‘AI’ กับ'มนุษย์' ใครจะแนะนำการลงทุนได้ดีกว่ากัน?

‘AI’ กับ'มนุษย์' ใครจะแนะนำการลงทุนได้ดีกว่ากัน?

AI ช่วยวิเคราะห์หุ้นฉับไว-ครบถ้วน ราวกับ‘บัฟเฟตต์’ อ่านหนังสือลงทุน 500 หน้าในเวลาไม่กี่วินาที แต่ระวังข้อมูลเท็จ ‘AI หลอน’ จนอาจสูญเงิน สรุปแล้ว AI กับผู้จัดการกองทุนที่เป็น'มนุษย์' ใครจะแนะนำการลงทุนได้ดีกว่ากัน?

ในปัจจุบัน “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI ถูกนำมาใช้ในหลายๆ ด้าน รวมไปถึง “การลงทุน”เพราะ AI อย่าง ChatGPT ก็สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากในราคาไม่แพงหรือถูกกว่าการใช้บริการจากผู้จัดการกองทุน แต่ทว่ากลยุทธ์การลงทุนที่มาจาก AI แค่ด้านเดียวอาจไม่เพียงพอ ดังนั้นจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์และเข้าใจตลาดมาควบคุมดูแล AI อีกที

“เอ็ดเวิร์ด มอร์ริส” นักธุรกิจด้านเทคโนโลยีของอินิกมาติกา (Enigmatica)  สามารถทำกำไรจากหุ้น Arm หุ้นผู้ผลิตชิปได้ถึง 30% ซึ่งเป็นการลงทุนที่สร้างผลกำไรสูงสุดจนถึงปัจจุบัน จากการใช้กลยุทธ์จาก AI อย่าง ChatGPT  ล้วนๆ ในการวิเคราะห์การลงทุนอย่างรอบคอบ

การวิเคราะห์หุ้นง่ายขึ้นเพราะ  AI 

ในอดีต มอร์ริสเคยปรึกษาที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อช่วยเหลือในการลงทุน แต่บริการเหล่านี้มี “ราคาแพง” และเริ่มเห็นศักยภาพของ AI ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา  มอร์ริสเลยลองใช้ให้ AI ช่วยอธิบายเรื่องความเข้าใจในการลงทุนและช่วยระบุความผิดปกติในใบแจ้งยอดธนาคาร เสหมือนว่า AI เป็นนักวางแผนการเงินมนุษย์คนหนึ่ง

"ChatGPT ทำให้ผมมีที่ปรึกษาทางการเงินอยู่ในกระเป๋าตลอดเวลา ที่ผมสามารถพูดคุยและขอคำแนะนำได้ จากก่อนหน้านี้การวิเคราะห์การลงทุนเคยเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานหลายวันของบริษัทการเงิน”

มอร์ริส เผยวิธีใช้ AI ในการลงทุนที่เขาเอ่ยปากบอกว่า “ง่ายแสนง่าย” เริ่มขั้นตอนแรกขอด้วยการหาหุ้นที่น่าลงทุน จากนั้นวิเคราะห์การลงทุนอย่างรอบคอบ โดยยิงคำถามเกี่ยวกับประวัติบริษัท กิจกรรมปัจจุบันการดำเนินงานในตอนนี้และผลประกอบการทางการเงิน รวมถึงข่าวเสียๆหายๆไปยัง ChatGPT

หลังจากนั้นแชทบอทจาก AI จะสรุปข้อมูลเหล่านี้ และประเมินผลการดำเนินงานของหุ้นว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้ผู้คน "ลงทุนอย่างชาญฉลาด" โดยไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ให้กับบริษัทที่ปรึกษาการจัดการความมั่งคั่งมืออาชีพหรือผู้เชี่ยวชาญ

AI ผู้ช่วยคู่ใจนักจัดการความมั่งคั่ง

แม้ว่า AI ยังไม่ใช่เครื่องมือที่ถูกพิสูจน์แล้วว่าเหมาะสำหรับนักลงทุนรายบุคคล แต่มอร์ริส เชื่อว่า นักจัดการความมั่งคั่งสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ เช่นการทำงานที่ใช้เวลานานแทน  

“ถ้าคุณเป็นนักจัดการความมั่งคั่ง ผมแนะนำให้เรียนรู้วิธีใช้ ChatGPT อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ อย่าแค่ลองเล่นแป๊บเดียวแล้วเลิก มันสามารถช่วยให้ผู้คนประหยัดเวลาไปได้หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน”

ธนาคารมอร์แกนสแตนลีย์เป็นหนึ่งในธุรกิจการเงินการลงทุนที่ปรับตัวตามยุคของ AI โดยได้พัฒนาและเปิดตัวผู้ช่วยอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยี AI ชื่อว่า AI @ Morgan Stanley Assistant ที่มีพื้นฐานการทำงานจาก OpenAI ซึ่งช่วยให้นักวางแผนการเงินของธนาคารสามารถค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากฐานข้อมูลภายในที่มีเอกสารมากกว่า 100,000 รายการ

“แพทริค บิ้กส์” หนึ่งในนักวางแผนการเงินที่ใช้ประโยชน์จาก AI  เพื่อช่วยให้ทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น สำหรับการค้นหาและดึงข้อมูลภายในองค์กรมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยประหยัดเวลา ทำให้นักวางแผนการเงินมีเวลามากขึ้นในการดูแลลูกค้า พร้อมกับสามารถปรับตัวได้รวดเร็วตามทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดและนโยบายภายในองค์กร

"ก่อนที่จะมีเทคโนโลยีนี้ ผมต้องค้นหาข้อมูลที่ต้องการจากเอกสาร PDF และเอกสารวิจัยจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกระบวนการต่างๆมีการเปลี่ยนแปลง และตลาดก็เปลี่ยนแปลงทุกวัน"

ทั้งนี้การที่จะนำ  AI มาใช้ในงานบริการจัดการความมั่งคั่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดย ซัล กุกเคียรา หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีการจัดการความมั่งคั่งของมอร์แกนสแตนลีย์ได้กล่าวถึงปัจจัยสำคัญในการนำ AI มาใช้ คือ คุณภาพของข้อมูลที่มีความถูกต้อง ความสามารถของคนที่ใช้ AI และการบริหารจัดการการใช้ AI ที่ดี

โมฮาเหม็ด เคอเรน หัวหน้าฝ่ายดิจิทัล ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด มองว่า พนักงานในอุตสาหกรรมนี้ไม่ควรกลัวการมาของ AI แต่เทคโนโลยีนี้เป็น "โอกาสที่จะเสริมสร้างคุณลักษณะของมนุษย์" มากกว่าที่จะ "แทนที่" ซึ่งช่วยให้นักจัดการความมั่งคั่งสามารถใช้เวลาที่ประหยัดได้จากการใช้ AI ไปในการสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับลูกค้าหรือช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก

แซค มอฟ หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมจาก Google Cloud มองว่า แม้ว่าจะสามารถใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ แต่ผู้จัดการความมั่งคั่งยังคงต้องสร้างสมดุลระหว่างการใช้ AI และทักษะของมนุษย์

"การใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อเสริม ไม่ใช่แทนที่หน้าที่สำคัญของมนุษย์ในการทำหน้าที่เป็นผู้จัดการความมั่งคั่งนั้น เนื่องจากลูกค้ายังคงให้คุณค่ากับคำแนะนำส่วนบุคคลและความไว้วางใจที่สร้างขึ้นผ่านความสัมพันธ์”

ระวัง AI เกิดอาการหลอน

แม้ว่า AI จะช่วยเสริมศักยภาพของผู้จัดการความมั่งคั่งและทำให้เราทุกคนสามารถเข้าถึงคำแนะนำทางการเงินได้ตลอด 24 ชั่วดมง ตลอด 7 วันแบบไม่หยุดพักแล้ว แต่เทคโนโลยีนี้ยังมีความท้าทายเมื่อนำมาใช้กับการให้คำแนะนำทางการเงินหรือการตัดสินใจ

ความกังวลหลักคือ AI อาจให้คำแนะนำการลงทุนที่ไม่ดี ซึ่งส่งผลให้ผู้ใช้สูญเสียเงินจำนวนมาก ยกตัวอย่างจากกรณีที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กเคยเผยแพร่ในปี 2561 ว่านักธุรกิจชาวฮ่องกง “ซามาธูร์ ลี คิน-คัน” สูญเสียเงินถึง 20 ล้านดอลลาร์เพราะใช้บริการโรบอทเทรด

ปัญหาดังกล่าวอาจทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบันจากสิ่งที่เรียกว่า “อาการหลอนของ AI” หมายถึงแชทบอทสร้างผลลัพธ์ที่เป็นเท็จหรือเป็นเรื่องแต่งขึ้นทั้งหมด อาการหลอนเหล่านี้ รวมถึงอคติอื่นๆ ซึ่งต้นกำเนิดของข้อผิดพลาดมาจากการฝึกฝนพื้นฐานของแชทบอท

นีล ซาโฮตาที่ปรึกษาด้าน AI จากสหประชาชาติ เตือนว่าระบบ AI มักให้คำแนะนำการลงทุนที่ไม่ดีเนื่องจาก "การปรับแต่งที่จำกัด" และ "การขาดความเห็นอกเห็นใจแบบมนุษย์" 

ซาโฮตา อธิบายว่าผู้จัดการความมั่งคั่งที่เป็น AI ขับเคลื่อนโดยอัลกอริธึมมาตรฐานที่อาจไม่คำนึงถึงความละเอียดอ่อนของสถานการณ์ทางการเงินของแต่ละบุคคลอย่างเต็มที่ เช่น ผลกระทบทางภาษีและเป้าหมายทางการเงินของแต่ละบุคคล รวมไปถึงการที่ AI ไม่มีปฎิสัมพันธ์ซึ่งเป็นวิธีการในการสร้างความไว้วางใจ ขณะที่ที่ปรึกษาที่เป็นมนุษย์สามารถให้ความมั่นใจและคำแนะนำส่วนบุคคล

นอกจากนี้ ซาโฮตา ยังเตือนว่า AI  ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีทางไซเบอร์และปัญหาทางเทคนิคต่างๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การรั่วไหลของข้อมูลและการหยุดชะงักของการลงทุน

วิเคราะห์หุ้นฉับไวราวกับบัฟเฟตต์อ่านหนังสือ 500 หน้า

แม้จะมีความกังวลจากความเสี่ยงในหลายๆด้าน แต่ศักยภาพของ AI ในอนาคตยังคงสดใส โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการของ AI แบบ agentic ที่ช่วยให้ AI สามารถเลียนแบบกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จของนักธุรกิจและนักลงทุนชื่อดังอย่าง “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ตามที่ เนลล์ วัตสัน ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และผู้เขียนหนังสือ Taming the Machine: Ethically Harness the Power of AI แนะนำ

วัตสัน แย้งว่าระบบ AI แบบ Agentic สามารถนำเสนอข้อมูลเชิงลึกโดยการวิเคราะห์รายงานทางการเงิน แนวโน้มตลาด ข่าวสาร และวัสดุการอ่านอื่นๆ จำนวนมากด้วยความเร็วที่น่าทึ่ง เหมือนกับการที่บัฟเฟตต์อุทิศเวลา 5-6 ชั่วโมงต่อวันในการอ่าน 500 หน้า แต่ระบบ AI เหล่านี้สามารถรับและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างต่อเนื่องตลอด 24/7 ทำให้ AI มีฐานความรู้ที่ครอบคลุมและทันสมัยยิ่งขึ้น

Agentic AI หรือที่เรียกว่า Autonomous AI เป็นเทคโนโลยี AI ชนิดหนึ่งที่ออกแบบมาให้ทำงานได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องพึ่งพาการควบคุมดูแลจากมนุษย์มากนัก

ในอนาคต AI อาจสามารถถอดรหัสตัวแปรของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตของและผลการดำเนินงานของบริษัทได้ในที่สุด โดยสามารถบอกรายละเอียด ความผิดปกติ และคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตด้วยความแม่นยำสูง สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ AI มองเห็น “เพชรในตม” ที่มีมูลค่าต่ำแต่มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งและศักยภาพในการเติบโต

“AI มีศักยภาพมหาศาล ราวกับการที่บัฟเฟตต์ใช้การอ่านหนังสือพัฒนาสถิติการลงทุนที่ไม่มีใครเทียบได้ ความสามารถในการประมวลผลข้อมูลของปัญญาประดิษฐ์แบบ agentic AI อาจเปลี่ยนสำนักงานขนาดเล็กให้ยิ่งใหญ่ระดับ Berkshire Hathaway และการปฏิวัติวงการการเงินแบบ ‘ซูเปอร์อินเวสเตอร์’ ที่ขับเคลื่อนด้วย AI อาจใกล้ความจริงมากกว่าที่เราคิด”

อ้างอิง FT