เวเนซุเอลาปันส่วนไฟฟ้า 30 วัน
มาตรการทั้งหมดนี้เท่ากับรัฐบาลการากัสยอมรับว่า ไฟฟ้าในประเทศมีไม่พอ และวิกฤติพลังงานยังคงอยู่ต่อไป ขณะที่การเมืองก็ไม่มีทางออก
ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาประกาศปันส่วนไฟฟ้า 30 วัน สมทบมาตรการลดชั่วโมงทำงานและสั่งปิดโรงเรียนหลังไฟฟ้าดับต่อเนื่อง ขณะที่ประชาชนในกรุงการากัสยังลงถนนไม่หยุดประท้วงขาดไฟไร้น้ำ
ประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ของเวเนซุเอลา แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์ เมื่อวันอาทิตย์ (31 มี.ค.) ตามเวลาท้องถิ่นว่า เขาเห็นชอบแผนปันส่วนไฟฟ้าเป็นเวลา 30 วัน โดยไม่ได้ระบุรายละเอียด กล่าวเพียงว่า แผนการนี้เพื่อสร้างหลักประกันต่อการให้บริการน้ำประปา พร้อมกันนั้นก็ยอมรับว่า ชาวเวเนซุเอลาหลายคนคงไม่ได้ดูสิ่งที่เขาแถลงเพราะไม่มีไฟฟ้า
ก่อนหน้านั้น รัฐบาลการากัสเพิ่งประกาศมาตรการรับมือขาดแคลนไฟฟ้า นายฮอร์เก โรดริเกซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารแถลง สั่งปิดโรงเรียนและลดชั่วโมงการทำงานทั้งภาครัฐและเอกชนลงถึงเวลา 14.00 น.
มาตรการทั้งหมดนี้เท่ากับรัฐบาลการากัสยอมรับว่า ไฟฟ้าในประเทศมีไม่พอ และวิกฤติพลังงานยังคงอยู่ต่อไป ขณะที่การเมืองก็ไม่มีทางออก นายมาดูโรต้องเผชิญหน้ากับนายฮวน กวายโด ผู้นำฝ่ายค้าน ที่สหรัฐและอีกกว่า 50 ประเทศ ยอมรับว่า เขาคือผู้นำรักษาการของเวเนซุเอลา
นายวินตัน คาบาส ประธานสมาคมวิศวกรรมไฟฟ้าและเครื่องกลเวเนซุเอลา กล่าวว่า สถานการณ์ยังคงต่อเนื่องและรุนแรงมาก อาจเกิดไฟดับและปันส่วนเพิ่มอีก
“ระบบไฟฟ้าผลิตได้ราว 5,500-6,000 เมกะวัตต์ ทั้งๆ ที่มีศักยภาพผลิตได้ถึง 34,000 เมกะวัตต์”
รัฐบาลมาดูโรกล่าวโทษว่า ปัญหาขาดแคลนไฟฟ้ามาจากผู้ก่อการร้ายโจมตีโรงไฟฟ้าพลังน้ำกูรี ที่ผลิตพลังงาน 80% ของประเทศ
แต่นายโฮเซ อากีลาร์ ที่ปรึกษาชาวเวเนซุเอลาที่ใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐ กล่าวว่า ปัญหาหนักหนามาก ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าขาดการบำรุงรักษา แผนปรับปรุงก็ถูกเลื่อนออกไป อีกทั้งการที่อดีตประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ยึดบริษัทพลังงานจากเอกชนมาเป็นของรัฐเมื่อปี 2550 แล้วนำคนสนับสนุนรัฐบาลเข้าไปรับตำแหน่งผู้จัดการและวิศวกร การบริหารงานจึงไม่เป็นมืออาชีพ
นอกจากนี้อุตสาหกรรมไฟฟ้ายังเกิดภาวะสมองไหล ตั้งแต่ปี 2558 ชาวเวเนซุเอลาอพยพออกนอกประเทศแล้ว 2.7 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นบุคลากรภาคพลังงานราว 25,000 คน
ขณะที่ประชาชนไม่พอใจมากที่ไฟฟ้าดับจึงเดินขบวนตามท้องถนนในกรุงการากัส ผู้ประท้วงและกลุ่มสิทธิมนุษยชนเผยว่า หลายคนถูกกองกำลังสนับสนุนรัฐบาลที่เรียกกันว่า “คอเลคติวอส” หรือพวกทหารอันธพาลทำร้าย
นายมาดูโรอนุญาตให้คอเลคติวอสสกัดการประท้วงได้ โดยให้เหตุผลว่า ม็อบนิยมความรุนแรงเหล่านี้ต้องการโค่นเขาพ้นจากตำแหน่ง