วิเคราะห์แผนขึ้นภาษีทรัมป์ สูตรเดิม 'บีบให้เจรจา' เป็นจุดเริ่มไม่ใช่จุดจบ
นักวิเคราะห์ถอดรหัสการขู่ขึ้นภาษีรอบใหม่ของทรัมป์ 2.0 พบถอดสูตรเดียวกับเมื่อ 5 ปีก่อน ตั้งเงื่อนไข-ให้เวลา-ลากเข้าสู่โต๊ะเจรจา โลกเริ่มชินแล้ว แต่ก็ยังมีประเด็นให้น่าห่วงอยู่
หากการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในวาระแรกของ "โดนัลด์ ทรัมป์" พอจะเป็นไกด์ไลน์บอกสไตล์และแนวทางการบริหารของเขาให้โลกพอจะรับมือได้บ้าง การขู่ขึ้นภาษีศุลกากรล่าสุดกับจีน (ขึ้นภาษีจีน) 10% และแคนาดา-เม็กซิโก 25% เมื่อวานนี้ ก็น่าจะพอบ่งชี้ได้ว่านี่คือ "จุดเริ่มต้นของการเจรจา" ไม่ใช่จุดจบของการค้าโลก
ทรัมป์ โพสต์บนโซเชียลมีเดียเมื่อเย็นวันจันทร์ที่ 25 พ.ย. ถึงกลยุทธ์ที่ทั้งฝ่ายต่อต้านและฝ่ายพันธมิตรคุ้นเคยกันดี โดยเขาขู่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดา 25% และขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 10% จนกว่าประเทศเหล่านี้จะปราบปรามผู้อพยพและยาเสพติดผิดกฎหมายที่ลักลอบเข้ามาในสหรัฐได้ โดยทั้งสามประเทศนี้ทำการค้ากับสหรัฐมากเกือบครึ่ง คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% จากการค้าทั้งหมดของสหรัฐ
บลูมเบิร์กระบุว่า ทั้งหมดนี้ให้ความรู้สึกที่ "คุ้นเคย" เมื่อนึกถึงความเสี่ยงและคำขู่ต่างๆ ในช่วงการดำรงตำแหน่งวาระแรกของทรัมป์ ในเดือนพฤษภาคม 2019 ทรัมป์ประกาศบนโซเชียลมีเดียว่าเขาจะเรียกเก็บภาษี 5% จากเม็กซิโกภายใน 10 วัน และจะค่อยๆ เพิ่มระดับขึ้น จนกว่าเม็กซิโกจะห้ามไม่ให้ผู้อพยพลักลอบเข้าสู่ชายแดนทางตอนใต้ของสหรัฐได้
ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ เม็กซิโกยอมปฏิบัติตาม และไม่เคยมีการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวเลย
“ผมรู้สึกเหมือนมันเคยเกิดขึ้นมาก่อน” ฮวน คาร์ลอส เบเกอร์ ผู้ที่ช่วยเม็กซิโกเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือฉบับใหม่ หรือ USMCA กับสหรัฐและแคนาดา กล่าว
เบเกอร์กล่าวว่าบรรดาประเทศคู่ค้าในช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งวาระแรก "ได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง และประสบการณ์นั้นก็มีประโยชน์มาก" อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะวางใจได้ทั้งหมด "แต่ผมก็อยากเตือนด้วยว่าอย่าคิดว่าแค่ว่าเรามีทรัมป์ 1.0 แล้วก็จะรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ และจะจัดการกับมันอย่างไร”
ความท้าทายประการหนึ่งของ ทรัมป์ 2.0 ในครั้งนี้ก็คือ ยังมีเวลาอีก 2 เดือน กว่าที่ทรัมป์จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ (20 ม.ค. 2568) ดังนั้นจึงยังไม่รู้ว่าเขาจะไปอีกไกลแค่ไหนในกลยุทธ์บีบให้เจรจา ซึ่งรวมถึงการทำร้ายเศรษฐกิจของตัวเองด้วย
การขู่ว่าจะถอนตัวจากข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ส่งผลให้มีข้อตกลงใหม่ที่เรียกว่าข้อตกลงสหรัฐ-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA) เข้ามาแทนที่ และการขู่จะขึ้นภาษีศุลกากรกับเม็กซิโกหากไม่หยุดยั้งผู้อพยพลักลอบเข้าสหรัฐ ก็ยังมีขึ้นในขณะที่ข้อตกลงการค้าใหม่กำลังได้รับการลงนามกันด้วย
ทรัมป์ยังโจมตี "จีน" ด้วยการขึ้นภาษีศุลกากรครั้งใหญ่ ทว่าถูกลดสเกลความรุนแรงลงหลังจากมีการบรรุข้อตกลงกับรัฐบาลประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ทรัมป์ได้ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมจากทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นพันธมิตรทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐด้วย
แดเนียล ทันเนโบม หุ้นส่วนของบริษัทที่ปรึกษาโอลิเวอร์ ไวแมน กล่าวว่า "การประกาศเรื่องนี้ 2 เดือนก่อนเข้ารับตำแหน่ง เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเขาพร้อมที่จะเริ่มเจรจาแล้ว เราคงต้องรอดูว่าทีมบริหารชุดใหม่จะทำอะไรเมื่อพวกเขาเริ่มลงมือทำ"
อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์ที่คุ้นเคยกับทรัมป์มองว่า วาระใหม่ของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 จะแตกต่างไปจากเดิมใน 2 ประเด็นหลักๆ
ประการแรก ทรัมป์คุ้นเคยกับกลไกอำนาจมากขึ้น รู้มากขึ้นหลังเคยผ่านงานมาแล้ว ครั้งนี้เขาวางแผนที่จะใช้กฎหมายว่าด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศปี ค.ศ. 1997 (International Emergency Economic Powers) เพื่อให้สามารถขึ้นภาษีศุลกากรได้เร็วขึ้นภายใต้เงื่อนไขการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายเดียวกับที่เขาใช้ในการของบประมาณจากรัฐสภาที่ไม่ได้เต็มใจให้นัก ในการป้องกันผู้อพยพลักลอบข้ามแดน (border wall) เมื่อปี 2019
หากเทียบกับครั้งก่อน การขึ้นภาษีรอบใหม่นี้มีแนวโน้มจะเร็วขึ้นกว่าเดิม เพราะในยุคทรัมป์ 1.0 การขึ้นภาษีศุลกากรชุดแรกต้องใช้เวลานานถึงราว 1 ปี กว่าที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการสืบสวนสอบสวนที่จำเป็นผ่านระบบราชการ
"จังหวะของการดำเนินการครั้งนี้จะรวดเร็วมาก" แดน อุจโซ ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโสของสำนักงานกฎหมายทอมป์สัน ไฮน์ ในโอไฮโอ ซึ่งเคยทำงานด้านประเด็นการค้าของอเมริกาเหนือและจีนกล่าว และเสริมว่าภาษีศุลกากรที่ประกาศเมื่อคืนวันจันทร์นั้นเป็นเรื่อง "เชิงกลยุทธ์และเชิงธุรกิจ" โดยถูกออกแบบมาเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมาย
ประการที่สองคือ บรรดาเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลชุดแรกซึ่งเป็นมิตรต่อตลาดและมีแนวทางยับยั้งชั่งใจ ไม่บ้าจี้ตามนายมากเกินไป เช่น สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลัง หรือแกรี โคห์น อดีตผู้บริหารของโกลด์แมน แซคส์ ที่เคยมาร่วมงานกับทรัมป์ครั้งที่แล้ว หรือแม้กระทั่งเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน อดีตผู้บริหารของเอ็กซอน โมบิล ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนแรกของทรัมป์ คนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในรัฐบาลทรัมป์ 2.0 อีกแล้ว
ในบรรดาผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดล่าสุดนี้ ดูเหมือนทรัมป์จะเลือกคนที่จงรักภักดีกับเขาและแนวทางของเขาเป็นหลักสำคัญที่สุด จึงมีเพียง "สก็อตต์ เบสเซนต์" ว่าที่รัฐมนตรีคลัง ซึ่งมาจากสายเฮดจ์ฟันด์เท่านั้นที่ดูจะรอมชอม และเรียกร้องให้ใช้แนวทางปกป้องทางการค้าแบบค่อยเป็นค่อยไป และดูเหมือนจะเปิดกว้างในการเจรจาเกี่ยวกับขนาดของการขึ้นภาษีศุลกากร
แจน ฮัตเซียส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือต้องไม่สับสนกับบรรดาคำขู่ของทรัมป์ ระหว่างคำขู่ขึ้นภาษีศุลกากรกับจีน 60% และขึ้นภาษีศุลกากรกับที่เหลือทั่วโลกอีก 10-20% ที่เขาเคยสัญญาไว้ระหว่างหาเสียงว่าจะสร้างสมดุลทางการค้ากับสหรัฐใหม่
หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า นี่อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น