โอกาสใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย: บทวิเคราะห์ส่งท้ายปี 2566
มาตรการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV 3.0) ส่งผลให้ตลาด EV ไทยคึกคักเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายนปี 2566 มีรถยนต์ไฟฟ้าสี่ล้อที่เข้าจดทะเบียนใหม่มากกว่า 140,000 คัน หรือ มากกว่า 1 ใน 4 เมื่อเทียบกับจำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนใหม่ในช่วงเวลาเดียวกันที่ 520,000 คัน
สะท้อนความนิยมของคนไทยต่อรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจ Deloitte’s 2023 Global Automotive Consumer Study ที่พบว่า คนไทยกว่า 60% จะเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นรถคันต่อไป ส่งผลดีต่อนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 แม้ว่ารัฐบาลจะลดเงินอุดหนุนในมาตรการ EV 3.5 แต่ผู้เล่นรายใหม่ๆ ก็เข้ามาทำให้ตลาดยานยนต์ดุเดือดมากกว่าเดิมไปเรียบร้อยแล้ว
สิ่งที่น่าสนใจคือการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทาน และแรงงานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ผูกกับเทคโนโลยีเครื่องสันดาปภายใน (ICE) แม้ประเทศไทยจะไม่ผลักดันให้มีแบรนด์รถยนต์เองเพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และมีเป้าหมายที่จะเป็นฐานผลิตรถ ICE แห่งสุดท้ายของโลก
จากการสำรวจ ดีลอยท์ประเมินมูลค่าตามราคาตลาดของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเครื่องสันดาปภายใน เช่น เครื่องยนต์ ระบบท่อไอเสีย ระบบส่งกำลัง และระบบการจ่ายน้ำมัน ในปี 2568 จะมีมูลค่าลดลงร้อยละ 10-15 เมื่อเทียบกับปี 2563[5] ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนคนงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกลดลงร้อยละ 18 ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2550
อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น การพัฒนาซอฟแวร์ เนื่องจากแนวโน้มความนิยมรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลให้เกิดความต้องการด้านซอฟแวร์เพิ่มมากขึ้น จากรายงาน Software-Defined Vehicles: Engineering the Mobility Revolution ของดีลอยท์ มีการคาดการณ์ว่าธุรกิจรถยนต์ที่กำหนดด้วยซอฟแวร์ (Software-Defined Vehicles: SDVs) เติบโตในตลาดอย่างก้าวกระโดด จากร้อยละ 2.4 ในปี 2564 เป็นร้อยละ 90 ในปี 2572
โดยสรุปแล้ว SDVs จะเปลี่ยนระบบกลไกและไฟฟ้าที่ใช้อยู่แต่เดิมไปใช้ซอฟแวร์ที่สามารถอัพเดทได้ เพื่อให้สามารถตรวจจับสภาพถนนและสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ได้แม่นยำขึ้น และกำหนดการตรวจเช็คและบำรงรักษาที่แปรผันตามสไตล์และเส้นทางการขับขี่ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ข้อมูลและปรับรูปแบบการใช้ให้เหมาะกับคนขับแต่ละคน และใช้ Augmented Reality (AR) เพื่อเพิ่มวิสัยทัศน์ในการขับขี่ในสภาพอากาศแปรปรวนได้ ในภาคธุรกิจ SDVs ยังเป็นโอกาสที่สามารถต่อยอดในมิติต่าง ๆ ได้ดังนี้
1. Autonomous Driving หรือรถยนต์ไร้คนขับ เป็นระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ (Advanced Driving Assistance System: ADAS)[8] ที่สะดวกสบายและปลอดภัย ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยี Computer Vision ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้รถสามารถประเมินวัตถุบนท้องถนนแทนการติดตามการควบคุมของคนขับ รับส่งข้อมูลกับระบบการจราจร และผู้ที่สัญจรอยู่รอบ ๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยจาก Vehicle to Everything (V2X)
2. Power Train and Vehicle Motion เป็นการใช้ AI เพื่อควบคุมทั้งการใช้งานและการชาร์จแบตเตอรี่ให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด จะเพิ่มระยะทางในการขับขี่ได้ไกลมากขึ้น และการยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่ได้นานมากกว่า 12 ปี (โดยมาตรฐานอุตสาหกรรมกำหนดไว้ที่ 10 ปี)
3. User-Centric Experience เจ้าของรถสามารถปรับลักษณะของรถได้ตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับสมรรถนะของรถ ปรับค่า ADAS ปรับแสง สี เสียง ปรับระบบข้อมูลข่าวสารและความบันเทิง และหน้าจอต่าง ๆ นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงการใช้ AI มาร่วมประเมินวันที่เข้ารับบริการตามพฤติกรรมและสไตล์การขับขี่ได้
4. Architecture Core Blueprint โมเดลระบบซอฟแวร์ในรถยนต์มีแนวโน้มจะเป็นไปในทางเดียวกันกับระบบในโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยจะสร้างแพลตฟอร์มที่เปิดให้นักพัฒนาซอฟแวร์อิสระมาเป็นมีส่วนร่วมในตลาด ทั้งนี้จำต้องอาศัย Systematic Software Architect Management เพื่อป้องกันการเกิดข้อผิดพลาด รวมถึงความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ดีมารองรับ
5. Data-Driven and Connected Services เนื่องจากรถสามารถที่จะอัพเดทซอฟแวร์ต่าง ๆ ด้วยการส่งข้อมูลผ่านทางอากาศคล้ายกับแล็ปท็อปหรือโทรศัพท์มือถือ ความสำคัญของศูนย์บริการลดน้อยลงไปด้วย
การเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย ชี้ให้เห็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงให้กับธุรกิจที่จะเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า จากข้อมูลของ Sibros.tech ในปี 2565 มีรถยนต์กว่า 10 ล้านคันทั่วโลกที่ถูกเรียกคืนเพื่อแก้ปัญหาด้านซอฟแวร์ เทียบกับเมื่อสิบปีก่อนที่มีรถยนต์ประมาณหกแสนคัน[9] ที่ถูกเรียกคืน สิ่งนี้จึงเป็นการเพิ่มต้นทุนทางตรง และทำให้ความเชื่อมั่นของลูกค้าลดลง
ดังนั้นความปลอดภัยด้านไซเบอร์ การบริหารความเสี่ยง และการดำเนินงานตามกรอบ Zero-Fault จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในอนาคต
หมายเหตุ บทความข้างต้น เขียนขึ้นโดย มงคล สมผล Automotive Sector Leader และดร. โชดก ปัญญาวรานันท์ ผู้จัดการ Clients & Markets ดีลอยท์ ประเทศไทย