ทําไมเศรษฐกิจปีนี้ อาจลําบากกว่าปี 40
ช่วงนี้ผมเจอคําถามบ่อยเรื่องเศรษฐกิจ คําถามไม่ใช่เศรษฐกิจจะดีหรือแย่ แต่คําถามคือเศรษฐกิจปีนี้จะแย่แค่ไหน
จะเป็นเหมือนตอนเกิดวิกฤติปี 40 หรือไม่ เพราะปัจจัยลบมีมากมายที่ประดังเข้ามากระทบเศรษฐกิจ ทั้งเศรษฐกิจโลก ไข้หวัดโควิด-19 ภัยแล้ง ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ และปัญหาการเมืองภายในประเทศเอง
คําตอบของผมก็คือ ปีนี้เราคงไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเหมือนอย่างที่เกิดในปี 40 ที่เศรษฐกิจตกลงแบบหัวทิ่มจนอัตราการขยายตัวปี 40 ติดลบ จากการไหลออกฉับพลันของเงินทุนต่างประเทศ แต่ปีนี้เศรษฐกิจจะชะลอมาก อัตราการขยายตัวยังเป็นบวกแต่อาจตํ่ากว่า 1% แต่ผลกระทบจะกระจายตัวมากทําให้ความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ถูกกระทบ และสําหรับบางกลุ่มอาจลําบากกว่าปี 40 เพราะเศรษฐกิจที่ชะลอปีนี้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ขณะที่ความสามารถของคนส่วนใหญ่ที่จะปรับตัว หรือมีตัวช่วยจากภายนอก เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก หรือนโยบายเศรษฐกิจ มีน้อยกว่าเทียบกับปี 40 ทําให้ประชาชนและธุรกิจส่วนใหญ่ต้องพึ่งตัวเองมาก นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
เทียบกับปี 40 มีสามเหตุผลที่จะทําให้ผลกระทบของเศรษฐกิจปีนี้ต่อคนทั่วไปจะต้องระมัดระวังมาก
1. วิกฤติปี 40 เกิดจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศอย่างฉับพลัน เกิดปัญหาสภาพคล่อง นําไปสู่ภาวะฟองสบู่แตกในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ค่าเงินบาทที่อ่อนลงจากการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนทําให้ภาคธุรกิจที่มีหนี้มากโดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศขาดทุน เกิดปัญหาหนี้เสีย ที่ส่งผลกระทบต่อฐานะและความมั่นคงของสถาบันการเงิน ดังนั้น วิกฤติปี 40 จึงเป็นปัญหาที่เกิดในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงินเป็นหลัก และส่งผลกระทบต่อถึงส่วนที่เหลือของเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจก็ฟื้นเร็วเมื่อการส่งออกกลับมาขยายตัว เงินทุนต่างประเทศไหลกลับ และปัญหาในสถาบันการเงินคลี่คลาย
แต่ปีนี้ ภาคการเงินไม่มีปัญหา สภาพคล่องมีมาก และไม่มีฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์ ปีนี้ปัญหาของเศรษฐกิจอยู่ที่ภาคเศรษฐกิจจริง หรือ real sector ที่อ่อนแอมาก เพราะเศรษฐกิจขยายตัวตํ่าต่อเนื่องมานานกว่าห้าปี ทําให้กําลังซื้อในประเทศไม่มี ประชาชนไม่ใช้จ่ายและหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ภาคธุรกิจไม่ลงทุน กระทบความสามารถในการแข่งขันและการจ้างงาน ที่สําคัญ เศรษฐกิจโลกที่จะชะลอมากปีนี้และผลจากการระบาดของไข้หวัดโควิด-19 จะกระทบรายได้ของประเทศจากการส่งออกและการท่องเที่ยว ซํ้าเติมโดยภาวะภัยแล้งที่กระทบรายได้ของเกษตรกร
ความอ่อนแอเหล่านี้จะส่งผลกระทบกว้างขวางต่อทั้งระบบเศรษฐกิจ กระทบการมีงานทํารายได้และความเป็นอยู่ของคนในประเทศกว้างกว่าปี 40 โดยเฉพาะเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าของกิจการระดับเล็กและกลางและชนชั้นกลางที่มีหนี้แต่ไม่มีเงินออม ล่าสุดผลสํารวจของสวนดุสิตโพลรายงานว่า ประชาชนกว่า 63% ไม่มีรายได้พอใช้จ่าย ที่จะยังดีอยู่คือ ธุรกิจขนาดใหญ่ที่สายป่านยาวและบริษัทที่ใกล้ชิดหรือได้ประโยชน์จากงบประมาณและหรือค้าขายกับภาครัฐ
2. เศรษฐกิจปีนี้ไม่มีตัวช่วยเหมือนปี 40 ปี 40 ค่าเงินบาทที่อ่อนลงและเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดีได้ช่วยให้การส่งออกฟื้นตัวเร็ว ดึงให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัว แต่ปีนี้เศรษฐกิจโลกชะลอและค่าเงินบาทไม่ได้อ่อนมาก ประโยชน์ต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวจึงไม่มี
ปี 40 เศรษฐกิจได้ประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นกอบเป็นกําต่อเนื่องไปถึงปีต่อๆ ไป เช่น โครงการมิยาซาว่า ขณะที่ปีนี้ งบประมาณรายจ่ายประจําปีล่าช้ามาก ทําให้การกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีข้อจํากัด ปี 40 นโยบายการเงินมีพื้นที่ที่จะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากเพราะอัตราดอกเบี้ยไม่ใกล้ศูนย์และหนี้ภาคครัวเรือนตํ่า แต่ปีนี้สถานการณ์ตรงกันข้าม
ปี 40 คนที่ตกงานหรือถูกกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจสามารถกลับไปภาคเกษตรเพื่อหารายได้ทดแทน แต่ปัจจุบันโอกาศดังกล่าวมีน้อยลงเพราะพื้นที่เกษตรมีน้อยลง คนที่ทํางานในเมืองอาจขายสวนขายที่ไปแล้ว ไม่มีพื้นที่เกษตรให้กลับไปหารายได้และยังเจอกับปัญหาภัยแล้ง ท้ายสุด วิกฤติปี 40 เกิดขึ้นหลังเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่สูงต่อเนื่องหลายปี ทําให้คนส่วนใหญ่มีกําลังที่จะปรับตัว แต่ปีนี้การชะลอตัวเกิดขึ้นท่ามกลางความอ่อนแอของภาคเศรษฐกิจจริงที่มีมาต่อเนื่อง สายป่านต่างๆ ที่ประชาชนพอมีได้ถูกใช้ไปเกือบหมดแล้วทําให้ความสามารถในการปรับตัวจะจํากัดเทียบกับปี 40
3. ปี 40 การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทําอย่างจริงจัง ทั้งการปฎิรูประบบและการกระตุ้นเศรษฐกิจ เรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาได้เร็ว พร้อมกับการไหลกลับของเงินทุนต่างประเทศ ขณะที่การเมืองของประเทศในระบบประชาธิปไตยขณะนั้นมีเสถียรภาพ สร้างความมั่นใจในการทํานโยบาย
แต่ปัจจุบันความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อการทํานโยบายมีน้อยมาก เพราะการทํานโยบายให้ความสําคัญกับการจัดสรรผลประโยชน์มากกว่าการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ไม่มีการปฎิรูปเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจกลับไปกลับมา (นักลงทุนใช้คําว่า flip flop) เอาแน่เอานอนไม่ได้ แม้แต่การผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจําปี ทําให้เศรษฐกิจไทยขณะนี้ไม่ได้อยู่ในเรดาห์ของนักลงทุนต่างชาติ ประเทศจึงเสียโอกาศจากเงินทุนต่างประเทศ เห็นได้จากดัชนีตลาดหุ้นที่ล่าสุดปรับลดลงตํ่ากว่าระดับ 1,400 จุด
นี่คือเหตุผลที่เศรษฐกิจปีนี้จะกระทบความเป็นอยู่ของคนในประเทศมาก ที่ห่วงก็คือ ปีนี้นอกจากปัญหาเศรษฐกิจ เราอาจมีปัญหาการเมืองและปัญหาสังคมเข้ามาซํ้าเติม
ปัญหาการเมืองทําให้เกิดความไม่แน่นอนด้านนโยบาย ส่วนปัญหาสังคมก็มาจากเรื่องการตกงาน ไม่มีรายได้ ไข้หวัดระบาด ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 และความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินจากภาวะเศรษฐกิจตกตํ่า ทําให้ความเป็นอยู่ของคนไทยปีนี้ไม่ง่าย เครียด ต้องมีสติ ต้องระมัดระวัง และต้องพึ่งตัวเองมาก