วิกฤติละตินอเมริการอบใหม่: บทเรียนสำหรับไทยและอาเซียน (4)
สาเหตุหลักประการที่ 2 คือ สังคมที่มีการแบ่งแยกชั้นชนตั้งแต่แรก และทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมฝังรากลึกจากอำนาจผูกขาด
ทางเศรษฐกิจและการเมือง สังคมแห่งชนชั้นได้ถูกออกแบบมาจากระบอบการปกครองอันกดขี่ของเจ้าอาณานิคม ชนชั้นที่อยู่บนยอดสูงสุดของพีระมิด คือเจ้าอาณานิคมชาวสเปนหรือโปรตุเกส ข้าราชการของระบอบการปกครองอันกดขี่ กลุ่มนี้ยังรวมถึงนักบวชชั้นสูงและนักแสวงโชคจากยุโรป พวกนี้ถูกเรียกว่า “เพเนนซูลาเรส”
กลุ่มที่ 2 คือ พวกคลิโอล เป็นคนเชื้อสายสเปนที่เกิดในดินแดนแห่งใหม่ทวีปอเมริกา กลุ่มที่ 3 คือ เมสติโซ คือลูกผสมระหว่างชาวสเปนกับชาวพื้นเมือง ชาวพื้นเมืองกับคนผิวดำจากแอฟริกา ชาวสเปนกับคนผิวดำ กลุ่มที่ 5 คือ ชาวพื้นเมืองที่เคยเป็นเจ้าของแผ่นดินก่อนการสำรวจดินแดนและล่าอาณานิคม กลุ่มที่ 6 คือกลุ่มทาสชาวผิวดำที่ถูกนำมาใช้แรงงานจากแอฟริกา เป็นกลุ่มชนชั้นต่ำสุดในสังคม
สาเหตุหลักประการที่ 3 บทบาทการเมืองของผู้นำกองทัพที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิด “รัฐทหาร” ในละตินอเมริกา ตั้งแต่หลังสงครามครั้งที่ 2 จนถึงทศวรรษ 1960 และ 1970 เกิดการแย่งชิงอำนาจกันเอง ฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วมีรัฐบาลเลือกตั้งที่อ่อนแอ วนเวียนเป็นวงจรอุบาทว์ยาวนานหลายทศวรรษ “รัฐประหาร” เป็น “กฎ” มากกว่าเป็น “ข้อยกเว้น” ผู้นำกองทัพในประเทศด้อยพัฒนาส่วนใหญ่ไม่ว่าในละตินอเมริกา เอเชีย หรือแอฟริกา กลายเป็น “นักการเมืองในเครื่องแบบ” (Politician in uniform) ไม่ได้ทำหน้าที่หลักของตัวเองทางด้านการป้องกันและภารกิจเพื่อความมั่นคงและทำลายความเป็นทหารอาชีพ (Military Professionalism) ของกองทัพ บทบาทของกองทัพทางการเมืองในละตินอเมริกาขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วงสงครามเย็น เป็นบทบาทที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐเพื่อต่อสู้กับกองกำลังของฝ่ายคอมมิวนิสต์
มีงานศึกษาวิจัย รัฐและอุดมการณ์ทหารในละตินอเมริกา (The State and Military Ideology in Latin American) จำนวนมากในหมู่นักวิชาการตะวันตก ปัญญาชนชาวละตินอเมริกาเอง ตลอดจนนักวิชาการชาวไทย อย่าง ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พบว่าชุดอุดมการณ์ในสนับสนุนเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ ปัจจัยอุดมการณ์ต่อต้านการเมือง (Anti-politics Ideology) นี้เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบอบอำนาจนิยมของรัฐทหารดำรงอยู่ได้อย่างยาวนานในภูมิภาคนี้ บรรดาชนชั้นนำอนุรักษนิยมและผู้นำกองทัพล้วนอยู่ภายใต้การครอบงำของอุดมการณ์ต่อต้านการเลือกตั้ง รังเกียจนักการเมือง ปฏิเสธหลักการประชาธิปไตย
Brian Loveman และ Thomas M. Davies สรุปไว้ในหนังสือ The Politics of Antipolitics : The Military in Latin America ว่า “อุดมการณ์ต่อต้านการเมืองทำให้เกิดเสถียรภาพ ทำให้ผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจกระจุกตัวในมือของชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ อีกทั้งบีบให้ชนชั้นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในเขตเมืองกับคนยากจนในชนบทต้องเป็นผู้แบกรับราคาของ “การพัฒนา” ฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมละตินอเมริกาจึงมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก
ต่อมาจุดเสื่อมถอยของระบอบรัฐทหารเผด็จการก็เกิดขึ้น เมื่อสงครามเย็นเริ่มผ่อนคลายลงตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 ประเทศต่างๆ ในละตินอเมริกาเริ่มจัดให้มีการเลือกตั้งและกลับคืนสู่รัฐบาลพลเรือน บางประเทศมีการเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม นำมาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพระดับหนึ่ง แต่บางประเทศก็มีการโกง การซื้อเสียงอย่างหนัก นำมาสู่ความวุ่นวาย การอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการทหารอันยาวนาน และรัฐบาลทหารส่วนใหญ่ไม่มีความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศจึงนำมาสู่ “วิกฤตการณ์หนี้สินของประเทศละตินอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1980”
วิกฤติเศรษฐกิจเป็นตัวเร่งให้เกิดขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย การสิ้นสุดของสงครามเย็นทำให้พลังของลัทธิคอมมิวนิสต์อ่อนตัวลงและความกลัวการปฏิวัติแบบคิวบาไม่ได้สร้างความชอบธรรมให้กับบทบาททางการเมืองของกองทัพอีกต่อไป พลังฝ่ายซ้ายและกองกำลังติดอาวุธก็อ่อนตัวลง การสร้างความชอบธรรมว่าผู้นำกองทัพต้องมีบทบาททางการเมืองเพื่อต่อสู้กับภัยคุมคามของลัทธิคอมมิวนิสต์จึงค่อยๆ หมดไป
การเมืองสหรัฐหลังยุคสงครามเวียดนาม เริ่มต้นจากรัฐบาลจิมมี คาร์เตอร์ หันมาให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การไปอุปถัมภ์รัฐบาลเผด็จการทหารที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนจึงทำไม่ได้แบบในอดีต ผู้มีอำนาจรัฐอุ้มฆ่าประชาชนจำนวนมากและนักรัฐประหารที่สร้างความเสียหายต่อประเทศถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยพลังของขบวนการประชาสังคมที่เติบใหญ่ขึ้นอย่างชัดเจน
ขณะเดียวกัน บางประเทศในภูมิภาคนี้เผชิญกับความไม่สงบเรียบร้อยทางการเมืองและสงครามกลางเมืองอันยาวนานยืดเยื้อ ผลของสงครามไม่สามารถทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกุมอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ
สาเหตุประการที่ 4 การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (Transition to Democracy) แต่ได้ประชาธิปไตยที่อ่อนแอและไม่มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาจากนโยบายประชานิยมสุดขั้วและความฉ้อฉลของนักเลือกตั้ง การใช้นโยบายของผู้นำหลายคนในอดีตที่ต้องการสร้างคะแนนนิยม และนำมาซึ่งการพิมพ์เงินและการใช้งบประมาณขาดดุลจำนวนมาก ประเทศในละตินอเมริกามีปัญหาลักษณะดังกล่าวคล้ายกัน มีอาร์เจนตินา เวเนซุเอลา เป็น 2 ประเทศที่เป็นตัวอย่างได้ดี
อาร์เจนตินาเวลานี้เจอกับสภาพการล้มละลายทางเศรษฐกิจ ส่วนบราซิลเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจและมีผู้คนติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก รวมถึงวิกฤตการณ์ขัดแย้งทางการเมืองบางอย่างที่คล้ายกับไทย แต่เพียงแต่ประเทศเขาไม่มีรัฐประหารแล้ว แต่มีตุลาการภิวัฒน์และมีการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งกัน มีการชุมนุมประท้วงเป็นประจำ
ที่เข้าใจกันว่านโยบายแบบประชานิยมแบบละตินอเมริกาเป็นปัจจัยแห่งความล่มสลายก็เป็นเพียงหนึ่งในสาเหตุแห่งวิกฤติ
นโยบายแนวประชานิยมก็มีหลายลักษณะจะเหมารวมว่าสร้างปัญหาวิกฤติฐานะการเงินการคลังจึงไม่ใช่ข้อสรุปที่มองครบถ้วนทุกมิติและรอบด้านมากนัก การโทษแพะ “ประชานิยม” จึงเป็นกลบเกลื่อนปัญหาโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจเหลื่อมล้ำรวมทั้งการอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารอย่างยาวนานและผู้นำจากเสียงข้างมากที่อ่อนแอครับผม