‘โลกร้อน’ กระทบไร่องุ่น ธุรกิจแชมเปญหรู ต้องดิ้นรนหาทางรับมือ
เมื่อยุโรปเผชิญปัญหาโลกร้อน อุณหภูมิสูง ทำให้องุ่นเปลี่ยนรสชาติ กระทบไปถึงผู้ผลิตแชมเปญต้องเร่งหาวิธีรับมือ หากฝรั่งเศสปลูกองุ่นเพื่อผลิตแชมเปญไม่ได้อีกต่อไป...
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีเผยว่า แชมเปญ เครื่องดื่มที่เป็นไฮไลต์สำคัญของการเฉลิมฉลอง และการใช้ชีวิตหรูหรามาหลายร้อยปี กำลังมีความเสี่ยง เนื่องจากอุณหภูมิที่ร้อนมากขึ้นในทวีปยุโรป และสภาพอากาศที่แปรปรวนสูง สร้างความกังวลว่า ภูมิภาคที่ผลิตแชมเปญของฝรั่งเศส อาจไม่เหมาะต่อการผลิตแชมเปญอีกต่อไป
- แดดเผา รสองุ่นเสีย
รายงาน S&P Global Sustainable1 เผยว่า ภูมิภาคที่ผลิตแชมเปญ เริ่มมีความเสี่ยงทางกายภาพ เนื่องจากภัยแล้งอาจขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ภายในทศวรรษ 2050
รายงานดังกล่าว ให้คะแนน 1-100 ในแต่ละภูมิภาคเกี่ยวกับความเสี่ยงทางกายภาพ โดยคะแนน 100 หมายความว่า มีความเสี่ยงสูงสุด ซึ่งในรายงาน ระบุว่า ความเสี่ยงเกิดภัยแล้งต่อแชมเปญอาจเพิ่มขึ้นจากระดับคะแนน 16 เป็น 43 ภายในทศวรรษ 2050 และอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า สู่ระดับ 88 คะแนน ภายในทศวรรษ 2090 ถ้านโยบายสภาพอากาศในปัจจุบันไม่มีการเปลี่ยนแปลง
“แม็ตต์ ฮอดจ์สัน” ผู้ก่อตั้ง Grape Britannia บริษัทค้าปลีกไวน์อังกฤษ เตือนว่า ถ้าองุ่นได้รับรังสียูวีที่รุนแรงมากเกินไป เท่ากับองุ่นเหมือนถูกแดดเผาเช่นเดียวกับเรา ทำให้องุ่นเสียรสชาติ และความร้อนก็จะเปลี่ยนความเป็นกรดขององุ่น ซึ่งเป็นส่วนที่ให้ความสดใหม่กับแชมเปญ
“แซนดรีน ซอมเมอร์” ประธานเจ้าหน้าที่ด้านความยั่งยืนของแบรนด์ไวน์ Moët Hennessy ธุรกิจในเครือ LVMH บอกว่า บริษัทกำลังดำเนินการปรับตัวกับปัญหาดังกล่าวอยู่
- วิธีผลิตแชมเปญต้องปรับ
กฎแชมเปญที่รู้จักกันดีคือ แชมเปญต้องผลิตในภูมิภาคแชมเปญของฝรั่งเศส แต่กฎที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเฉพาะของไร่องุ่นมีเยอะมาก ทั้งการหาองุ่นจากพื้นที่อื่น การบดองุ่น และใช้องุ่นพันธุ์คัดเฉพาะ
การใช้สารกำจัดศัตรูพืช และการเพิ่มกรดให้องุ่นก็ถือเป็นข้อห้าม แต่ธุรกิจแชมเปญสามารถปรับวิธีการผลิตภายใต้กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดต่อไปได้
“แคลร์ ซาราซิน” โฆษกจากแชมเปญแบรนด์ Taittinger บอกว่า
“20 ปีก่อน ไร่องุ่นทำการเก็บเกี่ยวช่วงสิ้นเดือนก.ย. และต้นเดือนต.ค. แต่ตอนนี้ ธุรกิจแชมเปญ ต้องเก็บเกี่ยวองุ่นช่วงสิ้นเดือนส.ค. และต้นเดือนก.ย. เนื่องจากอุณหภูมิสูง ทำให้แชมเปญมีรสหวานขึ้น”
ซาราซิน คิดว่า ผู้บริโภคไม่อยากมีน้ำตาลในเครื่องดื่มเพิ่ม แม้ประเด็นนี้ไม่เป็นปัญหามากนัก แต่ยังเป็นเรื่องที่ธุรกิจต้องใส่ใจ
- นักวิจารณ์ชี้ รสแชมเปญเปลี่ยน
นักวิจารณ์หลายคนบอกว่า แชมเปญบางแบรนด์ รสชาติต่างจากแชมเปญที่พวกเขาเคยดื่มเมื่อหลายปีก่อน
“ทอม ฮิวสัน” นักวิจารณ์แชมเปญบอกว่า แชมเปญจำนวนมากมีความสุกงอมมากขึ้น มีฟองใกล้เคียงกับไวน์ขาวอื่นๆ และเหมือนไวน์ใสมากขึ้น
ด้าน “ซูซี่ แอตกินส์” นักวิจารณ์ไวน์ ก็พบว่ารสชาติแชมเปญเปลี่ยนไปในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา และคนที่เคยชิมไวน์อายุ 50 ปี ชี้ว่า สไตล์แชมเปญมีความหรูหรามากขึ้น
- อนาคตแชมเปญ
โรงผลิตแชมเปญต่างหาสารพัดวิธีเพื่อรักษาอนาคตของธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ไว้ ซึ่งรวมถึงมองหาพื้นที่ ที่มีสภาพอากาศคล้ายฝรั่งเศส
ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ Taittinger เป็นโรงผลิตแชมเปญแห่งแรกที่ลงทุนสปาร์กกลิ้งไวน์อังกฤษในปี 2558 จากนั้นแบรนด์แชมเปญ Pommery ลงทุนเครื่องดื่มชนิดนี้เช่นกันในปี 2559 แต่ธุรกิจดังกล่าวยังคงรักษาความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในฝรั่งเศส และอังกฤษอยู่
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ ที่แชมเปญไม่อาจผลิตในภูมิภาคแชมเปญของฝรั่งเศสได้ต่อไป Taittinger บอกว่า บริษัทมองในแง่ดีมากกว่านั้น และสมาคมตัวแทนผู้ผลิตแชมเปญ กำลังหาวิธีรับมือหลายอย่าง เช่น การพัฒนาพันธุ์องุ่นใหม่
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสมาคมยังไม่สามารถหาพันธุ์องุ่นที่ตรงกับมาตรฐานสำคัญระดับสูงในการผลิตแชมเปญได้
ขณะที่ ฟิลิปป์ เชาส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแบรนด์ไวน์ Moët Hennessy เผยกับเทเลกราฟ ว่า บริษัทยังไม่สนใจทำไร่องุ่นในอังกฤษ
ทั้งนี้ กฎการผลิตแชมเปญที่เข้มงวดมากมาย สามารถนำไปปรับใช้ในภูมิภาคที่อยากทำธุรกิจนี้ได้ แต่ผลผลิตจะเป็นแชมเปญแบบที่เรารู้จักหรือไม่?
ฮอดจ์สัน ผู้ก่อตั้งบริษัทไวน์อังกฤษ Grape Britannia บอกว่า
“ถ้าเปลี่ยนกฎการผลิตต่างๆ แชมเปญในพื้นที่อื่นๆ อาจเป็นอะไรแปลกใหม่ และดีก็ได้ แต่ถ้าชอบแชมเปญแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ แชมเปญเหล่านั้นคงไม่ใช่แชมเปญแบบปัจจุบัน”
และว่า ถ้าต้องเลือกขยายพื้นที่ปลูกองุ่นหรือเปลี่ยนพื้นที่ปลูก ใครจะทราบว่าผู้ผลิตแชมเปญจะเลือกองุ่นจากที่ใด นั่นอาจเป็นการฆ่าตัวตาย ไม่ใช่การพิจารณาหาทางเลือกอื่น
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์