สมเกียรติไทยแค่ไหน “ไบเดน” ส่งรอง ปธน.สหรัฐ ร่วม APEC 2022
เมื่อประธานาธิบดี "โจ ไบเดน" ตัดสินใจถี่ถ้วนแล้ว จะเข้าร่วมงานแต่งงานหลานสาวคนโต นาโอมิ ไบเดน ถือเป็นงานใหญ่ในทำเนียบขาวครั้งแรกรอบ 10 ปี ตรงวันที่ 19 พ.ย. ไทยจัดประชุมสุดยอด APEC 2022 โดยส่ง "คามาลา แฮร์ริส" ร่วมงานแทน จะสะท้อนความเหมาะสม และสัมพันธ์ของสหรัฐ - ไทยอย่างไร
กรุงเทพธุรกิจ มีโอกาสได้สนทนากับ “สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว” อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศและที่ปรึกษาพิเศษด้านการต่างประเทศของสำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เกี่ยวกับประเด็น “โจ ไบเดน” ผู้นำสหรัฐ ส่งรองประธานาธิบดี "คาเมลา แฮร์ริส" เดินทางร่วมประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ในวันที่ 18-19 พ.ย.นี้ จะสมเกียรติประเทศไทยแค่ไหน
สีหศักดิ์ กล่าวแสดงความเห็นในมุมมองนักการทูตว่า การที่รองประธานาธิบดี แฮร์ริส เดินทางมาร่วมประชุมเอเปคซัมมิต "ไม่เหมือน" เมื่อปี 2562 ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่ได้เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ แต่ส่ง โรเบิร์ด ซี. โอไบรอัน ผู้ช่วยประธานาธิบดีฝ่ายกิจการความมั่นคงแห่งชาติมาแทน
สำคัญที่ "แฮร์ริส" อนาคตการเมืองอีกไกล
ถ้าหากมองว่า โจ ไบเดน เป็นแฟมิลี่แมน ถือว่า มีความจำเป็นจริงๆ เพราะมีความหมายสำคัญยิ่งและพอทดแทนบางสิ่งที่ลึกซึ้งในครอบครัวของเขา ขณะที่ไบเดนเองจะเดินทางมาร่วม ประชุมจี 20 ที่จัดขึ้นในภูมิภาคนี้อยู่แล้ว ส่วนตัวมองว่า ส่งแฮร์ริสมาแทน “ก็ทดแทนได้”
“อยากให้มองอนาคตทางการเมืองของรองปธน.แฮร์ริสที่ยังไปอีกไกล หลังการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ ซึ่งอาจจะส่งผลดีต่อไทยด้วยซ้ำไป” ทูตสีหศักดิ์บอก
นโยบายสหรัฐต่อไทย ผ่านเลนส์แข่งขันจีน
จุดห่วงกังวลที่เหนือไปกว่าเรื่องนี้คือ "สหรัฐชอบมองไทยและอาเซียนผ่านเลนส์การแข่งขันกับจีน หรือก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในอดีต "เราจะสำคัญก็ต่อเมื่อเป็นพันธมิตรต่อต้านจีน หรือเป็นพันธมิตรต่อสู้กับการก่อการร้าย"
ในมุมมองของทูตสีหศักดิ์ เห็นว่า สหรัฐควรมียุทธศาสตร์ต่ออาเซียนและต่อไทยบนผลประโยชน์ที่สหรัฐโฟกัสแค่ไทยหรืออาเซียน มิฉะนั้นแล้ว เมื่อความสัมพันธ์ของไทย-จีนดีขึ้นเรื่อยๆ สหรัฐก็อาจจะยิ่งถอยออกไปก็ได้ เพราะให้ความสำคัญกับไทยและอาเซียนลดลงก็ได้
"สำหรับผมไม่แน่ใจในกรณีความเป็นพันธมิตรที่ยั่งยืนของสหรัฐ เพราะมีเรื่องการเมืองภายในเข้ามาแทรกซ้อน อย่างที่จะเห็นในอดีตว่าสมัยสงครามเย็น เราร่วมมือเต็มที่กับฝ่ายสหรัฐ เปิดให้ใช้พื้นที่ในสนามบินอู่ตะเภานำเครื่องบิน B-52 นำไปทิ้งระเบิดที่เวียดนาม
จับทิศทาง นโยบายสหรัฐต่อไทย ในรอบครึ่งศตวรรษ
พอมาวันนึง ในการเลือกตั้งสหรัฐ ทางปธน.ริชาร์ด มิลเฮาส์ นิกสัน ก็บอกว่า เราปรับความสัมพันธ์กับจีนแล้ว สหรัฐถอนทหารออกจากเวียดนามได้ไม่ได้ทำให้เสียสถานะอะไร เสร็จแล้วหลังจากนั้น ก็ปล่อยให้จีนดูแลภูมิภาคนี้ และเมื่อมีปัญหากับกัมพูชา สหรัฐก็ร่วมมือกับจีน และเปิดโอกาสให้จีนมีบทบาทนำ" ทูตสีหศักดิ์เล่าและกล่าวว่า เพราะตอนนั้นสหรัฐมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนและ “ไม่คิดว่าจีนเป็นภัย” ขณะที่ตอนนั้นสหรัฐไปให้ความสำคัญกับตะวันออกกลาง
"จีน" ไม่เป็นตามทฤษฎี "สหรัฐ" มองไว้
แต่เมื่อเริ่มเห็นท่าว่าจีน ไม่เป็นไปตามทฤษฎีที่สหรัฐคิดอยู่คือจีนการเปิดประเทศ เศรษฐกิจเริ่มมาและเติบโตไปไกล จะเห็นว่า ในสมัยปธน.บารัก โอบามาได้ประกาศให้ความสำคัญกับเอเชีย (favorite Asia)
ส่วน ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ก็มาอีกแนวหนึ่งจนพันธมิตรตามไม่ทัน กระทั่งปัจจุบันสมัยประธานาธิบดีไบเดน ก็กลับมาในแนวทางหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่า ตอนนี้ "สหรัฐกำลังหาทางร่วมกับจีนหรือหาดุลยภาพใหม่" แต่สถานการณ์ปัจจุบันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นซะเสียทีเดียว เพราะจะเห็นว่า 50% ของปัญหาความขัดแย้งที่สหรัฐมีต่อจีนเป็นเรื่องการเมืองภายในประเทศของสหรัฐเอง
โลกแบ่งขั้ว เราต้องพึ่งพาตัวเองให้มาก
"ทั้งฝั่งเดโมแครตและริพับลิกัน มองจีนเป็นภัยคุกคาม รวมถึงอเมริกันที่ตกงานก็โทษจีน ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของจีน แต่เป็นปัญหาจากเอกชน หรือการนำออโตเมชั่นมาทำงานแทนคน ดังนั้นจะเห็นว่า จีนเป็นปัจจัยหนึ่งและมีความสำคัญต่อการเมืองภายในของสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนได้เตรียมตัวแข่งขันกับสหรัฐไว้แล้วในระยะลองเทอม และคิดว่าคงพึ่งพาสหรัฐไม่ได้ กลับกันมีแต่จะหวาดระแวง เพราะสหรัฐก็มีท่าทีแบ่งขั้วมากขึ้น และในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางเศรษฐกิจจีน มองว่าต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้นจะดีกว่า
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า งานแต่งงานของ นาโอมิ ไบเดน หลานสาวคนโตของประธานาธิบดีสหรัฐ กับนายปีเตอร์ นีล คู่หมั้น ตรงกับวันที่ 19 พ.ย. โดยถือเป็นการแต่งงานในทำเนียบขาวครั้งแรกในรอบ 10 ปี