หวั่น ‘อ่าวไทย’ จุดเผชิญหน้าใหม่ 'สหรัฐ-จีน'

หวั่น ‘อ่าวไทย’ จุดเผชิญหน้าใหม่ 'สหรัฐ-จีน'

ความเกี่ยวข้องของจีนใน "คลองฟูนันเตโช" และ "ฐานทัพเรือเรียม" ของกัมพูชา เป็นสองตัวอย่างชี้ให้เห็นว่า อ่าวไทยอาจกลายเป็นจุดสำคัญภายใต้บริบทการแข่งอำนาจที่เข้มข้นขึ้นระหว่าง "สหรัฐกับจีน"

เดเร็ก กรอสแมน นักวิเคราะห์การทหารอาวุโสจากกลุ่มคลังสมองแรนด์คอร์ปในซานตา โมนิกา แคลิฟอร์เนีย เขียนบทความเผยแพร่ทางเว็บไซต์นิกเคอิเอเชีย มองว่าการที่รัฐบาลปักกิ่งสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในกัมพูชาอาจเปลี่ยนแปลงสมดุลอำนาจในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

บทความระบุว่า ขณะที่ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐระอุอยู่ในทะเลจีนใต้และช่องแคบไต้หวัน เพิ่มความหวาดหวั่นว่าจะเกิดสงคราม แต่อ่าวไทย อีกหนึ่งน่านน้ำในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกค่อนข้างสงบ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงได้ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า เมื่อรัฐบาลปักกิ่งทำโครงการที่ถูกตั้งคำถามมากมายอาจจุดไฟในภูมิภาค

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. นายกรัฐมนตรีฮุน มาแนต ของกัมพูชาเป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์ขุดคลองฟูนันเตโช เชื่อมกรุงพนมเปญซึ่งไม่มีทางออกทะเลเข้าสู่อ่าวไทย

เมื่อแล้วเสร็จคลองสายนี้จะลดการขนส่งสินค้าผ่านเวียดนามลง 70% เพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลปีละ 88 ล้านดอลลาร์ สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศ นายกรัฐมนตรีฮุน มาแนต กล่าวในพิธีเปิด “เรากำลังแสดงความรู้สึกรักชาติและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชาติผ่านการขุดคลองสายประวัติศาสตร์นี้”

แต่เห็นได้ชัดว่าไม่ได้มีแค่ผลประโยชน์แห่งชาติของกัมพูชา จีนที่ให้ทุนทำโครงการมูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์ ส่อเค้าได้ประโยชน์เชิงภูมิยุทธศาสตร์ด้วยคลองฟูนันเตโชจะทำให้รัฐบาลปักกิ่งเข้าถึงอ่าวไทยได้โดยตรงจากจีนเป็นครั้งแรก เพราะแม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดจากทิเบตของจีน ซึ่งไม่ใช่แค่เรือสินค้าแต่เรือรบจากจีนจะแล่นผ่านเมียนมา ไทย ลาว และกัมพูชาผ่านคลองฟูนันเตโชออกอ่าวไทย จึงมีเหตุผลมากมายให้เชื่อได้ว่า ปักกิ่งจะพยายามใช้กำลังทหารหาเส้นทางผ่านคลองสายใหม่ การมีโครงการเขื่อนจีนจำนวนมากตามแนวแม่น้ำโขงและมีแนวโน้มกระทบต่อปริมาณและกระแสน้ำโขง จึงจำเป็นต้องระเบิดแก่งเพื่อให้เรือน้ำลึกเข้ามาได้

แต่ใช่ว่าความท้าทายเหล่านี้จะเอาชนะไม่ได้ในระยะยาว นี่หมายความว่ากองกำลังทางทะเลของจีนไม่ว่าจะเป็นกองทัพเรือ เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง หรือกองเรือประมง อาจใช้ประโยชน์จากทางน้ำใหม่ส่งกำลังเข้ามาในภูมิภาคนี้ด้วยวัตถุประสงค์ในใจสามประการ

ประการแรก ปักกิ่งอาจพยายามตัดกำลังการเข้าถึงช่องแคบมะละกาได้อย่างไม่จำกัดของวอชิงตัน วิกฤติมะละกา (Malacca Dilemma) ของจีนมีสมมุติฐานว่า กองทัพสหรัฐอาจปิดช่องแคบสำคัญนี้ที่เชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก ปิดกั้นปักกิ่งไม่ให้เข้าถึงทรัพยากรสำคัญหากเกิดความขัดแย้งกรณีไต้หวันหรือในทะเลจีนใต้

ประการที่ 2 ด้วยคลองฟูนันเตโชกองกำลังทางทะเลของจีนไม่จำเป็นต้องแล่นผ่านทะเลจีนใต้หรือรอบอินโดจีนเพื่อเข้าอ่าวไทย วิธีการนี้ไม่ใช่แค่เร็วกว่าแต่ยังลดโอกาสที่กองกำลังศัตรูจะท้าทายการวางกำลังของจีนด้วย

และประการสุดท้ายคลองฟูนันเตโชจะเปิดช่องให้จีนตั้งฐานทัพบนชายฝั่งตะวันตกของเวียดนามได้ ไม่ใช่แค่ฝั่งตะวันออกของทะเลจีนใต้เท่านั้น

นี่จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมภูมิยุทธศาสตร์อย่างแท้จริง เพราะจะลดคุณค่าของฐานทัพเรือคัมรานห์บนชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเวียดนามและเกาะเทียมที่รัฐบาลฮานอยเพิ่งสร้างในทะเลจีนใต้ลง ทั้งยังบีบให้เวียดนามต้องตัดสินใจอย่างยากลำบากในการจัดสรรทรัพยากรทางทหารแก้ปัญหาพื้นที่ปฏิบัติการใหม่ทางตะวันตก

แน่นอนว่าจีนบรรลุวัตถุประสงค์ทางทหารบางส่วนแล้ว ด้วยการส่งเรือรบจำนวนหนึ่งไปยังฐานทัพเรือเรียมของกัมพูชาในอ่าวไทย

ในปี 2020 รัฐบาลพนมเปญทำลายอาคารสหรัฐในฐานทัพเรือเรียมโดยไม่แจ้งล่วงหน้า จากนั้นไปทำสัญญาณบูรณะกับปักกิ่ง เมื่อมีข้อสงสัยว่าจีนอาจมีแผนส่งกำลังทหารไปยังฐานทัพนอกประเทศเป็นแห่งที่ 2 ในกัมพูชา (ประเทศแรกคือจิบูตีส่งไปเมื่อปี 2017) ทั้งปักกิ่งและพนมเปญต่างปฏิเสธแข็งขัน ฝ่ายหลังอ้างว่าการกระทำดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญกัมพูชาที่ห้ามกองทัพต่างชาติเข้ามาประจำการในดินแดนของตน

กระนั้น หลายเดือนมาแล้วที่มีคนเห็นเรือกองทัพเรือจีนตามจุดต่างๆ ของฐานทัพเรือเรียม ชาวบ้านกัมพูชาคนหนึ่งเผย “กองทัพเรือจีนไม่ต้องการให้แรงงานกัมพูชาและทหารเรือเข้าไปใกล้ส่วนของจีน (ในฐานทัพ)” ชี้ให้เห็นว่าปฏิบัติของปักกิ่งเป็นเรื่องอ่อนไหว

ความเกี่ยวข้องของจีนในคลองฟูนันเตโชและฐานทัพเรือเรียมเป็นสองตัวอย่างชี้ให้เห็นว่า อ่าวไทยอาจกลายเป็นจุดสำคัญภายใต้บริบทการแข่งอำนาจที่เข้มข้นขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีน แต่ก็อาจจะที่อื่นด้วย ตัวอย่างเช่น บางคนให้เหตุผลว่า สนามบินนานาชาติดาราสาครที่เพิ่งแล้วเสร็จด้วยเงินทุนจีนก็น่าเป็นห่วง

ดาราสาครตั้งอยู่บนชายฝั่งกัมพูชา รันเวย์มีรัศมีวงเลี้ยวรองรับเครื่องบินทหารมากกว่าเครื่องบินพลเรือนอย่างน่าสงสัย อย่างไรก็ตาม นับจนถึงขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณเพิ่มเติมถึงการใช้สนามบินแห่งนี้ทางการทหาร

อีกหนึ่งความเป็นไปได้ที่มีมายาวนานคือ จีนให้ทุนขุดคลองกระข้ามคอคอดกระในประเทศไทยเชื่อมอ่าวไทยกับอ่าวเบงกอล โครงการนี้ยังไม่เกิดแต่ถ้าทำหรือเมื่อใดก็ตามที่ทำจะแสดงให้เห็นอีกหนึ่งหนทางที่ปักกิ่งฝ่าฟันวิกฤติมะละกา (Malacca Dilemma)

หากไม่นับการคาดเดา สิ่งที่เรารู้ขณะนี้คือ จีนเคลื่อนไหวทางทหารในอ่าวไทยเรียบร้อยแล้ว และโครงการในอนาคตอาจเพิ่มโอกาสการเชื่อมโยงกันมากขึ้น เปิดข้อได้เปรียบทางภูมิยุทธศาสตร์ที่จีนมีต่อสหรัฐและเพื่อนบ้าน

ในอนาคตอันใกล้สหรัฐอาจรับมือด้วยการวางกำลังทหารในอ่าวไทย แต่จะเป็นความผิดพลาด ทางที่ดีวอชิงตันควรร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค ที่สำคัญที่สุดคือไทยในฐานะพันธมิตรด้านความมั่นคง รวมถึงมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ในฐานะพันธมิตรใกล้ชิด กระทั่งกัมพูชาเอง

เป้าหมายควรจะเป็นการบั่นทอนสถานะทางทหารของจีนที่เพิ่มมากขึ้นในอ่าวไทย และเพื่อสร้างหลักประกันว่าโครงการเชิงพาณิชย์อย่างคลองฟูนันเตโชและสนามบินดาราสาคร ท้ายที่สุดแล้วจะไม่ตอบสนองวัตถุประสงค์ทางทหารของจีน

แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย ประเทศส่วนใหญ่ไม่อยากเสี่ยง และพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกมองว่ากำลังร่วมมือกับสหรัฐต่อต้านจีน และกัมพูชากำลังร่วมมือกับจีนอย่างแข็งขัน แม้แต่ไทยก็ไม่อยากเข้ามาข้องเกี่ยว  เพราะไทยมีแนวโน้มมองกิจกรรมของจีนทั่วภูมิภาคอินโดแปซิฟิกในทางที่ดี 

แต่มุมมองของภูมิภาคอาจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้ากองทัพจีนเริ่มลาดตระเวนในอ่าวไทย หรือทำพฤติกรรมข่มขู่คุกคาม ระหว่างนี้สหรัฐ พันธมิตร และหุ้นส่วนควรเฝ้าระวังและแสดงกังวลอย่างเหมาะสม

***เดเร็ก กรอสแมน เป็นนักวิเคราะห์การทหารอาวุโสของกลุ่มคลังสมองแรนด์คอร์ป ในซานตาโมนิกา แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นอาจารย์พิเศษด้านรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านข่าวกรองที่กระทรวงกลาโหม***

 

อ้างอิง: Nikkei Asia