“กนอ.”อนุมัติ2นิคมฯร่วมใหม่ ดึงลงทุน7 หมื่นล.ลงพื้นที่อีอีซี
กนอ. อนุมัติตั้งนิคมอุตสาหกรรมร่วมใหม่ 2 แห่ง พื้นที่อีอีซี รองรับอุตฯเป้าหมาย คาดสร้างมูลค่าการลงทุนกว่า 70,000 ล้านบาท จ้างงาน 20,000 คน
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ.(บอร์ด กนอ.) ครั้งที่ 14/2563 เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 มีมติอนุมัติจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 2 แห่ง ในรูปแบบของนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับ กนอ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นการเพิ่มพื้นที่เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve ตอบสนองนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีศักยภาพตามยุทธศาสตร์ของประเทศในเชิง Area based โดยที่เอกชนเป็น ผู้ลงทุน พัฒนา และให้บริการระบบสาธารณูปโภค รวมพื้นที่ 2 โครงการ ประมาณ 2,806 ไร่
โครงการแรก เป็นการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ ตำบลห้างสูง อำเภอหนองใหญ่ และตำบลหนองไผ่แก้ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี พื้นที่ประมาณ 1,987 ไร่ ดำเนินงานร่วมกับ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) โดยพื้นที่ตั้งของโครงการอยู่ห่างจากท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดไม่ถึง 100 กิโลเมตร และห่างจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 137 กิโลเมตร แบ่งการจัดสรรพื้นที่ออกเป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมทั่วไป 1,501 ไร่ และพื้นที่สาธารณูปโภคและแนวกันชนประมาณ 486 ไร่
โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่และระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และเปิดให้บริการได้ภายใน 3 ปี ซึ่งหลังจากเปิดดำเนินการแล้วจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนประมาณ 60,057 ล้านบาท และเกิดการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นประมาณ 15,014 คน ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการเกษตร อุตสาหกรรมบริการ เช่น การวิจัยและพัฒนา และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมในพื้นที่อีอีซี
โครงการที่ 2 เป็นการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง พื้นที่ประมาณ 621 ไร่ เป็นการร่วมดำเนินงานกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) โดยพื้นที่โครงการด้านหน้าอยู่ติดกับถนนทางหลวงแผ่นดินสายมาบตาพุด – มาบข่า) ห่างจากท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด 12 กิโลเมตร สนามบินอู่ตะเภา 28 กิโลเมตร ท่าเรือแหลมฉบัง 50 กิโลเมตร และห่างจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 140 กิโลเมตร แบ่งการจัดสรรพื้นที่ออกเป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมทั่วไป 421 ไร่ และพื้นที่สาธารณูปโภคและแนวกันชนประมาณ 200 ไร่
ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่และระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกและเปิดให้บริการได้ภายใน 2 ปี ทั้งนี้ เมื่อเปิดดำเนินการแล้วจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนประมาณ 16,840 ล้านบาท เกิดการจ้างงานเพิ่มประมาณ 4,210 คน ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรรมและผลผลิตจากการเกษตร กลุ่มกิจการบริการและสาธารณูปโภค กลุ่มการพัฒนาและนวัตกรรม และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมในพื้นที่อีอีซี
สำหรับการจัดตั้งนิคมฯทั้งสองแห่งได้นำแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ โดยจัดให้มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่แนวกันชนรอบพื้นที่โครงการฯ และจัดสรรพื้นที่สีเขียวภายในนิคมฯ จัดสรรระบบน้ำทิ้ง การอนุรักษ์พลังงาน