมี.ค.2568 จากนั้นขยายต่อสู่เฟสต่อไปภายใน 2 ปีรวมใช้งบลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
‘อะเมซอน’ ทุ่ม ‘แสนล้าน’ ลงทุนคลาวด์
ขณะที่ อะเมซอนเว็บ เซอร์วิสเซส หรือ AWS ในเครือ Amazon.com, Inc. ผู้ให้บริการคลาวด์ระดับโลก ก็ได้ประกาศแผนที่จะลงทุนมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์(หรือ 1.9 แสนล้านบาท) ในประเทศไทยในระยะเวลา 15 ปี
โดยเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ ด้วยการเปิดตัว รีเจียน (Region)ในประเทศไทยชื่อว่า AWSAsia Pacific (Bangkok) โดยรีเจียนแห่งใหม่นี้ จะประกอบด้วย Availability Zone 3 แห่ง
AWS Region ในไทย จะช่วยให้นักพัฒนา สตาร์ตอัป และองค์กรต่างๆ รวมถึงภาครัฐ การศึกษา และองค์กรไม่แสวงผลกําไร สามารถเรียกใช้แอปพลิเคชันของตัวเอง และให้บริการผู้ใช้ปลายทางจากศูนย์ข้อมูล AWSที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้ลูกค้าที่ต้องการเก็บข้อมูลของตัวเองไว้ในไทยสามารถทําได้
การประกาศลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์ในไทยของอะเมซอนจะส่งผลดี และให้ประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ธุรกิจในไทยได้รับมาตรการความปลอดภัยในการเก็บข้อมูลเอาไว้ในไทยมากขึ้นจากที่ก่อนหน้านี้ข้อมูลของธุรกิจในไทยอาจต้องเก็บไว้ในคลาวด์ที่มีศูนย์อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัย ทั้งเป็นการรองรับการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และส่วนสำคัญช่วยพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีของไทยด้วย
นอกจากนี้ ช่วยให้องค์กรสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยการใช้ประโยชน์จากบริการที่หลากหลาย และเชี่ยวชาญของเอดับบลิวเอส เช่น AI GenAI แมชชีนเลิร์นนิง การวิเคราะห์ และไอโอทีด้วยเครื่องมือใหม่เหล่านี้ AWS ยังช่วยให้ลูกค้าภาครัฐสามารถมีส่วนร่วมกับพลเมืองได้ดียิ่งขึ้น องค์กรต่างๆ สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการเติบโตในระยะต่อไป รวมถึงสร้างธุรกิจ และแข่งขันในระดับโลก
‘ไมโครซอฟท์’ มอง ‘ดาต้าเซนเตอร์ กุญแจสำคัญ
ด้าน “ไมโครซอฟท์” เผยว่า 12 เดือนที่ผ่านมา นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จากการมาเยือนของ นายสัตยา นาเดลลา ที่ได้ประกาศพันธสัญญาเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตในยุค เอไอ และคลาวด์ ผสานความร่วมมือกับภาครัฐ และเอกชนในโครงการใหม่ๆ เพื่อยกระดับประเทศไทย
รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน “Datacenter region” เพื่อขยายการให้บริการคลาวด์จากไมโครซอฟท์ให้กว้างขวาง และทั่วถึงยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันมอบเสถียรภาพ และสมรรถนะที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานระดับองค์กร ทั้งยังรองรับมาตรฐานของประเทศไทยด้านการจัดเก็บ และรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
ไมโครซอฟท์มีแนวคิดว่า “ดาต้าเซนเตอร์” เป็นกุญแจสำคัญที่เข้ามาสร้างโอกาสให้คนไทย บริษัทไทย และประเทศไทยประสบความสำเร็จในเวทีโลก
สำหรับ ความคืบหน้าล่าสุด เรื่องการจัดตั้งดาต้าเซนเตอร์ในไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมงานขั้นสุดท้ายร่วมกับพาร์ตเนอร์โดยปีนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องการทำงานระหว่างกัน จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมการ และเปิดตัวต่อไป
พร้อมระบุว่า ไมโครซอฟท์ พร้อมสานต่อพันธกิจที่ได้ประกาศออกไปเกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เอไอ และคลาวด์ ควบคู่ไปกับการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน สตาร์ตอัป รวมถึงความร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อนำประเทศไทยมุ่งสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมดิจิทัล และเอไอ
ทักษิณ 'แนะดึงนักลงทุนลุยดาต้าเซนเตอร์ พลังงานสีเขียว
ภายในงาน Vision For Thailand” จัดโดย “เนชั่น กรุ๊ป” การปาฐกถาพิเศษ เกี่ยวกับ “วิสัยทัศน์ประเทศไทย” ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้กล่าวว่า ไทยจะต้องไปเชิญชวนเพื่อนๆ นักลงทุนในต่างประเทศมาลงทุนที่ไทย เพราะหากมองดูแล้ว ประเทศไทยก็ยังคงเป็นประเทศที่ไม่มีปัญหาเรื่อง Geopolitics หรือ ประเด็นทางที่ตั้งภูมิศาสตร์ซึ่งส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการค้า
รวมถึงการตั้งเป้าเป็น ‘ดาต้าเซนเตอร์’ ดินแดนเพื่อเก็บอุปกรณ์ และเทคโนโลยี เช่น อุปกรณ์ IT, ซอฟต์แวร์ หรือ ซอฟต์แวร์เป็นต้น แม้ยังมีความกังวลเรื่องประเด็นค่าไฟ และพลังงานสีเขียว วิธีการของนายทักษิณที่ต้องการส่งต่อรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหานี้คือ การผลิตพลังงานเองที่ราคาถูกเมื่อเทียบกับการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ
ซึ่งประเด็นนี้จะทำให้เราสามารถวางแผนรับมือกับความรุดหน้าของเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นการมีระบบ Super Computer ที่เปลี่ยนไปสู่การมี Super Intelligent AI และรวมไปถึงการมี ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit : LEO) ที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย
โดยยกตัวอย่างว่า จีนมีแผนการยิงดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) จำนวน 50,000 ดวง ซึ่งเป็นดาวเทียมอินเทอร์เน็ตที่ให้บริการระบบ 6G ไปไกลกว่าไทยที่ใช้ 5G ซึ่งจะได้ทั้งความเร็ว (Speed) และการรับรู้ (Sense) โดยมาครบทั้งมีรูป รส กลิ่น เสียง
ในแง่ภาคการผลิตดาวเทียม เมื่อมีดีมานด์ความต้องการจากจีนเยอะมาก ไทยน่าจะเชิญชวนให้เกิดการผลิตขนาดเล็ก เพราะที่ผ่านมา เราเองก็มีศักยภาพได้ทำดาวเทียมสำหรับพยากรณ์อากาศ ประเทศไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร เราอยู่ในภูมิประเทศได้เปรียบเพราะช่วยลดต้นทุนได้ เวลายิงดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรดังนั้น ตรงนี้ไทยควรต้องเชิญชวน และหาโอกาสตรงนี้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์