อินโดนีเซีย ‘แบน’ Temu! ปกป้องธุรกิจรายย่อยในชาติ ไม่ให้เข้ามาทำลาย SME

อินโดนีเซีย ‘แบน’ Temu! ปกป้องธุรกิจรายย่อยในชาติ ไม่ให้เข้ามาทำลาย SME

อินโดนีเซียสั่ง 'แบน' Temu ปกป้องธุรกิจท้องถิ่นในประเทศ ซึ่งกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากสินค้าราคาถูกที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงานว่า รัฐบาลอินโดนีเซียได้สั่ง “แบน” แอปพลิเคชัน "เทมู" (Temu) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากจีน เพื่อปกป้องธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศจากการถูกทำลาย และเพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าราคาถูกท่วมตลาด

Temu ถือเป็นบริษัทในเครือของ PDD Holdings เชื่อมต่อโรงงานในจีนกับผู้บริโภคในกว่า 50 ประเทศ เช่น มาเลเซีย ไทย และสหรัฐโดยตรง

สำหรับเหตุผลของการแบน ทางการอินโดนีเซียระบุว่าโมเดลธุรกิจของแพลตฟอร์ม Temu ทำให้ผู้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานในประเทศอย่าง “ผู้ค้าส่ง” และ “ผู้ขนส่ง” ถูกตัดออกไป จนทำให้บริษัทต่างชาติสามารถรักษาราคาสินค้าให้ต่ำได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ค้ารายย่อยในอินโดนีเซีย

“ถ้า Temu เข้ามาสร้างความเสียหาย จะมีประโยชน์อะไร? เราจะแบน โดยธุรกิจขนาดย่อมและกลางของเราจะพังทลายได้ หากปล่อยให้ Temu ดำเนินไปโดยไม่มีการควบคุม” บุดดิ อารี เซเทียดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสื่อสารและสารสนเทศของอินโดฯ กล่าว

ด้านนานดี เฮอร์เดียมาน ประธานสมาคมผู้ประกอบการท้องถิ่น IPKB มองว่า “Temu จะทำลายอุตสาหกรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งกำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างมากในอินโดนีเซีย จากการนำเข้าขนาดใหญ่และการทุ่มตลาด” 

นานดีกล่าวต่อว่า “อุตสาหกรรมสิ่งทอได้บูรณาการจากธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ และระบบนิเวศนั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกทำลายโดยการเข้ามาของสินค้าราคาถูกอย่างไม่ควบคุมในตลาด ความเสี่ยงของการนำเข้าที่ผิดกฎหมาย และสินค้าที่มีคุณภาพต่ำ”

“อุตสาหกรรมสิ่งทอในอินโดนีเซียมีงานให้หลายล้านคน หากแพลตฟอร์ม Temu ครองอุตสาหกรรมสำเร็จ อุตสาหกรรมนี้จะมีความเสี่ยงที่จะประสบกับการลดลงของผลิตภาพและการเพิ่มขึ้นของอัตราว่างงาน” นานดีอธิบาย

นานดียังแนะนำให้รัฐบาลจับตาดูธุรกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าที่นำเข้าเป็นไปตามกฎระเบียบท้องถิ่น อีกทั้งรัฐบาลควรช่วยอุตสาหกรรมท้องถิ่น เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจโดยการให้แรงจูงใจ ลงทุนในเทคโนโลยี และผลักดันการใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศ

ทั้งนี้ บริษัทวิจัย Momentum Works ระบุว่า อินโดนีเซียมีมูลค่าธุรกรรมอีคอมเมิร์ซอยู่ที่ 52,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา

อ้างอิง: scmpasia