'เศรษฐกิจไร้เงินสด' พฤติกรรมผู้บริโภค โอกาสธุรกิจไทยช่วงโควิด

'เศรษฐกิจไร้เงินสด' พฤติกรรมผู้บริโภค โอกาสธุรกิจไทยช่วงโควิด

แม้คนไทยยังนิยมใช้เงินสด แต่การใช้ e-Payment ก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นและเติบโตอย่างก้าวกระโดดโดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และยิ่งเผชิญวิกฤติโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคปรับตัวสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น และนำไปสู่เทรนด์ของเศรษฐกิจไร้เงินสดไทย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคปรับตัวสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงของมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ขณะที่ผู้บริโภคบางส่วนเลี่ยงการใช้เงินสดในการจับจ่ายใช้สอยบทความนี้ต้องการชวนผู้อ่านวิเคราะห์เทรนด์เศรษฐกิจไร้เงินสดของไทย พฤติกรรมการชำระเงิน รวมถึงการมองธุรกิจผ่านข้อมูลการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอกนิกส์ (e-Payment) ในช่วงโควิด-19  159522375048

  • ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจลดเงินสด

งานศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ผ่านมาได้ส่องดูพฤติกรรมการชำระเงินของคนไทย พบว่า แม้คนไทยยังนิยมใช้เงินสด แต่การใช้ e-Payment ก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นและเติบโตอย่างก้าวกระโดดโดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

จากรูปที่ 1 พบว่าปริมาณการใช้ e-Payment เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า จาก 49 ครั้งต่อคนต่อปีในปี 2559 เป็น 151 ครั้งต่อคนต่อปีในปี 2563 (ข้อมูล เม.ย. 63) สอดคล้องกับพัฒนาการทางเทคโนโลยี ตลอดจนนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะโครงการพร้อมเพย์ในปี 2560 ที่ช่วยทำให้ต้นทุนการโอน e-Payment ถูกลง

ขณะเดียวกันก็มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลายเพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางที่สามารถต่อยอดบริการต่างๆ เพิ่มเติมได้ อาทิ การโอนเงินภาครัฐ การโอนเงินรายย่อยและธุรกิจ ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) รวมถึง QR Payment ที่ปัจจุบันมีจุดบริการกว่า 6 ล้านจุดทั่วประเทศ

หลายท่านอาจสงสัยว่าการใช้ e-Payment เพิ่มขึ้นส่งผลอย่างไรต่อการใช้เงินสดของคนไทย ผลสำรวจของ ธปท. พบว่าการใช้ e-Payment ของคนไทยทั่วประเทศ ปี 2560 ยังกระจุกอยู่ในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานบางสาขาอาชีพ ขณะเดียวกันบทบาทของเงินสดเองก็มีมากกว่าการเป็นสื่อกลางในการชำระเงิน เช่น การเก็บเงินสดไว้สำรองใช้ยามฉุกเฉิน 

159522394117

  • โควิด-19 กระตุ้นให้ผู้บริโภคเลี่ยงการใช้เงินสด

แม้การใช้ e-Payment ของคนไทยยังจำกัดอยู่ในบางกลุ่ม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า โควิด-19 เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้หันมาใช้ e-Payment มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความกังวลในการสัมผัสเงินสด เทรนด์นี้ได้เกิดขึ้นทั่วโลกสะท้อนจากสถิติการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับ เงินสดและโควิด” 

ซึ่งผู้เขียนจัดทำขึ้นโดยอ้างอิงงานศึกษาของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) พบว่า การค้นหาเพิ่มสูงขึ้นในเดือน มี.ค.-เม.ย. 63 เพราะเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดสูงสุด 

และที่น่าสนใจคือ สถิติการค้นหาสอดคล้องไปกับสถานการณ์ในแต่ละประเทศ ซึ่งจากรูปที่ 2 พบว่าเกาหลีใต้มีสถิติสูงครั้งแรกตั้งแต่ปลาย ม.ค.63 ที่เริ่มมีการแพร่ระบาด และสูงขึ้นอีกครั้งในเดือน พ.ค. 63 ซึ่งมีการระบาดรอบ 2 ขณะที่สิงคโปร์ ไทย และทั่วโลก มีสถิติคำค้นที่เพิ่มขึ้นไล่เรียงกันมาเป็นลำดับตั้งแต่เดือน ก.พ. 63 

นอกจากนั้น งานวิจัยของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (NIAID) ชี้ว่าไวรัสสามารถดำรงอยู่บนพื้นผิวสัมผัสได้นานหลายชั่วโมง ธนาคารกลางหลายประเทศรวมถึง ธปท. จึงได้กำหนดมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อผ่านธนบัตร โดยกำหนดให้แยกเก็บธนบัตรที่รับกลับมาจากธนาคารพาณิชย์เป็นเวลา 14 วัน ก่อนให้ธนาคารพาณิชย์เบิกออกไปหมุนเวียนสู่ประชาชนอีกครั้ง ซึ่งช่วยให้มีธนบัตรปลอดเชื้อเข้าสู่ระบบ และช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อผ่านการสัมผัสธนบัตรได้ในระดับหนึ่ง

159522402296

  • โอกาสของธุรกิจไทยในการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

การใช้ e-Payment ของคนไทยในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากระดับปกติ จากธุรกรรมอินเทอร์เน็ตและโมบายแบงก์กิ้งที่ขยายตัวสูงขึ้นกว่า 72% ขณะที่มีการชำระเงินผ่านพร้อมเพย์สูงสุดถึง 16.3 ล้านรายการต่อวัน (เม.ย. 63) และคาดว่าในระยะข้างหน้าการใช้งานยังคงเติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นผลจากความคุ้นชินในการใช้ e-Payment ภายใต้บริบทใหม่

จะเห็นได้จากรูปที่ 3 ว่า มาตรการล็อกดาวน์ทำให้หลายธุรกิจโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ สะท้อนจากข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับลดลง แต่ธุรกิจบางประเภทยังขยายตัวได้ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต สุขภาพและความงาม การตลาดทางตรง เรายังเห็นธุรกิจดาวรุ่งด้านขนส่งสินค้าที่เติบโตเร็วสอดรับไปกับการใช้จ่ายออนไลน์ ซึ่งมีนัยต่อเศรษฐกิจเพราะมีส่วนช่วยรองรับแรงงานที่ตกงานได้บางส่วน 

นับว่าเทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัลโดยเฉพาะการขายออนไลน์เป็นโอกาสของธุรกิจไทยที่มาแรงและน่าจะยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นช่องทางเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคได้โดยตรง ประกอบกับสามารถปรับใช้ได้ด้วยต้นทุนต่ำ

สุดท้ายนี้ การปรับตัวของร้านค้าและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่คุ้นชินกับ e-Payment ตลอดจนนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเร็วขึ้น โดย ธปท.และสถาบันการเงินไทยพร้อมสนับสนุนและพัฒนาระบบชำระเงินให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงเทคโนโลยีการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคต

[บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย]