‘ไพโรจน์’ เปิดวิสัยทัศน์ขับเคลื่อน GGC

‘ไพโรจน์’ เปิดวิสัยทัศน์ขับเคลื่อน GGC

MD GGC คนใหม่ “ไพโรจน์ สมุทรธนานนท์” ชู 3 นโยบายการทำงาน Conviction to Change ขับเคลื่อนความมั่นคงทางธุรกิจ สู่อนาคตที่ยั่งยืน

นายไพโรจน์ สมุทรธนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผยมุมมองวิสัยทัศน์การบริหารองค์กรในฐานะกรรมการผู้จัดการคนใหม่ว่า ตนมุ่งมั่นที่จะสานต่อการดำเนินงานตามกลยุทธ์ของ GGC และต้องการให้ GGC เกิดความเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีอย่างยั่งยืนทั้งในด้านของธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม GGC ก่อกำเนิดขึ้นเพื่อต้องการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

โดยเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรให้สูงขึ้น ซึ่งความมุ่งมั่นนี้ยังคงสานต่อเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ โดยมีนโยบายในการบริหารงานคือ “Conviction to Change” นั่นคือพร้อมที่จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ตอบสนองด้วยความรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการสร้างความเข็มแข็งจากภายในสะท้อนสู่ภายนอก พร้อมชูกลยุทธ์และความมุ่งมั่นในการดำเนินงานควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนธุรกิจทั้ง 3 ด้าน คือ ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Biochemicals) และธุรกิจพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) สู่เป้าหมายการเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในอนาคต

นอกจากนี้  GGC ในฐานะผู้บุกเบิกด้านการผลิตผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมีในประเทศไทย ด้วยวิสัยทัศน์ “To be a Leading Green Chemicals Company by Creating Sustainable Value” หรือ “เป็นผู้นำผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนพลังแห่งการสร้างสรรค์เพื่อคุณค่าที่ยั่งยืน” มีพันธกิจหลักคือการเป็นบริษัทแกนนำในธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Flagship Company) ของกลุ่ม GC ซึ่งภายใต้วิสัยทัศน์ดังกล่าวประกอบด้วย 3 คีย์เวิร์ดสำคัญ

ได้แก่ 1.) Leading คือการเป็นผู้นำ ซึ่งในความหมายของ GGC คือจะต้องสามารถวัดผลได้ 2.) Green ความหมาย คือ ผลิตภัณฑ์และธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และ 3.) Sustainable Value สร้างคุณค่าชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้ง 3 คำเกี่ยวข้องกับ GGC โดยตรง และกลยุทธ์ที่จะทำให้บรรลุแนวคิดดังกล่าว บริษัทฯ ได้มีการวางแผนการดำเนินงานที่ครอบคลุมทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ดังนี้

162487620030

ทั้งนี้ ระยะสั้น บริษัท ได้มีการปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้วิกฤตโควิด-19 ด้วยการปรับวิธีการทำงานให้ยืดหยุ่นและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยการให้พนักงานปฏิบัติงานจากที่พักอาศัย (Work From Home) ออกมาตรการ Lock up ซึ่งเป็นมาตรการการปกป้อง Sensitive Area เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและออกนโยบายให้พนักงานทุกคนรายงานสุขภาพประจำวันของตนเองผ่านแอพพลิเคชั่นเพื่อติดตามสุขภาพ รวมไปถึงการปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพและสร้างความเชื่อมั่นด้วยระบบการควบคุมภายในที่ดีและยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล

  • ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) แม้ว่าผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซลของบริษัทฯ จะได้รับผลกระทบจากการเดินทางของประชาชนที่ลดลง บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะขยายฐานลูกค้าให้มีความหลากหลายและแสวงหาโอกาสในการส่งออกผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม ควบคู่ไปกับการนำเสนอขายผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซลเพื่อใช้ในทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการทำเพื่อเป็นเชื้อเพลิง
  • ธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Biochemicals) บริษัทฯ ได้เตรียมการวางแผนกลยุทธ์ด้านการตลาด ในส่วนของผลิตภัณฑ์เอทานอล เพื่อให้พร้อมสำหรับการเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2565 และมีแผนที่จะพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์แฟตตี้แอลกอฮอล์ไปยังธุรกิจปลายน้ำในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและสุขอนามัยส่วนบุคคล (Home and Personal Care : HPC)
  • ธุรกิจพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) บริษัทฯ มีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เพื่อรองรับโครงการในอนาคตที่จะต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Biochemicals) และธุรกิจพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) รวมไปถึงอยู่ระหว่างการคัดเลือกเทคโนโลยีและศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนใน Bio-Succinic Acid ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นเพื่อนำไปผลิตเป็น Bio-PBS ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดย่อยสลายได้อีกชนิดหนึ่ง

ส่วนระยะกลางถึงระยะยาว บริษัทฯ มองว่า กระแส EV Car ถือเป็นตลาดที่น่าจับตาและเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ สำหรับประเทศไทยภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้รถพลังงานไฟฟ้าทั้งในส่วนของผู้บริโภคและผู้ผลิต โดยตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลาง ASEAN’s EV hub และมีรถยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคันบนท้องถนนภายในปี 2573

  • ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซลสู่ผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมี่ยม ด้วยการนำเทคโนโลยี Hydroprocessing เข้ามาปรับปรุงคุณภาพทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
  • ธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Biochemicals) บริษัทฯ มีแผนการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจที่ใช้ปาล์มน้ำมันและอ้อยเป็นวัตถุดิบ ทั้งรูปแบบของการลงทุนโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากกระบวนการผลิตปัจจุบันและการต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำมูลค่าเพิ่ม (High Value Products) ชนิดใหม่ โดยมุ่งเน้นการเข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์ขั้นปลายหลากหลายประเภท เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสุขอนามัยส่วนบุคคล (Home and Personal Care) อาหาร (Food) และโภชนเภสัช (Nutraceuticals)
  • ธุรกิจพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) บริษัทฯ มีแผนการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ที่ใช้วัตถุดิบจากผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Biochemicals) ที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ ด้วยรูปแบบการร่วมมือกับเจ้าของเทคโนโลยีการผลิต

162487621353

นอกจากนี้ GGC ยังได้มีการจัดทำแผนกลยุทธ์และการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรและผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ที่สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ เมทิลเอสเทอร์ (B100) หรือ ไบโอดีเซล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลด Carbon Emission Scope 3 ของ GC Group โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีการปล่อยคาร์บอนจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากพลังงานหมุนเวียน รวมไปถึงโครงการอื่นๆ ที่สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ โครงการปรับปรุงระบบลดความดันไอน้ำและโครงการนำความร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่

GGC ยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ เพื่อก้าวสู่การเป็นแกนนำในธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Flagship Company) ของกลุ่ม GC และเป็นผู้ประกอบการธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมในระดับโลกที่โดดเด่น ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้มีความหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการและขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรอันสอดคล้องกับแนวคิด “เศรษฐกิจชีวภาพ” (Bioeconomy) ของภาครัฐ เพราะเราเชื่อว่า “กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของ GGC ในปัจจุบันจะเป็นหนึ่งพลังสำคัญ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน