นักท่องเที่ยวฉ่ำ แต่คนญี่ปุ่นช้ำ ‘เยนดิ่ง-เงินเฟ้อพุ่ง’ ฉุดอำนาจซื้อวูบ
‘เงินเยนอ่อนค่า-เงินเฟ้อพุ่ง’ อาจช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นที่กำลัง ‘ถูกลง’ ในสายตาคนต่างชาติ แต่สำหรับคนญี่ปุ่นกลับต้องใช้ชีวิตที่ ‘แพงขึ้น’ ในรอบหลายสิบปี พบครัวเรือนจ่ายค่าอาหารแพงขึ้นปีละ 2 หมื่นบาท
สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า สถานการณ์เงินเยนอ่อนค่าและเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ "อำนาจซื้อ" (purchasing power) ของญี่ปุ่นลดลงต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยสะท้อนผ่านครัวเรือนญี่ปุ่นที่มีค่าใช้จ่ายต่อปีเพิ่มขึ้นถึงกว่า 90,000 เยน (ราว 2 หมื่นบาท) เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงต่อเนื่องในปีนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.ค.อ่อนค่าลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 38 ปีอีกครั้งที่ 161.745 เยนต่อดอลลาร์
ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ค่าเงินเยนมีอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง (real effective exchange rate) ใกล้เคียงกับระดับต่ำสุดเท่าที่เคยมีมาเนื่องจาก “อัตราดอกเบี้ย”และ “เงินเฟ้อ” ของญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศคู่ค้าสำคัญ ส่งผลต่อความน่าดึงดูดของการถือครองเงินเยน และเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้ต้นทุนการซื้อสินค้าจากต่างประเทศแพงขึ้นโดยเฉพาะอาหารและพลังงาน ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง
ไซสึเกะ ซากาอิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำมิซูโฮ รีเสิร์ช แอนด์ เทคโนโลยีประเมินว่า ภาระค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น 90,000 เยนหรือประมาณ 2 หมื่นบาทจากปีก่อน ถ้าหากค่าเงินเยนยังคงอยู่ที่ระดับ 160 เยนต่อดอลลาร์ต่อไป แม้ว่าจะมีมาตรการในการรับมือกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นก็ตาม
ญี่ปุ่นเสียเปรียบในการแข่งขันนำเข้า
อำนาจในการซื้อที่ลดลงยังส่งผลเสียต่อการแข่งขันเพื่อซื้อ “สินค้านำเข้า” เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ บรรดาร้าน “กิวด้ง” หรือข้าวหน้าเนื้อซึ่งเป็นอาหารจานด่วนยอดนิยมของญี่ปุ่น กำลังหาเมนูจาก “เนื้อวัวสหรัฐ” ได้ยากขึ้น เนื่องจากผลผลิตเนื้อวัวสหรัฐที่ลดลงส่งผลให้ราคาขายแพงขึ้นถึง 30% ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี ประกอบกับเงินเยนอ่อนค่าส่งผลต่อต้นทุนการนำเข้ายิ่งสูงขึ้น จนบริษัทนำเข้าของญี่ปุ่นแข่งขันกับราคาไม่ไหว
โซจิทซ์ ฟู้ดส์ เป็นหนึ่งในบริษัทนำเข้าที่ประสบปัญหาในการนำเข้าเนื้อวัวสหรัฐ โดยบริษัทเผยว่า ”ประเทศอื่นๆ กำลังกว้านซื้อเนื้อวัวในราคาที่บริษัทไม่สามารถซื้อได้" สอดคล้องกับข้อมูลการนำเข้าเนื้อวัวสหรัฐระหว่างเดือน ม.ค.-เม.ย. ที่ลดลง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ราคาวัตถุดิบอาหารที่แพงขึ้นยังรวมถึงราคาส่งเนื้อหมูนำเข้าจากยุโรปที่พุ่งสูงขึ้นประมาณ 40% ภายในระยะเวลา 1 ปี ในขณะที่ราคาปลาแซลมอนนอร์เวย์ก็เพิ่มขึ้นถึง 40% ภายในระยะเวลา 3 ปี ส่งผลให้ร้านอาหารซูชิสายพานบางแห่ง จำเป็นต้องหันไปใช้ปลาแซลมอนคุณภาพต่ำกว่าเดิมเป็นวัตถุดิบแทน
ผลกระทบที่ตามมาหากครัวเรือน “ประหยัด”มากขึ้น คือ ภาวะการบริโภคภายในประเทศอาจหดตัวลง
แม้ว่าพนักงานในญี่ปุ่นมีแนวโน้มได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนมากที่สุดในรอบกว่า 30 ปี หลังการเจรจาต่อรองค่าแรงประจำปี (ชุนโต) บรรลุข้อตกลง โดยสมาชิกของสหภาพแรงงานเรนโกจำนวน 7 ล้านคน จะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนเฉลี่ย 5.28% สำหรับปีงบการเงิน 2567 ในขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ประกาศจะปรับขึ้นค่าแรง เพื่อช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอต่อค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ดูเหมือนเงินเฟ้อจะรุนแรงกว่าการปรับขึ้นค่าแรงมาก ส่งผลให้ประชาชนยังคงประสบปัญหาในการจ่ายค่าใช้จ่าย
นายกรัฐมนตรี ฟุมิโอะ คิชิดะ ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะมีการให้เงินอุดหนุนค่าไฟและก๊าซเพิ่มเติมตั้งแต่เดือน ส.ค.-ต.ค.นี้ เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ดี เงินเยนที่อ่อนค่าส่งผลดีต่อ “ภาคการท่องเที่ยว” มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหล ตามแรงดึงดูดจากเยนอ่อนและมีราคาไม่แพง ทางญี่ปุ่นคาดว่าจะต้อนรับนักท่องเที่ยว 34 ล้านคนในปี 2567 มากกว่าปี 2561 หลังจากที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายเงิน 1.75 ล้านล้านเยนในไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินเยนยังส่งผลดีต่อศักยภาพการแข่งขันของสินค้าส่งออกจากญี่ปุ่น โดยทฤษฎีแล้วสินค้าญี่ปุ่นควรมีราคาถูกลงเมื่อเทียบกับสินค้าจากประเทศอื่นๆ กระตุ้นให้ผู้บริโภคต่างประเทศซื้อสินค้าญี่ปุ่นมากขึ้น แต่ทว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับไม่ได้รับประโยชน์จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ผลิตได้ย้ายการผลิตไปต่างประเทศมากขึ้น