ผลวิจัยชี้'ดื่มกาแฟ-กินผัก'อาจช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านโควิด
ผลวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัย Northwestern Medicine ระบุว่า การดื่มกาแฟและรับประทานผักเป็นประจำ อาจช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้
"โควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีส่วนสำคัญในการต่อสู้กับโรคติดเชื้อเช่นนี้ และโภชนาการส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของเรา" รองศาสตราจารย์แมร์ริลิน คอร์เนลิส นักวิจัยอาวุโสจาก Feinberg School of Medicine แห่งมหาวิทยาลัย Northwestern Medicine กล่าว
เพื่อค้นหาคำตอบในประเด็นนี้ คณะผู้วิจัยจึงทำการวิเคราะห์ข้อมูลว่า อาหารบางประเภทมีความสัมพันธ์กับการมีภูมิต้านทานเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ โดยใช้ข้อมูลจาก UK Biobank ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชาชนเกือบ 38,000 รายตั้งแต่ปี 2549-2553 และพิจารณาว่าพฤติกรรมการบริโภคอาหารส่งผลอย่างไรต่อความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ในปี 2563 จากจำนวนผู้เข้าร่วมการ 17% ที่มีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นบวกระหว่างเดือนมี.ค.-ธ.ค. 2563
จากการเก็บข้อมูลการบริโภคของผู้ที่ดื่มชาและกาแฟพบว่า การดื่มกาแฟอย่างน้อยวันละ 1 ถ้วยมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลง 10% ในการติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่การดื่มชานั้นไม่มีผลแต่อย่างใด โดยคอร์เนลิสระบุว่า แม้ว่าทั้งชาและกาแฟจะมีสารคาเฟอีน แต่กาแฟมีสารคาเฟอีนมากกว่าชาอย่างน้อย 2 เท่า เธอจึงคาดว่าความแตกต่างอาจมาจากปริมาณคาเฟอีน หรือสารประกอบบางอย่างที่มีเพียงในกาแฟเท่านั้น
ส่วนการรับประทานผักนั้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลง แต่ขณะเดียวกัน ทีมผู้วิจัยก็พบว่า การรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูปแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เกิดผลในทิศทางตรงกันข้าม
"เราไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคเนื้อแดงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น แต่การบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูปนั้นมีผลมาก" คอร์เนลิสระบุ
ทั้งนี้ จากการวิจัยดังกล่าว การรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูป 0.43 หน่วยบริโภคต่อวัน (ขนาดประมาณครึ่งสำรับไพ่) สัมพันธ์กับความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ที่สูงขึ้น