มองสงครามที่มีใน "อเมริกาเหนือ" | ไสว บุญมา
ปราชญ์แนะว่าถ้ามองตามสายตาเขา เราจะเห็นมนุษย์ทำสงครามหลายด้านพร้อมกันอยู่ อย่างไรก็ดี เมื่อเอ่ยถึงสงครามในช่วงนี้ ผู้คนโดยทั่วไปคงนึกถึงยูเครนกับฉนวนกาซา และไม่คิดว่าใน อเมริกาเหนือ จะมีสงครามอยู่ด้วย
ทั้งนี้เพราะสงครามตามนิยามของผู้คนโดยทั่วไปหมายถึงสภาวะที่มนุษย์จับอาวุธขึ้นมาฆ่าฟันกันท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัฐ ระหว่างประเทศ หรือระหว่างบุคคลกลุ่มใหญ่
ส่วนนิยามของปราชญ์กว้างกว่านั้น นั่นคือ นอกจากจะทำสงครามตามนิยามดังกล่าวแล้ว มนุษย์ยังทำสงครามกันทางด้านความคิดและทำกับธรรมชาติและกับตนเองอีกด้วย
ในช่วงเวลานี้ ไม่มีสงครามตามนิยามของผู้คนโดยทั่วไปในทวีปอเมริกาเหนือ แต่สงครามด้านความคิดกับสงครามกับธรรมชาติและกับตนเองกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นและกว้างขวาง
สงครามด้านความคิดในช่วงนี้มีอยู่ในสหรัฐ ซึ่งประชาชนแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายที่ต้องการใช้ระบอบประชาธิปไตยที่ใช้กันมาตั้งแต่วันก่อตั้งประเทศบริหารจัดการประเทศต่อไป กับฝ่ายที่ต้องการปรับระบบนั้นให้ใกล้กับระบบเผด็จการที่จีนและรัสเซียใช้อยู่
ฝ่ายแรกนำโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งลงสมัครให้ชาวอเมริกันเลือกในตอนปลายปีนี้ เพื่อดำรงตำแหน่งต่อไปเป็นสมัยที่ 2 อีก 4 ปี ฝ่ายหลังนำโดยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งพ่ายแพ้แก่นายไบเดนในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
เป็นไปได้ว่าสงครามทางความคิดนี้จะสร้างความแตกแยกร้ายแรงเพิ่มขึ้นในสังคมอเมริกัน จนเป็นสงครามจำพวกจับอาวุธขึ้นมาฆ่าฟันกัน ทั้งนี้เพราะฝ่ายนายทรัมป์ได้ประกาศออกมาว่าจะไม่รับผลการเลือกตั้งที่ฝ่ายตนมองว่าไม่ยุติธรรม
การประกาศเช่นนั้นถูกตีความหมายว่า ถ้านายทรัมป์แพ้เขาจะไม่ยอมรับผลการลงคะแนน และจะปลุกปั่นชาวอเมริกันที่สนับสนุนเขาให้จับอาวุธขึ้นทำลายฝ่ายตรงข้าม เรื่องนี้มีความเป็นไปได้สูงมากหากดูจากเหตุการณ์หลังการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
กล่าวคือ หลังจากการนับคะแนนชี้ชัดว่านายทรัมป์แพ้และเขาโวยวาย ชาวอเมริกันกลุ่มใหญ่บุกเข้าไปในรัฐสภาเพื่อขัดขวางการรับรองผลการเลือกตั้ง เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้ใช้อาวุธและมีผู้เสียชีวิต
การจับอาวุธขึ้นทำลายฝ่ายตรงข้ามจนเป็นสงครามกลางเมืองไม่ใช่สิ่งใหม่ในสหรัฐ ย้อนไปในสมัยที่ประเทศยังมีทาส ความแตกต่างทางความคิดระหว่างรัฐที่ต้องการรักษาระบบทาสไว้ กับรัฐที่ไม่ต้องการทาสนำไปสู่สงครามระหว่างรัฐต่างๆ เป็นเวลาหลายปียังผลให้มีความเสียหายมหาศาล
ด้านสงครามกับธรรมชาติในช่วงนี้มี 2 สมรภูมิหลักๆ กล่าวคือ การต่อสู้กับ “ภาวะอากาศร้อน” แบบตับแตกเกือบทั่วประเทศซึ่งไม่เคยมีมาก่อน และการต่อสู้กับ “ไฟป่า” หลายแห่งโดยเฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนีย
ปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้เกิดสงครามทั้งสองด้านนี้มีที่มาจากภาวะโลกร้อน ซึ่งมนุษย์ทั่วไปทำให้เกิดขึ้น โดยการผลิตพลังงานด้วยการเผาผลาญถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ
สงครามนี้มีสมรภูมิใหม่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ อีกไม่นานจะเข้าฤดูกาลลมพายุ ซึ่งจะเกิดที่ไหน ด้วยแรงลมสูงเท่าไรและจะเกิดความเสียหายเท่าไร ไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้าเป็นเวลานาน
ด้านสงครามกับตนเอง ชาวอเมริกันโดยทั่วไปไม่ต่างกับชาวโลกส่วนใหญ่ที่ไม่ตระหนักว่า อาจมีสงครามด้านนี้อยู่ในจิตใจของบางคน หรือตนได้ยอมจำนนต่อคู่ต่อสู้โดยไม่รู้ตัวแล้ว
คู่ต่อสู้ได้แก่ “กิเลส” ซึ่งผู้ตระหนักส่วนใหญ่อยู่ในภาคพื้นเอเชียตะวันออก ปราชญ์สอนว่าถ้ามนุษย์เอาชนะสงครามด้านนี้ไม่ได้ พวกเขาไม่มีทางที่จะชนะสงครามด้านอื่นแบบถาวร
คำสอนนี้ได้เข้าไปแพร่กระจายในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผ่านวัดศาสนาพุทธของชาวไทยที่อพยพไปอยู่ในประเทศนั้น
หากดูจากจำนวนและกิจกรรมของวัดและพระไทย เป็นที่ประจักษ์ว่าชาวอเมริกันสนใจในคำสอนและนำไปปฏิบัติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันวิถีอเมริกันอันมีการบริโภค (ตามนิยามของวิชาเศรษฐศาสตร์) เป็นตัวนำ ก็พยายามจะกลืนวัดและพระไทยไปพร้อมกัน
สหรัฐมีความสามารถในด้านการหลอมรวมสิ่งใหม่ วัดและพระไทยอยู่ในข่ายถูกหลอมรวมด้วย
ในปัจจุบัน ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยังไม่สนใจในการเอาชนะใจตนเอง โอกาสที่จะชนะสงครามด้านอื่นจึงไม่มี.