ธุรกิจไทยถอนลงทุน ‘เมียนมา’ ขายหุ้นทิ้ง ไม่พาพนักงานไปเสี่ยง

ธุรกิจไทยถอนลงทุน ‘เมียนมา’ ขายหุ้นทิ้ง ไม่พาพนักงานไปเสี่ยง

“เอกชนไทย” เริ่มถอนทุน “เมียนมา” หลังวิกฤติเศรษฐกิจชะลอตัวยาวเกือบ 4 ปี "เอสซีจี" หยุดโรงงานปูนเครื่องจักรหาย ลงทุนสะสม 8 พันล้าน ไม่นำพนักงานไปเสี่ยง “โอสถสภา” ขายเงินลงทุนปรับโครงสร้าง “บล.ลิเบอเรเตอร์” คาดไตรมาส 3 ปีนี้ ขาดทุนเฉียด 800 ล้าน “ทีพีบีไอ” เลิกธุรกิจ  

นับตั้งแต่รัฐบาลทหารเมียนมาทำการรัฐประหารในปี 2564 ประกอบกับเจอวิกฤติโควิด-19 และถูกซ้ำเติมด้วยความไม่สงบภายในประเทศ ส่งผลทำให้เมียนมาตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจ “ชะลอตัว” ลากยาวเกือบ 4 ปี 

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ “ธุรกิจไทย” ที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา จากช่วงแรกประเมินผลกระทบยังจำกัด และชะลอแผนการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์ก่อน แต่ปัจจุบันเริ่มทยอยเห็นเหล่า “เอกชนไทย” แห่ปิดกิจการหรือถอนการลงทุนออกมาแล้ว

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน) หรือ SCG เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การดำเนินธุรกิจผลิตปูนซีเมนต์ในเมียนมา ยอมรับว่าต้องซับน้ำตา เนื่องจากตอนนี้ SCG ได้หยุดโรงงานมาตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเดิมเคยมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตก็ไม่มีแผนการขยาย เนื่องจากปัญหาภายในประเทศที่ไม่สามารถเข้าไปดำเนินธุรกิจอะไรได้เลย

สำหรับงบลงทุนทั้งหมดอยู่ที่ราว 8 พันล้านบาท ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบันเครื่องจักรในโรงงานผลิตปูนซีเมนต์บางส่วนได้สูญหาย และส่วนใดที่รักษาไว้ได้ก็พยายามรักษาไว้ เพื่อยังหวังว่าจะมีความหวังที่จะกลับมาผลิตสินค้าได้อีกครั้ง ดังนั้น แนวคิดการบริหารธุรกิจของ SCG ต้องตรงไปตรงมา และธุรกิจไหนไม่ดีก็ต้องตัดโดยการทยอยตัด

 

“ยอมรับว่าไม่มีความหวังที่จะกลับมาผลิตในเร็วๆ นี้ และน่าจะยาวไปเลย ถ้าอีกหน่อยกลับมาก็ดี แต่ตอนนี้เป็นศูนย์ ดูแล้วไม่มีความหวัง ปัจจุบันเมียนมาใช้ปูนซีเมนต์จากโรงงานจีน และโรงงานทางเหนือของประเทศ ซึ่งเดินกำลังการผลิตบ้าง และหยุดบ้าง โดยสินค้าของจีนมีทหารช่วยดูแล ซึ่งโรงงาน SCG ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ และก็คงไม่เอาพนักงานไปเสี่ยงด้วย” นายธรรมศักดิ์ กล่าว

“โอสถสภา” ขายเงินลงทุนในเมียนมา 

บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2567 ได้มีมติให้จำหน่ายเงินลงทุนในบริษัท เมียนมาร์ โกลเด้น อีเกิ้ล จำกัด (MGE) และบริษัท เมียนมาร์ โกลเด้น กลาส จำกัด (MGG) หรือรวมเรียก MGE Group ซึ่งเป็นบริษัทร่วมค้าที่บริษัทย่อยของบริษัทมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของ 35% และ 51.84% ตามลำดับ 

สำหรับ MGE Group ดำเนินธุรกิจให้บริการผลิต และจัดจำหน่ายขวดแก้ว (OEM) ในประเทศเมียนมา และให้บริษัทย่อยเข้าลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นแบบมีเงื่อนไขบังคับก่อนในวันที่ 30 ส.ค.2567 โดยจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขผูกพันภายใต้สัญญาดังกล่าว

ธุรกิจไทยถอนลงทุน ‘เมียนมา’ ขายหุ้นทิ้ง ไม่พาพนักงานไปเสี่ยง

รวมทั้งการรับชำระเงินเพื่อให้ธุรกรรมมีผลเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในปี 2567 ซึ่งปัจจุบันเงินลงทุนดังกล่าวมีมูลค่าเงินลงทุนคงเหลือประมาณ 136 ล้านบาท และบริษัทย่อยที่บริษัท ถือหุ้น 100% มีภาระค้ำประกันเงินกู้ให้ MGE Group เป็นจำนวนประมาณ 35.8 ล้านดอลลาร์ และ 15,558 ล้านเมียนมาจัต

ทั้งนี้ การจำหน่ายเงินลงทุนใน MGE Group ซึ่งเป็นบริษัทร่วมค้า เป็นไปตามกลยุทธ์การปรับโครงสร้างทางธุรกิจที่มุ่งสร้างความแข็งแรง และขยายการเติบโตให้กับธุรกิจหลัก (Core businesses) ควบคู่กับการพิจารณาผลการดำเนินงาน และการจำหน่ายเงินลงทุนที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก (Non-core businesses) รวมถึงธุรกิจที่บริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นน้อยหรือไม่มีอำนาจควบคุม

แจงขายเงินลงทุนเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจ 

นางสาวรติพร ราษฎร์เจริญ Group Chief Financial Officer OSP เปิดเผยว่า การจำหน่ายเงินลงทุนใน MGE Group ซึ่งเป็นบริษัทร่วมค้าดังกล่าว เป็นไปตามกลยุทธ์การปรับโครงสร้างทางธุรกิจที่มุ่งสร้างความแข็งแรง และขยายการเติบโตให้กับธุรกิจหลัก (Core businesses) ควบคู่กับการพิจารณาผลการดำเนินงาน และการจำหน่ายเงินลงทุนที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก (Non-core businesses) 

รวมถึงธุรกิจที่บริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นน้อยหรือไม่มีอำนาจควบคุม และการจำหน่ายเงินลงทุนนี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศเมียนมาของบริษัท รวมถึงการดำเนินงานของธุรกิจหลัก (Core businesses) ตลอดจนทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินงาน หรือสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทโอสถสภาแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ โอสถสภาพร้อมเดินหน้าผลักดันการเติบโตตามแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว เพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้และอัตรากำไรจากธุรกิจหลักอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาวให้กับผู้ถือหุ้นตามแผนกลยุทธ์ระยะยาว และสอดคล้องกับเป้าหมายการเติบโต 5 ปีของโอสถสภา และมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นพลังเพื่อเสริมสร้างชีวิตให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

ชี้ OSP ขายโรงงานขาดทุน 800 ล้าน

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ลิเบอเรเตอร์ เปิดเผยว่า คาดว่า OSP จะมีโอกาสในการบันทึกผลขาดทุนขาย MGE Group ธุรกิจผลิต-จัดจำหน่ายโรงแก้วที่เมียนมาประมาณ 700 กว่าล้านบาท 

ทั้งนี้ จะทำให้งบไตรมาส 3 ปี 2567 อาจจะไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากเฉลี่ยแต่ละไตรมาสกำไรจะอยู่ที่ประมาณเดียวกันที่ 800 ล้านบาท ทำให้เป็นจุดหนึ่งดูแล้วค่อนข้างแย่ แต่หากมีการเสร็จสิ้นไปแล้วจะสามารถค่อยๆ ปลดล็อกได้ในช่วงถัดไป

ทั้งนี้ ในช่วงระยะสั้น หลังจากโดนประเด็นดังกล่าวเข้าไป ส่งผลให้งบไตรมาส 3 ปี 2567 ไม่ค่อยดีมากนัก อาจจะมีแรงเทขายออกมาเพื่อลดความเสี่ยงไปก่อน ซึ่งในภาพระยะสั้นอาจจะต้องรออีกสักพักหนึ่งโดยดูในฝั่งของกองทุน เพราะขณะนี้กำลังจะจบไตรมาส 3 ปี 2567 ดังนั้น ภาพรวมยังคงจะอันเดอร์เฟอร์ฟอร์มไปอีกระยะ เนื่องจากพอปิดงบลงในเดือนก.ย. 2567

สำหรับหุ้น OSP ยังคงต้องรอให้งบจบก่อน ยังไม่ต้องรีบ รอให้โมเมนตัมกลับมาก่อน หลังจากไตรมาส 3 ปี 2567 ไปแล้วคาดว่า หุ้น OSP ไม่น่าที่จะมีการตั้งด้อยค่าใหญ่ ๆ อีกแล้ว และหลังจากนี้จะมีสตอรี่ M&A มากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2567 เป็นต้น

“ทีพีบีไอ” เลิกธุรกิจในเมียนมา 

นายกมล บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ TPBI แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า การประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2567 มีมติอนุมัติให้เลิก และชำระบัญชีบริษัทย่อย “TPBI & Myanmar Star Company Limited (TPBIMS)” ธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ พลาสติกทั่วไป 

สำหรับเหตุผลในการเลิกกิจการมาจากความไม่แน่นอนในสภาวะเศรษฐกิจ และกฎเกณฑ์ในการดำเนินธุรกิจในเมียนมา 

“จีอีแอล” ยกเลิกเงินลงทุน 45% ในเมียนมา 

ขณะที่บริษัท เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GEL แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า การประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 29 ก.พ.2567 มีมติอนุมัติยกเลิกเงินลงทุน 45% ในกิจการร่วมค้า Wisdom Tree Investment (S) PTE. Limited และ Millcon Thiha GEL Limited 

ทั้งนี้เป็นบริษัทย่อยทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กรูปพรรณในเมียนมา เนื่องจากมีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง สาเหตุจากสถานการณ์การเมืองในเมียนมาไม่เอื้อในการประกอบธุรกิจ

“จีพีไอ” เลิกกิจการธุรกิจแสดงสินค้า

นอกจากนี้ ช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ GPI แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า การประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2566 มีมติอนุมัติเลิกกิจการของบริษัทย่อย คือ GPI Myanmar Company Limited 

สำหรับบริษัทดังกล่าวทำธุรกิจจัดการแสดงสินค้าในเมียนมา ทุนจดทะเบียน 50,000 ดอลลาร์ โดยบริษัทถือหุ้น 100% เนื่องจากปัจจุบันไม่ได้ประกอบกิจการทางการค้าแล้ว

อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ เบรกธุรกิจในเมียนมา 4 ปี

นายเกรียงไกร กาญจนโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีการเข้าไปลงทุนขยายธุรกิจในประเทศเมียนมาหลายปี แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศ ทำให้ต้องหยุดการดำเนินธุรกิจตลาดดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ บริษัทยังไม่มีแผนจะกลับเข้าไปทำตลาดในประเทศเมียนมา แต่หากจะหาโอกาสเพื่อดำเนินกิจการต่อ ต้องรอให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ 100%

สำหรับอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ได้เคยเข้าไปขยายธุรกิจอีเวนต์ในประเทศเมียนมา ด้วยการจัดงานเทรดแฟร์ และงานเอ็กซิบิชัน หมวดหมู่ต่างๆ เช่น งานเมียนมา ฟู้ดเบฟ ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหาร และเครื่องดื่มนานาชาติ งานเมียนมา รีเทล เอ็กซ์โป เป็นงานแสดงสินค้าธุรกิจค้าปลีก และงานเมียนมา บิวท์ แอนด์ เดคคอร์ เจาะตลาดวัสดุก่อสร้าง

ทุนไทย ปักหมุดลุยตลาดเมียนมาต่อ

สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเมียนมา ที่กระทบทุนไทยบางส่วน ทำให้ต้องยุติ และจำหน่ายเงินลงทุนเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ทว่า ยังมีกลุ่มทุนที่ปักหมุดดำเนินกิจการต่อ ผ่านหลายโมเดล

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มของอาเซียน ได้รายงานผลประกอบการ 9 เดือน (ปีงบประมาณ ต.ค.- 66 ก.ย.67) เกี่ยวกับธุรกิจสุราในเมียนมายังเติบโตทั้งยอดขาย และกำไรก่อนหักภาษี (EBITDA) 

อย่างไรก็ตาม ไทยเบฟได้ซื้อกิจการกลุ่มแกรนด์ รอยัล กรุ๊ป (GRG) ผู้ประกอบการวิสกี้รายใหญ่สุดในประเทศ เมื่อปี 2560 สัดส่วนการถือหุ้น 75% โดยกลุ่ม GRG มีโรงงานผลิต 2 แห่ง ที่ผ่านมาบริษัทยังส่งบริษัทลูกอย่างเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ(เอฟแอนด์เอ็น)เข้าไปลงทุนด้วยงบราว 500 ล้านบาท โดยร่วมพันธมิตรท้องถิ่นสร้างโรงงานผลิตเบียร์ในตลาดดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด(มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า ซึ่งมีฐานทัพธุรกิจในประเทศเมียนมาด้วย จากโรงงานในต่างแดน 4 ประเทศ โดยโรงงานผลิตมาม่า ตั้งอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ มีพนักงานกว่า 100 ชีวิต โดยบริษัททำตลาดบะหมี่ฯยาวนานหลายสิบปีแล้ว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์