‘บีวายดี’ บุกยุโรป จ่อลงทุนกว่า 36,000 ล้านบาท ตั้งโรงงานใน 'ตุรกี'

‘บีวายดี’ บุกยุโรป จ่อลงทุนกว่า 36,000 ล้านบาท ตั้งโรงงานใน 'ตุรกี'

บีวายดี (BYD) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน เตรียมลงทุนในตุรกี 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 36,000 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งโรงงานอีวีและรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด กำลังผลิต 150,000 คันต่อปี จ่อกลายเป็นฮับการผลิตและส่งออกอีวีของบีวายดีแห่งที่ 2 ในยุโรป หลังก่อตั้งที่ฮังการี

สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย รายงานว่า “หวัง ชวนฟู” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บีวายดี และ “เมห์เม็ต ฟาติห์ กาซีร์” รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของตุรกี ได้ลงนามข้อตกลงการลงทุนในตุรกี เมื่อวันจันทร์ (8 ก.ค.) เรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน (Recep Tayyip Erdogan) นายกรัฐมนตรีตุรกีได้เข้าร่วมงานดังกล่าวเช่นกัน ก่อนจะออกเดินทางไปร่วมประชุมนาโต ณ กรุงวอชิงตัน ในวันนี้

อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งที่ตั้งของโรงงานยังไม่เปิดเผย ขณะที่บลูมเบิร์กรายงานเมื่อวันศุกร์ (5 ก.ค.) ว่า โรงงานจะตั้งอยู่ในเมืองมานิซา ห่างจากอิซมีร์ ท่าเรือใหญ่ทางชายฝั่งทะเลอีเจียนประมาณ 40 กิโลเมตร

โรงงานอีวีดังกล่าวจะถือเป็นโรงงานแห่งแรกในตุรกีที่ต่างชาติเป็นผู้ครอบครอง และจะเริ่มดำเนินการผลิตก่อนสิ้นปี 2569 และคาดว่าจะต้องจ้างพนักงงานราว 5,000 คน

นอกจากนี้ บีวายดีจะสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาในตุรกีด้วยเช่นกัน

ข้อตกลงลงทุนดังกล่าวมีขึ้นหลังบีวายดีเพิ่งเปิดตัวโรงงานในไทยเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งเป็นโรงงานของบริษัทแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บีวายดีระบุในแถลงว่า ด้วยข้อได้เปรียบของตุรกีหลายประการ อาทิ ระบบนิเวศเทคโนโลยีที่พัฒนา, ฐานซัพพลายเออร์ที่แข็งแกร่ง, สถานที่ตั้งเหมาะสม และแรงงานมีทักษะ การลงทุนสร้างโรงงานผลิตใหม่ของบีวายดี จะพัฒนาขีดความสามารถการผลิตท้องถิ่นของแบรนด์ยิ่งขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์

“เราตั้งเป้าเข้าถึงผู้บริโภคในยุโรป ด้วยการตอบสนองความต้องการยานยนต์พลังงานใหม่ในภูมิภาค”

ขณะที่กาซีร์กล่าวว่า ตุรกีเป็นฮับผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 ในยุโรป มีการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในภาคยานยนต์ นำไปสู่อุตสาหกรรมส่งออกอันดับต้น ๆ ของประเทศ โดยมียอดส่งออกมากกว่า 35,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

ในปี 2566 ตุรกีผลิตรถยนต์ได้มากกว่า 1.4 ล้านคัน และประมาณ 70% เป็นรถยนต์โดยสารส่วนบุคคล ตุรกียังเป็นประเทศฐานผลิตและส่งออกรถยนต์หลายแบรนด์ เช่น โตโยต้า, ฟอร์ด, เรโนลต์ และฮุนได และที่แล้วมีรถยนต์ไฟฟ้าจำหน่ายในตุรกีราว 6,000 คัน คิดเป็น 7% ของรถยนต์โดยสารส่วนบุคคลที่จำหน่ายทั่วประเทศ

นักวิเคราะห์มองว่า กลยุทธ์ที่ตุรกีวางไว้ได้ผล หลังจากที่แอร์โดอาน พบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในคาซัคสถานผ่านงานประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation: SCO) จากนั้นตุรกีได้ผ่อนปรนมาตรการเมื่อวันศุกร์ (5 ก.ค.) ด้วยการยกเว้นภาษี 40% สำหรับแบรนด์ที่ลงทุนด้านการผลิตในตุรกี

เอรอล ซาฮิน ผู้จัดการทั่วไปบริษัทที่ปรึกษาด้านยานยนต์ EBS บอกว่า แบรนด์อีวีจีนอื่น ๆ เช่น เชอรี่ (Chery) และ จีลี่ (Geely) อาจตามบีวายดีไปตั้งโรงงานผลิตตุรกี

นิกเคอิ เอเชีย ระบุว่า บีวายดีอาจใช้ตุรกีและข้อตกลงสหภาพศุลกากรของสหภาพยุโรป (อียู) เป็นทางหนีภัยทางหนึ่ง เนื่องจากเมื่อสัปดาห์ก่อนอียูได้ออกมาตรการขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าจากจีน ซึ่งบีวายดีถูกเรียกเก็บ 17.4%

 

อ้างอิง: Nikkei Asia