หนุ่มสาวจีน ออมเงินแก้แค้น สวนทาง GenZ ทั่วโลกสะสมหนี้

หนุ่มสาวจีน ออมเงินแก้แค้น   สวนทาง GenZ ทั่วโลกสะสมหนี้

การใช้จ่ายเงินให้หนำใจหลังโควิด-19 ระบาด ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่ในจีนกำลังเกิดปรากฏการณ์สวนทางสุดๆ เพราะหนุ่มสาวจีนกำลังออมเงินให้หนำใจ

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานว่า แทนที่จะเห็นปุ๊บซื้อปั๊บ ตอนนี้หนุ่มสาวจีนกำลังเก็บเงินแบบเอาเป็นเอาตาย เนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกยังคงฝืดเคือง

การออมเงินแก้แค้นกำลังกลายเป็นเทรนด์ในโซเชียลมีเดียจีน เมื่อคนหนุ่มสาวตั้งเป้าออมเงินรายเดือนสุดโหด

หญิงสาว วัย 26 ปี ผู้ใช้นามเจ้ยเจ้ยน้อย เผยว่า เธอพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายรายเดือนไม่ให้เกิน 300 หยวน (1,530 บาท) คลิปวีดิโอล่าสุดเผยให้เห็นเธอลดค่าอาหารประจำวันเหลือแค่ 10 หยวน (51 บาท)

ส่วนคนอื่นๆ กำลัง “จับคู่เก็บเงิน” บนโซเชียลมีเดีย คนเหล่านี้ตั้งวงเก็บเงินขึ้นมาเพื่อสร้างหลักประกันว่าสมาชิกในกลุ่มจะยึดมั่นในเป้าหมายการเก็บเงิน มาตรการการออมที่ใช้ เช่น รับประทานอาหารในโรงอาหารชุมชนที่ปกติมักเป็นที่ของคนสูงวัย เนื่องจากขายอาหารสดในราคาค่อนข้างถูก

“หนุ่มสาวจีนมีแนวคิดออมเงินแก้แค้น ไม่เหมือนหนุ่มสาวยุคทศวรรษ 2010 ที่มักจ่ายมากกว่าหาได้ และยืมเงินมาซื้อของหรู เช่น กระเป๋ากุชชี่ มือถือไอโฟน ตอนนี้คนจีนหนุ่มสาวเริ่มออมมากขึ้น” ฉวนเหริน กรรมการผู้จัดการไชนามาร์เก็ตรีเสิร์ชกรุ๊ปกล่าว

อีกหนึ่งสัญญาณบ่งบอกว่าคนรุ่นใหม่ควบคุมการใช้จ่ายมากขึ้นคือเทรนด์ที่ถูกพูดถึงในโซเชียลมีเดีย เช่น “สวนกระแสการบริโภค” หมายถึง มีสติมากขึ้นเพื่อลดการใช้จ่าย และ “เศรษฐกิจมัธยัสถ์” หมายถึง พยายามหาดีลสินค้าลดราคา

สิ่งนี้ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับคนหนุ่มสาวทั่วไปโดยเฉพาะ GenZ ผู้เกิดระหว่างปี 2540-2555 ที่มีรายงานว่ายอมเป็นหนี้เพื่อนำเงินมาใช้จ่าย เช่น การท่องเที่ยว

รายงานดัชนีความมั่งคั่งจัดทำโดยIntuit ชี้ว่า แทนที่จะลดรายจ่ายเพื่อไปเพิ่มเงินออม คน GenZ 73% ในสหรัฐกล่าวว่า พวกเขาชอบมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมากกว่ามีเงินเพิ่มในธนาคาร

  • ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก‘ประหยัด’

แล้วทำไมหนุ่มสาวจีนต้องระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

“คนหนุ่มสาวอาจรู้สึกเหมือนคนอื่นๆ ว่า เศรษฐกิจไม่ดีนัก” คริสโตเฟอร์ เบดเดอร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการแผนกวิจัยจีน บริษัทGavekal Dragonomics ให้ความเห็น

หากพิจารณารายงานล่าสุดจากธนาคารประชาชนจีน พบว่า ยอดรวมเงินฝากสกุลเงินหยวนของครัวเรือนในไตรมาสแรกของปีนี้เติบโต 11.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี

แม้ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสหนึ่งเหนือความคาดหมาย ขยายตัว 5.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่คาดการณ์ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2568 ขยายตัว 4.5%

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวด้วยว่า ตัวเลขจีดีพีเมื่อผสมโรงกับตลาดแรงงานตึงตัวยิ่งซ้ำเติมคนหนุ่มสาว

“ผู้คนไม่ยอมใช้เงินเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงที่นี่ สำหรับหนุ่มสาวบางคน มันเป็นเพราะพวกเขาไม่มีงานทำ หรือเพิ่มรายได้ยากขึ้น จึงไม่มีทางเลือกนอกจากจ่ายเงินให้น้อยลง” เจียเหมี่ยว ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากเอ็นวายยูเซี่ยงไฮ้กล่าว

ทั้งนี้ อัตราการว่างงานของผู้มีอายุระหว่าง 16-24 ปี ในเดือน พ.ค.อยู่ที่ 14.2% สูงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่ 5% แม้ไม่มีสถิติทางการของค่าจ้างรายเดือนของผู้ไม่จบมหาวิทยาลัย แต่งานวิจัยชิ้นหนึ่งเผยแพร่ในสื่อท้องถิ่นพบว่า ปี 2566 อยู่ที่ 6,050 หยวน (30,855 บาท) เพิ่มขึ้น 1% จากปี 2565

“ความเชื่อมั่นและความกล้าหาญในตัวคนหนุ่มสาวหายไป ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าพวกเขาจะรู้สึกอยากใช้จ่ายให้หนำใจ” เหรินสรุป หนุ่มสาวจีน ออมเงินแก้แค้น   สวนทาง GenZ ทั่วโลกสะสมหนี้