Climate Change จุดเปลี่ยนสู่โอกาสการลงทุนอย่างยั่งยืน

Climate Change จุดเปลี่ยนสู่โอกาสการลงทุนอย่างยั่งยืน

จุดเริ่มต้นของเม็ดเงินมหาศาลที่จะถูกนำไปลงทุนเพื่อพิชิตเป้าหมาย Net Zero และเป็นโอกาสสำหรับบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์และบริการสนับสนุนสิ่งแวดล้อม ที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

ภาวะโลกร้อน เป็นอีกหนึ่งวิกฤติใหญ่ที่กำลังท้าทายความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ ซึ่งผลกระทบจากประเด็นนี้เชื่อมโยงมาถึงความท้าทายและโอกาสในโลกการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ล่าสุดในปีที่ผ่านมา องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ World Meteorological Organization (WMO) ยืนยันว่า อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 1.4 องศาเซลเซียส ตามด้วยการทุบสถิติภัยพิบัติรุนแรงทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกาเกิดภัยพิบัติทางอากาศมากกว่า 20 ครั้งใน 1 ปี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือในลิเบียที่เผชิญน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,000 คน 

ความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศ ดำเนินมายาวนาวกว่า 8 ปี ไม่เพียงเป็นปัญหาเรื้อรัง แต่ผลกระทบยังทวีความรุนแรงขึ้น กระตุ้นให้รัฐบาลและองค์กรระดับโลกเห็นความสำคัญที่จะต้องเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลง นำมาสู่การร่วมลงนามในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่มีประเทศสมาชิกถึง 195 ประเทศ เข้าร่วมในพันธกิจการรักษาอุณภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม หรือจริงๆ ไม่ควรเกิน 1.5 องศาเซสเซียส ตามการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ที่ให้นิยามว่า 1.5 องศาเซลเซียส คือจุดเปลี่ยนที่เมื่อเกินแล้วอาจกู่ไม่กลับ หรือ “สายเกินแก้”

เพราะทุก 1 องศาที่เพิ่มขึ้นหมายถึงชีวิตและความอยู่รอดของมนุษยชาติ ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ด้วยการพิชิตเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net zero ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินทุนมหาศาลถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ล่าสุดสหรัฐฯ ออกกฎหมาย Inflation Reduction Action อนุมัติเงิน 3.7 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นการลงทุนในพลังงานสะอาด และให้ประโยชน์ทางภาษีกับบริษัทที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้านสหภาพยุโรปมีการสร้าง Green Deal Industrial Plan แผนปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมงบประมาณกว่า 2.5 แสนล้านยูโร เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593)

สิ่งเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเม็ดเงินมหาศาลที่จะถูกนำไปลงทุนเพื่อพิชิตเป้าหมาย Net Zero และเป็นโอกาสสำหรับบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์และบริการสนับสนุนสิ่งแวดล้อม ที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ยกตัวอย่างบริษัท First Solar บริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์รายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ได้รับประโยชน์จากนโยบายสนับสนุนด้านพลังงานสะอาด ทั้งจากเครดิตภาษีการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ และเงินอุดหนุนภาครัฐฯ 30% ที่ให้แก่ผู้บริโภคที่ติดตั้งแผงโซลาร์ เท่ากับว่าบริษัทได้รับเงินกระตุ้นยอดขายมาอย่างฟรีๆ สวนทางบริษัทที่มีการปล่อยมลพิษหรือทำลายสิ่งแวดล้อม มีความเสี่ยงที่จะถูกเพ่งเล็งจากภาครัฐ 

เหมือนกับตัวอย่างของ Volkswagen บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ระดับโลก ที่ราคาหุ้นเคยปรับตัวลงหนักกว่า 20% ภายในสัปดาห์เดียว หลังบริษัทถูกดำเนินคดีโทษฐานละเมิดกฎหมายสภาพอากาศด้วยการใช้ซอฟท์แวร์โกงการตรวจวัดการปล่อยไอเสียในปี 2558 โดยเสียค่าปรับกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

จะเห็นได้ว่า ในยุคที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้บริโภค ผู้ถือหุ้น รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน การลงทุนจึงไม่ใช่แค่เพียงการพิจารณาเฉพาะปัจจัยพื้นฐานและระดับราคาหุ้นเท่านั้น แต่ควรคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยที่สะท้อนภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของบริษัทในสายตาของนักลงทุน เป็นโอกาสการลงทุนในบริษัทที่ได้รับการสนับสนุน และช่วยลดความเสี่ยงการเผชิญมาตรการลงโทษและการปรับจากภาครัฐในอนาคต

ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์เอง ก็เห็นความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเรามีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น Net Zero จากการดำเนินงานภายในปี 2573 และครอบคลุมไปถึงการให้สินเชื่อและการลงทุนภายในปี 2593 ขณะที่ ปัจจุบัน เราก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์กองทุนรวมที่ใส่ใจต่อการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้เข้าถึงการลงทุนในบริษัทที่มีศักยภาพทำกำไร พร้อมกับการมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม มุ่งหน้าสู่การพิชิตเป้าหมาย Net Zero ไปพร้อมๆ กัน 

Source : https://www.statista.com/statistics/1459160/biggest-greenwashing-fines-worldwide-by-company/