A Call to Action
เส้นทางของประเทศไทยในการรวมพลังเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
หากกล่าวถึง“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำพูดนี้มาเป็นเวลาอันยาวนาน แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจถ่องแท้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักคิดที่ช่วยในการวิเคราะห์ตัดสินใจสามารถนำมาใช้ได้ในทุกการดำเนินกิจกรรม ตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืน ดังเช่นผลสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จนได้รับการยกย่องจากทั้งในประเทศและระดับสากล เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ที่ผ่านมามูลนิธิมั่นพัฒนาร่วมกับสำนักพิมพ์ต่างประเทศ Editions Didier Millet (EDM)เปิดตัวหนังสือ A Call to Action: Thailand and the Sustainable Development Goalsที่ถ่ายทอดเรื่องราว องค์ความรู้ และกรณีศึกษาจากการพัฒนาในประเทศไทยที่ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ (17 SDGs)ขององค์การสหประชาชาตินอกจากนั้นภายในงานยังมีการเสวนาในประเด็น "ประเทศไทยกับการพัฒนาที่ยั่งยืน"โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคิดด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติต่างๆ พร้อมทั้งสะท้อนให้เห็นคุณค่าที่เกิดจากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นรากฐานในการพัฒนาคน
ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา และผู้อำนวยการศูนย์สถานศึกษาพอเพียง มูลนิธิยุวสถิรคุณเปิดประเด็นต่อเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า “เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกนี้ เรายังต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ดังนั้นการพัฒนาจึงไม่สามารถเห็นแก่ตัวได้ การพัฒนาที่ยั่งยืนคือการพัฒนาเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และเพื่ออนาคต โดยคำนึงถึงประโยชน์ระยะยาว” เพื่อเป็นการทบทวนให้เห็นว่าบทบาทของการขับเคลื่อนเรื่องของความยั่งยืนนั้นเป็นหน้าที่ของเราทุกคน และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงก็เปรียบเสมือนเครื่องมือที่ช่วยให้คนเราใช้ความรู้บนพื้นฐานคุณธรรม มาวิเคราะห์ตัดสินใจได้อย่างพอเหมาะ พอดี มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้เกิดความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจึงจะนำไปสู่ความยั่งยืน นอกจากนั้น ดร.ปรียานุช ยังได้ยกตัวอย่างจากหนังสือเล่มดังกล่าวให้เห็นว่า โครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ล้วนแล้วแต่เป็นโครงการที่เริ่มต้นจากวิธีคิดของความพอเพียงทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ผลที่เกิดขึ้นจึงก่อให้เกิดความสำเร็จ ที่สมดุล มั่นคง และยั่งยืน สามารถเป็นต้นแบบและเข็มทิศในการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศและของโลกได้
การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องใกล้ตัว คือหน้าที่ของเราทุกคน
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(กพย.) และผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนมองได้2 ระดับ คือ ระดับนานาชาติการพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นกระแสเรียกร้องจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ที่มีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (The United Nations Conference on Environment and Development - UNCED)หรือที่เรียกว่า “Earth Summit” ที่ประเทศบราซิล และเมื่อประเทศต่างๆทั่วโลกเริ่มประสบกับวิกฤติการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน ทำให้หลายประเทศเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีการพัฒนาโดยเน้นความสำคัญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย
“ส่วนระดับประเทศ รัฐบาลไทยได้กำหนดแผนการพัฒนาประเทศให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลายระดับ ตั้งแต่กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 – 2564) รวมถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตรา 65 ที่รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้เป็นเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะเป็นกรอบในการเชื่อมโยงการทำงาน อีกทั้งยังเป็นตัวกำหนดเป้าหมาย และตัวชี้วัดนอกจากนั้นยังมีคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รับผิดชอบการจัดทำนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็น 3 ชุดย่อย ได้แก่ คณะอนุกรรมการชุดแรกที่ทำหน้าที่วางแผนและขับเคลื่อนเป้าหมาย (Roadmap) คณะอนุกรรมการชุดที่สองทำหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจต่อเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และคณะอนุกรรมการชุดที่สามที่ทำหน้าที่ในการทำข้อมูลเชิงสถิติ เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อสามารถจำแนกจัดกลุ่มเป็นประเด็นหลักๆ หรือที่เรียกว่า “5 P” คือ People (ประชาชน) Planet (โลก/ระบบนิเวศ), Prosperity (ความมั่งคั่ง), Peace (สันติภาพ) และPartnership (ความเป็นหุ้นส่วน) ซึ่งแต่ละ P จะเชื่อมโยงกัน การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องครอบคลุมในทุกมิติตรงนี้เป็นโอกาสสำคัญของไทยที่จะมีการเก็บข้อมูลสถิติเพิ่มเติม จัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อการติดตามประเมินว่า ประเทศไทยอยู่ในขั้นตอนไหนของการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการสร้างความยั่งยืนในด้านต่างๆให้เป็นที่ยอมรับ”
ดร.บัณฑูรกล่าวย้ำว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมผ่านการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนกว่า 4,000 โครงการ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ประการ เช่น การขจัดความยากจน การจัดการระบบนิเวศ การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน การผลิตพลังงานสะอาด การสาธารณสุข การพัฒนาด้านการเกษตร แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวคนไทยเลย
“ประเทศไทยมีภูมิปัญญา ประสบการณ์และความรู้ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งที่ประสบความสำเร็จและที่ยังต้องดำเนินการต่อไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เวลานี้จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยในการเริ่มต้นลงมือทำ และหนังสือเล่มนี้เป็นความหวัง ที่จะบอกได้ว่าขณะนี้เรายังต้องทำอะไรและทำเรื่องไหน”
บทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจสู่การนำแนวคิดของความพอเพียงมาประยุกต์ใช้
นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ ทำให้ภาคธุรกิจสามารถฝ่าฟันวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 และกลับมายืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่ง
“ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวคิดที่สามารถประยุกต์ใช้มาปฏิบัติในการดำเนินชีวิต และการงาน ที่สำคัญคือเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมถึงยังมีความสอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนทำให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวและสร้างความมั่นคงได้ในปัจจุบันและในอนาคต”
นายวิชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะ 20 ปีที่ผ่านมา หอการค้าไทย ในฐานะองค์กรหลักของภาคธุรกิจ ได้ตระหนักและให้ความสำคัญ ในการเติบโตภาคธุรกิจจะต้องควบคู่ไปกับความมั่นคงทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ดังนั้น หอการค้าไทย จึงได้เพิ่มพันธกิจด้านการพัฒนาสังคม เริ่มจาก โครงการ 1 ไร่ 1 แสน และ โครงการ 1 บริษัท 1 ชุมชน และได้พัฒนามาเป็น “โครงการสานพลังประชารัฐ ” ในปัจจุบัน นอกจากนั้น ได้มีการสร้างความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชั่น และเครือข่ายประชารัฐเพื่อสังคม ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญในการพัฒนาสังคมที่ภาคธุรกิจเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง
ความหวัง คือ พลังของการเปลี่ยนแปลง
ด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยกตัวอย่างปัญหาสภาพแวดล้อมของไทยว่า ปัญหาการจัดการขยะพลาสติกในทะเลของไทยถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ทุกคนจะต้องช่วยกันแก้ไข และเป็นปัญหาที่องค์การสหประชาชาติต่างจับตามองอย่างมาก เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่ติดอันดับหนึ่งในห้าของโลกที่ทิ้งขยะลงสู่ทะเลมากที่สุด ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในทะเลเป็นอย่างมาก”
ผศ.ดร.ธรณ์ ย้ำว่าหัวใจที่สำคัญที่สุดของทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนคือทุกคนทุกฝ่ายร่วมลงมือทำด้วยใจ เราต้องพยายามจัดการกับอุปสรรคของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ “การไม่มีหวัง” และเริ่มสร้าง “ความหวัง” ที่จะนำทางสู่การเปลี่ยนแปลงปัญหาทุกอย่างให้ดีขึ้นได้ มองถึงความท้าทายที่จะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ และต้องปรับรูปแบบกระบวนการให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายตลอดจนใช้วิวัฒนาการในเรื่องของเทคโนโลยี เช่น โซเชียลมีเดีย เข้ามาเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็น่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ บรรลุได้ตามเป้าประสงค์จริงๆ
หนังสือ A Call to Action: Thailand and the Sustainable Development Goals วางจำหน่ายที่ร้านเอเชียบุ๊คส์ และร้านคิโนะคุนิยะ รวมถึงร้านหนังสือชั้นนำในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และที่ Amazon.com ในราคา เล่มละ 1,250 บาทสำหรับสถาบันการศึกษาหรือองค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการนำไปใช้เพื่อการศึกษากรุณาติดต่อที่ [email protected]