สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ออนไลน์ ครั้งที่1
สูงขึ้นและสูงขึ้น ยอดขายหนังสือทางออนไลน์ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะหนังสือเด็กและนวนิยาย ตั้งแต่ต้นเดือนมี.ค.
ปลายมี.ค.โรคระบาดโควิด-19 รุนแรงขึ้นมาก ร้านหนังสือบางแห่งในอังกฤษเริ่มรับจัดส่งหนังสือที่มีผู้สั่งซื้อหนังสือออนไลน์ให้ผู้ต้องกักตัวเอง (self-isolating) เพื่อปลอบใจว่ามีคนคิดถึงในกล่องส่งหนังสือจะมีของแถมเล็กๆ น้อยๆ เช่น ช็อคโกแลต ผงช็อคโกแลตชงดื่ม ที่คั่นหนังสือและการ์ดอำนวยพรให้กำลังใจปรากฏว่าได้การตอบรับอย่างดี
5 เมษา ที่เขียนอยู่นี้ เป็นวันสุดท้ายสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 25 มี.ค.- 5 เม.ย. ครั้งที่ 48 ที่จัดงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกเนื่องจากภาวะโรคระบาด คนรักหนังสือสามารถรับชมและสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ เฟซบุ๊กเพจBooK ThaiและยูทูบชาแนลPUBATตลอด 24 ชั่วโมง โดยได้พัฒนาเว็บไซต์ThaiBookFair.comเป็นช่องทางเข้าถึงเมืองหนังสือออนไลน์ขนาดใหญ่ในรูปแบบOnline Book Fairเมื่อเข้าไปจะพบกับแผนที่สามมิติให้เลือกสถานที่เข้าไปซื้อหนังสือที่ต้องการ ทั้งจากเว็บไซต์หลักเอง หรือลิงก์ไปยังแพลตฟอร์มพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นLazada, ShopeeและThailand Bestbuysให้ข้อมูลความสะดวกอย่างยิ่ง หนังสือแต่ละเล่ม นอกจากภาพปก จำนวนหน้า และอื่นๆ มีรายละเอียดถึงขนาดให้น้ำหนักหนังสือว่ากี่กรัม มีเนื้อเรื่องสรุปย่อให้ด้วย
จะไม่เรียกนโยบายปรับกลยุทธ์การจัดงานครั้งนี้ว่าเป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรอีกแล้ว สามารถจัดงานให้นักอ่านได้พบกับผู้จัดพิมพ์สำนักพิมพ์ตามเดิม เพียงแต่เปลี่ยนแพลตฟอร์ม กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาการจัดงานยังคงมีอยู่ ติดตามได้ทั้งรายการสดและติดตามดูวิดีโอย้อนหลัง รายการสดบางครั้งเทคนิคขัดข้องภาพถูกระงับไปบ้าง แต่ก็ตามดูย้อนหลังได้ไม่ตกหล่น เชื่อว่าเมื่อนับจำนวนผู้ติดตามชมแล้วน่าจะมีมากกว่าจำนวนคนที่เคยเข้าไปฟังในงานหนังสือแบบเดิมออนกราวด์
เท่าที่ติดตามก็สนุกสนานดี มีคนเข้าชมงานหนังสือออนไลน์นับได้ห้าแสนกว่าคนแล้ว มากน่าประทับใจทีเดียว
หนังสือ 20 อันดับขายดีในงานส่วนใหญ่เป็นประเภทนิยายแฟนตาซีแปล สำนักพิมพ์หนึ่งบอกว่าทำยอดขายได้ดีกว่าเมื่อก่อน โดยรวมขายได้มากขนาดไหนคงต้องรอรายงานทางการของ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย(PUBAT)
ณ เวลานี้ ต้องขอชมสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯที่พลิกผันตัวได้รวดเร็วเหลือเกินทั้งการตัดสินใจและการช่วยเตรียมตัวสำนักพิมพ์
มีหรืองานหนังสือที่มีคนทุกวัยจะไม่หยิบจับหนังสือ คุยกัน เบียดเสียดขอลายเซ็นในบางบู๊ธ การดึงดันจะจัดแบบเดิมโดยแนวโน้มโรคระบาดรุนแรงขึ้นย่อมไม่รับผิดชอบต่อสังคม ว่าไปแล้วงานหนังสืองานหนึ่งที่จะจัดขึ้น ณ มิตรทาวน์ สามย่าน ในช่วงเวลาเดียวกันนี้และถูกสั่งห้ามนับว่าถูกต้องแล้ว หาไม่ก็อาจคล้ายเรื่องการติดและแพร่เชื้อจากสนามมวย หรือไม่ก็หงอยเหงาขาดทุนยับเยิน
แต่เดิมในงานหนังสือมีผู้จัดพิมพ์ผู้จำหน่ายมาร่วมประมาณ 300 กว่าราย ครั้งนี้ทราบมาว่าสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯได้จัดเทรนนิ่งฉับพลันกลุ่มสำนักพิมพ์ที่ไม่พร้อมไม่เคยคิดทำออนไลน์ จนสามารถประแป้งแต่งตัวออกมาร่วมงานได้ในที่สุดรวมแล้ว 200 กว่าราย ขอปรบมือชมเชยสมาคมฯและโปรแกรมเมอร์ทั้งหลายดังๆ
ยอดขายในงานทั้งหมดจะเท่าไรก็ตาม หนังสือออนไลน์น่าจะเป็นรูปแบบถาวรไปเลยสำหรับหนังสือประเภทลดราคา จัดได้เป็นช่วง ๆตามเทศกาลและโอกาสพิเศษตลอดปี อย่างเช่นช่วงโควิด-19 นี้เว้บไซต์งานหนังสือควรยืดเวลาอีก จะมีโพรโมชั่นมีของแถมของที่ระลึกอะไรอีกย่อมทำได้ เจอกันตัวเป็นๆไม่ได้ก็เจอกันทางหนังสือ สู้ภัยโควิด-19 ด้วยหนังสือนี่แหละ นานเท่าไรก็สู้กันไป ฝากโพลสำรวจด้วยว่าเราอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นหรือไม่ช่วงโรคระบาดโควิด-19
อีกอย่างหนึ่งในเมื่อประจักษ์แล้วว่าการระดมสรรพกำลังขายหนังสือลดราคาเป็นหลักทำทางออนไลน์ได้ผลดีครั้งนี้ ต่อไปหลังโควิด-19 เราคงมีโอกาสทดลองจัดงานหนังสือออนกราวนด์ในรูปแบบอื่นเป็นหลักและติดตามออนไลน์ได้ด้วย เช่น แสดงและเสนอเฉพาะหนังสือใหม่ในรอบ 2 ปีนั้น คล้ายๆงานแฟชั่นเสื้อผ้าที่สร้างความตื่นเต้นร่วมสมัยและมองไปข้างหน้า รวมถึงการสั่งจองหนังสือล่วงหน้ากับสำนักพิมพ์ พบปะนักอ่านนักเขียนนักวิจารณ์ กระชับสัมพันธ์ระหว่างสำนักพิมพ์กับผู้อ่านตลอดจนร้านขายหนังสืออิสระต่างๆ ทั่วประเทศ ความสะดวกซื้อขายตรงส่งตรงจะลดบทบาทสายส่งลง เราอาจได้เห็นการสมัครเป็นสมาชิกสำนักพิมพ์หรือร้านหนังสืออิสระที่เราชอบด้วยเงินจำนวนหนึ่งต่อปีหรือสองปี
จะได้อยู่ด้วยกันอย่างชื่นมื่นยั่งยืนชุมชนคนทำคนขายหนังสือคนซื้อคนอ่าน.