'โควิด-19'ตัวชี้วัดฝีมือรัฐบาล
'โควิด-19'ตัวชี้วัดฝีมือรัฐบาลในการรับมือกับโรคระบาดรุนแรงนี้ โดยเฉพาะความไวในการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในประเทศของตัวเอง โดยเฉพาะสิงคโปร์มีตัวเลขผู้ได้รับการฉีดวัคซีนมากกว่าใครทั้งหมดในอาเซียน
นับตั้งแต่โควิด-19 ผุดขึ้นครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ทางภาคกลางของจีนเมื่อปลายปี 2562 แล้วระบาดไปทั่วโลกจนองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นการระบาดใหญ่ (pandemic) เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2563 โควิด-19 ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ทุกประเทศไม่เคยเจอ การจัดการสถานการณ์จึงเป็นเครื่องชี้วัดความสามารถของผู้นำและรัฐบาลได้เป็นอย่างดี
ประเทศไทยเกิดการระบาดของโรคโควิด19 แล้ว 3 รอบ โดยสายพันธุ์ไวรัสโคโรนา2019 ที่แตกต่างกัน รอบแรกเป็นสายพันธุ์เอส สายพันธุ์ดั้งเดิม จุดเริ่มการระบาดจากสนามมวยและสถานบันเทิง รอบที่ 2 เป็นสายพันธุ์ GH ซึ่งตรงกับระบาดในเมียนมาและต้นทางมาจากอินเดีย จุดเริ่มระบาดจากแรงงานต่างด้าวที่คาดว่าจะลักลอบเข้ามาแบบผิดกฎหมาย มีการลักลอบเล่นการพนันในบางพื้นที่ และสถานบันเทิง และรอบที่ 3 เป็นสายพันธุ์กลายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ตรงกับที่กำลังระบาดในกัมพูชา ซึ่งสามารถแพร่เชื้อได้เร็วขึ้น 1.7 เท่า จุดเริ่มระบาดจากสถานบันเทิง
ขณะที่การออกมาตรการในการควบคุมโรค ในรอบที่ 1 ทำอย่างรวดเร็วและเข้มข้นทั่วประเทศ ทั้งการปิดสถานที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยงต่างๆ มีประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ และประชาชนตื่นตัวและร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้น จึงสามารถควบคุมการระบาดได้ในระยะเวลา 2 เดือนจากกลางมี.ค.-กลางพ.ค. 2563 ทำให้ประเทศไทยไม่มีรายงานการระบาดต่อเนื่อง 7 เดือน จึงเริ่มมาตรการผ่อนคลายเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจต่างๆ
ส่วนรอบที่ 2 มีการใช้มาตรการรัดเข็มขัดจำกัดวงระบาดให้อยู่เฉพาะในพื้นที่ เนื่องจากมีศูนย์กลางการระบาดส่วนใหญ่ที่จ.สมุทรสาคร จึงมีการแบ่งโซนสีจังหวัดเป็นสีแดงเข้ม สีแดง สีส้ม สีเหลือง และสีเขียว เนื่องจากสามารถระบุจุดที่มีการระบาดมากได้ และการปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ ห้ามกิจกรรมเสี่ยงในบางพื้นที่สีเท่านั้น และห้ามเดินเข้าออกสมุทรสาครก่อนได้รับอนุญาต
ขณะที่รอบ 3 ศบค.มีการออกมาตรการที่เข้มขึ้น ภายหลังผ่านช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้ว ทั้งที่ สธ.เสนอให้มีการกำหนดโซนสีจังหวัดตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.2564 แต่ถูกตีตกไป จนกระทั่งหลังผ่านเทศกาลสงกรานต์จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและสูงขึ้นแบบคงตัว โดยศูนย์กลางการระบาดอยู่ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ที่มีความซับซ้อนทั้งการใช้ชีวิตของประชากรและโครงสร้างการบริหารที่เป็นรูปแบบพิเศษ คือ กรุงเทพมหานคร และสายพันธุ์ที่ระบาดจะแพร่ได้ง่ายขึ้น1.7 เท่า แต่มาตรการที่ใช้ก็ไม่ได้เข้มข้นไปกว่ารอบ2 มีการยกระดับโซนสีจังหวัด การสั่งปิดสถานที่เสี่ยง ห้ามกิจกรรมบางประเภท ไม่ได้ห้ามเดินทางเข้าออกกทม.และจังหวัดที่เป็นสีแดงเข้ม อย่างกทม.และปริมณฑล และไม่มีการสั่งล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ที่พบกลุ่มก้อนการระบาดมาก ขณะที่มาตรการในต่างจังหวัดนั้น มีการใช้มาตรการ “ล็อกดาวน์พื้นที่”ทันทีที่พบมีการติดเชื้อกลุ่มก้อน เช่น สั่งปิดห้ามเข้าออกตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน หรือ ตำบล เป็นต้น
กทม.ปริมณฑลวุ่นตรวจ-เตียงเต็ม
ในช่วงการระบาดของรอบที่ 3 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการกระจุกตัวอยู่ที่กทม.และปริมณฑล ส่งผลให้ประสบปัญหาผู้ที่ติดเชื้อหาเตียงเข้ารับการรักษาไม่ได้ อันเนื่องมาจาก 2 ส่วน คือ 1.ไปตรวจแล็ปเอกชน ที่ไม่มีเตียงรับผู้ป่วย ซึ่งต่อมาสธ.ได้กำหนดให้แล็ปเอกชนที่ตรวจโควิด-19จะต้องมีการทำ MOU กับสถานพยาบาลในการส่งผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวกเข้ารับการรักษาด้วย และ2.เตียงในสถานพยาบาลที่ตรวจเต็ม โดยเฉพาะในรพ.เอกชน ต่อมาได้มีการขยายฮอสพิเทล ในส่วนของกทม.จึงได้มีการเปิดรพ.สนามเพิ่มเติมขึ้นหลายแห่ง รวมถึง สธ.เปิดศูนย์แรกรับที่อาคารนิมิบุตร เพื่อประสานรับผู้ติดเชื้อมาดูแลระหว่างรอเข้ารับการดูแลรักษาในรพ.หรือรพ.สนามด้วย เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่อยู่ในระดับ2,000 รายต่อวันต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหนักเพิ่มขึ้นเช่นกัน จนรพ.หลายแห่งต้องขยายไอซียู และสธ.เปิดรพ.บุษราคัมที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพคเมืองทองธานี เพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเหลือง เพื่อให้เตียงในรพ.ว่างในการดูแลผู้ป่วยอาการระดับสีแดง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2564 ศบค.รายงานพบคนงาน 15 รายที่แคมป์คนงานก่อสร้างหลักสี่ตรวจพบเป็นสายพันธุ์อินเดีย B.1.617.2 อย่างไรก็ตาม สธ.รายงานอ้างถึงสธ.อังกฤษระบุว่าสายพันธุ์อินเดียยังไม่ดื้อต่อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และวันที่ 23 พ.ค.รายงานผลการสุ่มตรวจสายพันธุ์ที่ ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส พบเป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ซึ่งจะมีผลให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง
นั่นคือสถานการณ์ภาพรวมของประเทศไทยในการรับมือโควิด-19 ที่ผ่านมากว่า 1 ปี หากมองเพื่อนบ้าน สิงคโปร์และนายกรัฐมนตรีลี เซียนหลุงได้ชื่อว่าเป็นเสือปืนไวในการรับมือโควิด
สิงคโปร์ตั้งคณะทำงานร่วมหลากหลายกระทรวงตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.2563 ก่อนจะพบผู้ติดเชื้อยืนยันแล้วรายแรกในสิงคโปร์ในวันที่ 23 ม.ค. เป็นชายวัย 66 ปีจากเมืองอู่ฮั่น ซึ่งวันที่ 23 ม.ค.นี่เองเป็นวันที่จีนล็อกดาวน์อู่ฮั่น ศูนย์กลางการแพร่ระบาดในขณะนั้นเพื่อสกัดเชื้อไม่ให้กระจายออกไปนอกเมือง ระหว่างนั้นสื่อต่างประเทศรายงานว่า สหรัฐและญี่ปุ่นต่างหาทางนำพลเมืองของตนออกจากอู่ฮั่นโดยเร็วที่สุด
7 วันผ่านไปเว็บไซต์แชนเนลนิวส์เอเชีย รายงานว่า ชาวสิงคโปร์ 92 คน เดินทางโดยสายการบินสกูตจากอู่ฮั่นมาถึงสิงคโปร์แล้วในช่วงเช้าวันที่ 30 ม.ค.63 ถือเป็นการรับพลเมืองกลับบ้านอย่างรวดเร็วชนิดที่ไม่มีข่าวในหน้าสื่อต่างประเทศมาก่อน
เมื่อโควิดระบาดไปทั่วประชาคมโลกจึงฝากความหวังไว้กับวัคซีน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ แถลงในวันที่ 15 พ.ค. คาดว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 พร้อมใช้ภายในสิ้นปี 2563 เร็วกว่าที่สำนักงานยายุโรป (อีเอ็มเอ) คาดการณ์ว่าต้องใช้เวลาอีกหนึี่งปีกว่าจะได้วัคซีน
วันที่ 7มิ.ย.นายกรัฐมนตรีลี เซียนหลุง แสดงวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ว่า วัคซีนที่โลกต้องการเป็นอย่างมากต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1 ปีกว่าจะพร้อมใช้ทั่วไป ระหว่างนั้นขอให้ชาวสิงคโปร์เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตร่วมกับโควิดในระยะยาว
เดือน พ.ย.2563 บริษัทยาไฟเซอร์ อิงค์ของสหรัฐฯ และไบออนเทคของเยอรมนี ออกมาเปิดเผยความสำเร็จในการผลิตวัคซีนโควิด-19 โดยใช้เทคโนโลยี mRNAมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ได้มากกว่า 90% แต่จะต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิเย็นจัด -70 ถึง -20 องศาเซลเซียส
สำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทคได้เป็นกรณีฉุกเฉินในวันที่ 11ธ.ค. แต่ก่อนหน้านั้นในวันที่ 8 ธ.ค. สำนักงานการบินพลเรือนสิงคโปร์ (ซีเอเอเอส) และชางงีแอร์พอร์ทกรุ๊ป (ซีเอจี) แถลงว่า ศูนย์คาร์โกของชางงีพร้อมแล้วสำหรับการนี้ ด้วยการตั้งคณะทำงานชางงี ประกอบด้วยสมาชิก 18 รายที่เกี่ยวข้องในแวดวงขนส่งสินค้า ทั้งสายการบิน ตัวแทนนำเข้า-ส่งออกสินค้า การยกขนสินค้า และหน่วยงานรัฐบาล เพื่อจัดการกับระบบโลจิสติกส์ทั่วโลก
ศูนย์คาร์โกของสนามบินชางงีถือเป็นเครือข่ายแรกและใหญ่สุดของเอเชียแปซิฟิกที่ผ่านการรับรอง CEIV Pharma (Centre of Excellence for Independent Validators in Pharmaceutical Logistics)ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไอเอทีเอ)
ถึงวันนี้ทั่วโลกใช้วัคซีนรับมือกับโควิด-19 ข้อมูลจากเว็บไซต์ ourworldindata ระบุว่า นับถึงวันที่ 17 พ.ค. สิงคโปร์ฉีดวัคซีนไปแล้ว 58.24 โดสต่อประชากร 100 คน มาเลเซีย 7.12 อินโดนีเซีย 8.5 ติมอร์ตะวันออก 2.32 ฟิลิปปินส์ 3.01 บรูไน 3.64 เมียนมา 4.68 เวียดนาม 1.04 ลาว 7.74 กัมพูชา 20.96 และไทย 3.64 ความไวของสิงคโปร์ในการรับมือโควิดเห็นได้จากตัวเลขผู้ฉีดวัคซีนที่มากกว่าใครทั้งหมดในอาเซียน ทั้งยังใช้เฉพาะวัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทคและโมเดอร์นาซึ่งใช้เทคโนโลยีmRNA ที่หลายคนเชื่อมั่น