กระทรวงแห่งความเป็นไปได้ (Ministry of Possibilities)
ทำความรู้จัก "กระทรวงแห่งความเป็นไปได้" (Ministry of Possibilities) แรกของโลก อยู่ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กับภารกิจการพยายามทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ให้กลายเป็นเรื่องที่เป็นไปได้
ในโลกปัจจุบัน ทุกประเทศกำลังอยู่ในยุคที่ต้องเผชิญความท้าทายที่ยากลำบาก ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบเชื่อมโยงกันในหลายมิติ เช่น การแพร่กระจายของโควิด-19 ที่เปรียบเหมือนภารกิจที่ยากลำบากสำหรับทุกประเทศทั่วโลก
หรือในอนาคต ทุกประเทศก็จะเผชิญกับความท้าทายจากความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะส่งผลกระทบต่ออนาคตการมีงานทำของประชาชน ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเข้าสู่สังคมสูงวัย และเรื่องอื่นๆ อีกมาก
ความท้าทายดังกล่าวเป็นตัวอย่างของเรื่องใหญ่และปัญหาที่ยากเกินกว่า “กระทรวง” หนึ่งกระทรวงใดของประเทศจะจัดการได้โดยลำพัง ซึ่งแต่ละประเทศก็มีแนวทางที่แตกต่างกันในการต่อสู้กับความท้าทายแห่งอนาคตดังกล่าว
ความริเริ่มหนึ่งที่น่าสนใจมากในเวทีนวัตกรรมภาครัฐระดับโลกในปีที่ผ่านมา คือการที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ได้จัดตั้ง “กระทรวงแห่งความเป็นไปได้” (Ministry of Possibilities) ขึ้นเป็นแห่งแรกของโลก โดยมีภารกิจสำคัญคือการพยายามทำเรื่องที่ “เป็นไปไม่ได้” ให้กลายเป็นเรื่องที่ “เป็นไปได้”
กระทรวงแห่งความเป็นไปได้ของ UAE เป็นกระทรวงเสมือน (virtual ministry) ไม่มีรัฐมนตรีว่าการ เหมือนกระทรวงอื่นๆ แต่ได้รับอำนาจและการชี้นำโดยตรงจากคณะรัฐมนตรี กระทรวงแห่งนี้เป็นที่รวบรวมบุคลากรจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและประชาสังคม ซึ่งมีการทำงานแบบเต็มเวลาหรือพาร์ทไทม์ มีภารกิจหลักเพื่อออกแบบและพัฒนาโซลูชั่นใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ได้
ภายใต้กระทรวงมีการจัดตั้งกรมใหม่ๆ ขึ้นตามโจทย์ความท้าทายสำคัญ ทำงานแบบคล่องตัว เพื่อสร้างการทดลองใหม่ๆ ที่มีศักยภาพที่จะขยายผล แต่ละกรมใช้เวลาสูงสุดไม่เกิน 1 ปี ก่อนจะสลายตัวไป และมีการตั้งกรมอื่นขึ้นมาใหม่เพื่อสร้างข้อเสนอสำหรับโจทย์ที่เป็นไปไม่ได้อื่นๆ ต่อไป
ที่มาของกระทรวงแห่งความเป็นไปได้เกิดขึ้นจากประเทศ UAE ได้เผชิญกับความท้าทายที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ไข เช่น เรื่องปัญหาในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระบบบำนาญ สวัสดิการสังคม เป็นต้น โดยค้นพบว่าปัญหาที่ฝังรากลึกที่สุดคือปัญหาความท้าทายหลายเรื่องไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจที่เฉพาะเจาะจงหรือความรับผิดชอบของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ดังนั้น จึงไม่มีใครที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว หลายฝ่ายเห็นว่าประเทศยังขาดหน่วยงานและพื้นที่กลางที่อุทิศตนเพื่อแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ ที่อยู่นอกเหนือเรื่องทั่วไปในปัจจุบัน
รองประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของ UAE จึงเห็นถึงความจำเป็นในการมีพื้นที่กลาง ซึ่งต้องใกล้กับศูนย์กลางอำนาจรัฐบาลมากพอที่จะตอบโจทย์ภารกิจ แต่ก็มีระยะห่างพอที่จะไม่ถูกการเมือง หรืออำนาจหน้าที่ มาตรการและระบบราชการแบบเดิมๆ มาจำกัดความคิด
และในเดือน เม.ย.2019 รัฐบาลของ UAE ได้จัดตั้งกระทรวงแห่งความเป็นไปได้ขึ้น ภารกิจหลักของกระทรวงคือ ระบุปัญหาความท้าทายหรือเรื่องที่มองว่าเป็นไปไม่ได้ สำรวจความเป็นไปไม่ได้และสร้างข้อเสนอที่สร้างสรรค์ ให้ความรู้และฝึกอบรมบุคลากรเกี่ยวกับการทดลองในภาครัฐและการคิดเชิงออกแบบ และการสร้างแรงบันดาลใจให้รัฐบาลอื่นๆ
ภายใต้กระทรวงจะมีกรมต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้คัดเลือกผู้บริหารของแต่ละกรม ตลอดจนทีมผู้นำในการตัดสินใจ ซึ่งประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ แต่ละกรมมีการแต่งตั้งที่ปรึกษาความเป็นไปได้ (Possibility Advisor) ทำหน้าที่เป็นโค้ช
ในระยะเริ่มต้น กระทรวงได้เปิดตัว 4 กรม ได้แก่ 1.กรมบริการเชิงรุก (Department of Proactive Service) มีเป้าหมายเพื่อออกแบบประสบการณ์ใหม่ให้กับประชาชนในการใช้บริการสาธารณะ โดยการคาดการณ์ความต้องการและเริ่มการนำเสนอบริการก่อนที่ประชาชนจะเรียกร้อง โดยการระบุความต้องการบริการในทุกช่วงวัยและทำงานร่วมกับประชาชนเพื่อออกแบบประสบการณ์ใหม่แบบองค์รวม
2.กรมส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวก (Department of Behavioral Rewards) มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนจากการลงโทษไปสู่แนวทางที่จูงใจให้เกิดพฤติกรรมเชิงบวก ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของระบบการให้รางวัลที่สามารถนำมาใช้เพื่อชำระค่าบริการของรัฐ
3.กรมจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Department of Government Procurement) มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงประสบการณ์การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสำหรับทุกฝ่ายทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ
4.กรมส่งเสริมผู้มีทักษะสูง (Department of UAE Talent) มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและออกแบบอนาคตของประเทศ มุ่งเน้นไปที่การสร้างกลไกเพื่อระบุ บ่มเพาะและจัดแนวทางตามความสามารถของแต่ละคนอย่างเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถกำหนดเป้าหมายของตนเองและได้รับการสนับสนุนรวมถึงการทำงานเพื่อปลูกฝังทักษะและความสามารถใหม่ให้กับเยาวชนของประเทศ รวมถึงสร้างผู้นำที่ยั่งยืน
โดยท้ายสุด กรมจะนำเสนอข้อค้นพบวิธีแก้ปัญหาและผลกระทบของโครงการต่อคณะรัฐมนตรี ให้คำแนะนำเกี่ยวกับสิ่งที่ควรทำผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ รวมถึงการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานและการเปลี่ยนแนวทางแก้ไขในกระทรวงที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรืออาจขยายบทบาทของกรมชั่วคราวนี้ให้กลายเป็นสำนักงานหรือกระทรวงที่จัดตั้งขึ้นอย่างสมบูรณ์ โดยอาจอยู่ในรูปแบบหน่วยงานใหม่หรือแม้แต่แทนที่หน่วยงานหรือกระทรวงที่มีอยู่เดิม
สำหรับประเทศไทย ได้เริ่มมีการดำเนินการคล้ายกันนี้ในรูปแบบของ Policy Lab จากหลายหน่วยงาน ซึ่งหากในอนาคตจะยกระดับให้กลายเป็นกระทรวงแห่งความเป็นไปได้แบบ UAE ก็อาจจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ประเทศไทยตอบโจทย์ความท้าทายยากๆ โดยใช้พลังปัญญาของคนทั้งประเทศก็เป็นไปได้