‘คนไทย’ เชื่อมั่น 'เอไอ' มากไปหรือไม่?

‘คนไทย’ เชื่อมั่น 'เอไอ' มากไปหรือไม่?

วันก่อนผมไปเห็นโพสต์ของอาจารย์สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่สอนทางด้าน "เอไอ" บนโซเชียลมีเดียท่านหนึ่งเขียนว่า “ตอนนี้เป็นห่วงคนใช้เอไอ

วันก่อนผมไปเห็นโพสต์ของอาจารย์สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่สอนทางด้าน "เอไอ" บนโซเชียลมีเดียท่านหนึ่งเขียนว่า “ตอนนี้เป็นห่วงคนใช้เอไอที่ 1. เชื่อว่าทุกอย่างที่เอไอบอกเป็นเรื่องจริง ไม่ตรวจสอบ เชื่อหมดใจ และ 2. นำข้อมูลส่วนบุคคลป้อนให้เอไอ” อ่านแล้วนึกถึงกระแสเอไอที่กำลังมาแรงในบ้านเรา คนไทยใช้เอไอมากขึ้นแทบทุกเรื่อง จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าคนไทยมั่นใจเอไอมากเกินไปหรือไม่?

ผมค้นไปพบ “ผลสำรวจ AI Monitor 2024” ของบริษัท Ipsos ซึ่งสำรวจทัศนคติของผู้คนใน 32 ประเทศทั่วโลกเกี่ยวกับเทคโนโลยีเอไอรวมทั้งประเทศไทย การสำรวจนี้ดำเนินการโดย Ipsos ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Global Advisor ระหว่างวันที่ 19 เม.ย. - 3 พ.ค.2024 มีผู้เข้าร่วมการสำรวจทั้งสิ้น 23,685 คน จาก 32 ประเทศทั่วโลก

กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยประชากรประมาณ 1,000 คนในแต่ละประเทศหลักๆ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักร อิตาลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และไทย รวมถึงอีกประมาณ 500 คนในประเทศอื่นๆ โดยครอบคลุมกลุ่มอายุตั้งแต่ 16-74 ปี ข้อมูลได้รับการถ่วงน้ำหนักเพื่อให้สะท้อนลักษณะทางประชากรศาสตร์ของประชากรผู้ใหญ่ในแต่ละประเทศตามข้อมูลสำมะโนประชากรล่าสุด

ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ความรู้สึกของผู้คนต่อเอไอ ยังคงแบ่งเป็นสองขั้วระหว่างความตื่นเต้นและความกังวล โดยข้อมูลส่วนใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งอาจตีความได้ว่าทัศนคติของผู้คนต่อเอไออาจถึงจุดสูงสุดแล้ว หรืออาจเป็นเพียงการหยุดพักชั่วคราวก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งในอนาคต

ซึ่งเมื่อดูผลการสำรวจแล้วก็พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับสูงในหลายๆ ด้าน และอาจสะท้อนถึงข้อความที่อาจารย์ท่านนั้นโพสต์ว่าคนไทยเราเชื่อมั่นกับเอไอมากเกินไปหรือไม่ โดยมีผลสำรวจที่น่าสนใจในหลายๆ ด้าน ดังนี้

คนไทยมี ความเชื่อมั่นในความเข้าใจของตนเอง เกี่ยวกับเอไอสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 75% เชื่อว่าตนเองเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับเอไอ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 67% โดยมีอินโดนีเซีย (86%) เม็กซิโก (80%) เปรู (79%) แอฟริกาใต้ (76%) ที่อยู่ในอันดับที่สูงกว่า และฮังการี (75%) ซึ่งอยู่ในอันดับเท่ากัน

ด้าน ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้เอไอ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 69% ที่เห็นด้วยว่าพวกเขารู้ว่าผลิตภัณฑ์และบริการใดใช้เอไอสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 52% อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีเพียงจีน (81%) และอินโดนีเซีย (80%) ที่มีอัตราสูงกว่าไทย

ความรู้สึกตื่นเต้นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้เอไอ พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 2 ของโลก โดย 76% ของคนไทยรู้สึกตื่นเต้นกับผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้เอไอ รองจากจีน (80%) และเท่ากับอินโดนีเซีย (76%) ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามคนไทยมี 52% บอกว่ารู้สึกกังวลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้เอไอ ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ 50%

ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า คนไทยมีทัศนคติเชิงบวกต่อเอไอโดยมีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้เอไอสูง และมีความรู้สึกตื่นเต้นมากกว่าความรู้สึกกังวล ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ แต่แตกต่างจากประเทศในกลุ่มตะวันตกที่มีแนวโน้มจะกังวลมากกว่า

และหากมาดูผลสำรวจในด้านความไว้วางใจต่อเอไอ ก็ยิ่งไม่แปลกใจที่ผลสำรวจพบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับหนึ่งของโลก ที่เชื่อมั่นว่าบริษัทที่ใช้เอไอจะปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของเรา โดยผู้ตอบแบบสอบถามคนไทย 66%ตอบว่าเชื่อมั่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 47% อย่างมีนัยสำคัญ และมีเพียง 22% ที่ตอบว่าไม่เชื่อมั่น ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 41%

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามของคนไทย 73% มีความไว้วางใจว่าเอไอจะไม่เลือกปฏิบัติหรือแสดงอคติต่อกลุ่มคนใดๆ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 54% อย่างมีนัยสำคัญ โดยไทยอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก รองจากจีน (76%) เม็กซิโก (76%) และเปรู (74%) และมีเพียง 19% ของคนไทยที่ไม่เชื่อว่าเอไอ จะไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 36%

และที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ คนไทยถึง 69% เชื่อว่ามีความไปได้ที่เอไอจะมาทำงานแทนที่เราในอีก 5 ปีข้างหน้า สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยมี อินโดนีเซีย (66%) ตุรเคีย (63%) และมาเลเซีย (62%) อยู่ในอันดับรองลงมา ในขณะที่ค่าเฉลี่ยโลกอยู่เพียงที่ 26% เช่นเดียวกับประเทศในกลุ่มตะวันตกโดยเฉพาะในยุโรปจะมีความเชื่อเรื่องนี้ต่ำกว่ามาก

ดูผลการสำรวจแล้ว เหมือนว่าคนไทยให้ความไว้วางใจเอไอในระดับสูงเกินไป ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากทัศนคติเชิงบวกโดยรวมต่อเอไอของไทย และความคาดหวังต่อประโยชน์ที่จะได้รับ อย่างไรก็ตาม ก็อาจสะท้อนถึงความจำเป็นในการให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงและข้อควรระวังในการใช้เอไอ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการยอมรับเทคโนโลยีและการตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

คนในบ้านเรามักใช้เทคโนโลยีตามกระแสตลาด และบางครั้งก็ขาดความเข้าใจเทคโนโลยีอย่างแท้จริง อีกทั้งทุกวันนี้บ้านเราเริ่มมีผู้เชี่ยวชาญเอไอเยอะไปหมด ทั้งที่เอไอเป็นเรื่องค่อนข้างยากกว่าเทคโนโลยีอื่น ทำให้คนเข้าใจเอไออย่างผิดๆ และมีความเชื่อมั่นมากเกินไป อาจจำเป็นต้องให้ความรู้ความเข้าใจการใช้เอไออย่างถูกต้อง ที่สำคัญยิ่งควรต้องสร้างความตระหนักว่าอย่าไว้ใจเอไอหรือบริษัทที่ทำเอไอมากเกินไป โดยเฉพาะการป้อนข้อมูลส่วนบุคคลเข้าสู่ระบบเอไอ