ภาษี "บุหรี่-เหล้า-น้ำตาล” ปกป้องสุขภาพประชาชน

ภาษี "บุหรี่-เหล้า-น้ำตาล” ปกป้องสุขภาพประชาชน

มาตรการทางภาษี ถูกชี้ว่าเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุดมาตรการหนึ่งในการลดการบริโภค “สินค้าทำลายสุขภาพ”

 ด้วยกลไกพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ที่เมื่อราคาแพงขึ้น คนบริโภคย่อมลดลง ซึ่งไม่เพียงแต่ลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยเท่านั้น รัฐยังได้เงินภาษีมาใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะเพิ่มขึ้น และหากรัฐบาลนำเม็ดเงินภาษีบาปนี้ไปใช้ตรงเพื่อสุขภาพด้วย ก็ยิ่งเป็นประโยชน์สามต่อ หรือ win-win-win เลยทีเดียว   

แนวคิดนี้ถูกตอกย้ำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีรายงานระดับโลกชิ้นใหม่เรื่อง “Health Taxes to Save Lives:Employing Effective Excise Taxes onTobacco,Alcohol,and Sugary Beverages” หรือภาษีสุขภาพเพื่อปกป้องชีวิต : การใช้ภาษีสรรพสามิตบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มผสมน้ำตาลอย่างมีประสิทธิภาพ จัดทำโดยคณะทำงานพิเศษว่าด้วยนโยบายการคลังเพื่อสุขภาพ มูลนิธิบลููมเบิร์กสหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบด้วยผู้นำและนักวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายคน

รายงาน 25 หน้าระบุถึงผลการวิเคราะห์วิจัยการขึ้นภาษีสินค้าทำลายสุขภาพทั้ง3ประเภท คือ บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอออล์ และเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ที่พิสูจน์ว่าภาษีที่เพิ่มขึ้นทำให้ความต้องการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และเครื่องดื่มผสมน้ำตาลลดลงเป็นที่น่าสนใจว่าประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ภาษีที่เพิ่มขึ้นทุก10%ทำให้ความต้องการสูบบุหรี่ลดลง5%ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงถึง6%และลดการบริโภคน้ำอัดลมถึง12%ผลกระทบเกิดขึ้นเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจและสังคม

รายงานฉบับนี้ ยกตัวอย่างหลายประเทศที่ใช้มาตรการทางภาษี เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตลงจนเป็นที่น่าพอใจและสามารถนำงบประมาณจากรายได้ภาษีใช้สนับสนุนการพัฒนาสังคมและสร้างเสริมสุขภาพได้ เช่น ประเทศโคลัมเบียมีการขึ้นภาษียาสูบ (โดยขึ้นภาษีเฉพาะตามปริมาณยาสูบถึง200% และยังกำหนดให้จัดเก็บเพิ่มขึ้นอีก4%ต่อปีตามภาวะเงินเฟ้อ) ผลคือ การสูบบุหรี่ลดลง23% ในปี2560 ขณะที่รายได้จากภาษีบุหรี่ก็เพิ่มขึ้นถึง54% โดยปีเดียวกันยังมีการปรับมาตรการภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในอัตรา 25% รวมภาษีตามมูลค่าของสินค้าและภาษีเฉพาะที่จัดเก็บตามดีกรีแอลกอฮอล์ ทำให้รายได้จัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจาก 195 ล้านเหรียญ เป็น301ล้านเหรียญ หรือ17%ในปี 2560

กลับมาที่บ้านเรา เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีการขึ้นภาษีสรรพสามิตสินค้า ทั้ง 3 ประเภท ยิ่งไปกว่านั้นยังมีกฎหมายใช้ภาษีสรรพสามิตยาสูบและสุราส่วนหนึ่งเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ สื่อสาธารณะ การกีฬาและสวัสดิการผู้สูงอายุด้วย

รูปธรรมของผลจากการผนึกกำลังของทุกภาคส่วน ส่งผลให้อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยลดลงต่อเนื่อง ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ว่าปี2560 มีประชากรสูบบุหรี่ทั้งสิ้น10.7ล้านคนคิดเป็น 19.1%ลดลงจากปี2534ที่มีจำนวน 12.2 ล้านคน หรือ32% ขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอีกหนึ่งโจทย์ท้าทาย แต่จากการสำรวจสุขภาพประชากรไทย โดยการตรวจร่างกายชี้ว่า ร้อยละของการดื่มแอลกอฮอล์ในระดับอันตรายของชายไทยลดลงจาก 16.6% ในปี 2546 เหลือเพียง 6.1% ในปี 2556

ด้านมาตรการจัดการกับเครื่องดื่มผสมน้ำตาล สสส. ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี2546 เช่น การรณรงค์เด็กไทยไม่กินหวาน และโรงเรียนปลอดน้ำอัดลมทั่วประเทศ ส่วนการขับเคลื่อนมาตรการภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล (Tax for SSB) เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี2552 โดย สสส.และภาคีวิชาการได้รวบรวมข้อมูลงานวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องร่วมกับภาคียุทธศาสตร์ ส่งผลให้พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ.2560 ระบุให้มีการเก็บภาษีเครื่องดื่มตามปริมาณน้ำตาล 

เป้าต่อไปคือ“เกลือและโซเดียม”ที่ภาคสุขภาพกำลังช่วยกันเดินหน้ารวบรวมงานวิจัยเพื่อนำไปใช้ขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดนโยบายด้านภาษีโซเดียม พร้อมทั้งได้รณรงค์ให้คนไทยบริโภคเค็มแต่พอดีควบคู่กันไปด้วย

เมื่อรายงานโลกชิ้นนี้ได้ถูกนำไปร่วมจัดประชุมคู่ขนานในสมัชชาองค์การอนามัยโลกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยจึงเป็นหนึ่งใน 11 ประเทศที่ได้รับเชิญเข้าไปร่วมนำเสนองาน โดยมุ่งหวังจะขยายมาตรการด้านนี้ให้ได้รับการใช้กว้างขวางยิ่งขึ้นในโลก

โดย... 

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์

ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)