‘ศุภชัย’ มอง 3 ความท้าทาย ‘เอไอ - ลดคาร์บอน’ เตรียมรับมือเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจ
“ศุภชัย” มอง 3 ความท้าทายปี 2025 เตรียมรับมือการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล ทวนกระแสโลกาภิวัตน์ และการกำจัดคาร์บอน ชี้ความร่วมมือหลายภาคส่วนจำเป็นเพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน ชงตลาดหลักทรัพย์บังคับรายงานความยั่งยืนแสดงจุดยืนชัดร่วมกัน พร้อมปลูกฝังตั้งแต่การศึกษา
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ The Collaboration for Sustainable Future ภายในงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2567 ว่า เป้าหมายความยั่งยืนโดยองค์การสหประชาชาติ (SDGs Goals) 17 ด้าน ที่จะต้องบรรลุวัตถุประสงค์ภายในปี 2030 นั้น ขณะนี้เหลือเวลาอีกแค่ 6 ปี แต่โลกบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้เพียง 17%
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังถือว่าเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนในภูมิภาค โดยมี SDGs Score อันดับ 3 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนติดต่อกัน 7 ปีซ้อน ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของภาคเอกชนที่ร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว
ทั้งนี้ ในเวลาที่เหลืออีก 6 ปีก่อนที่จะถึงกำหนดเวลา สหประชาชาติ (UN) ได้กำหนด 5 ประเด็นเร่งด่วนที่พยายามเร่งผลักดัน ประกอบไปด้วย 1. ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) 2.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพื่อบรรลุเป้าหมายเน็ตซีโร่ในปี 2050 3.การจ้างงาน และการเติบโตของเศรษฐกิจ (Inclusive Economy) 4.การมีน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภค และบริโภค 5.การระดมทุน 3-5 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อเร่งขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs
“เรื่องของสังคม และสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของบริษัทเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่สังคม และสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเนื้อเดียวกับการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ”
ทั้งนี้ จากการสำรวจความท้าทายของโลกในปีข้างหน้าโดย World Economic Forum 2025 ได้ระบุถึง 5 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1.เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากปรับตัวไม่ทันก็อาจเกิดเศรษฐกิจถดถอยได้ ซึ่งเศรษฐกิจดิจิทัลจะคิดเป็น 70% ของมูลค่าเศรษฐกิจใหม่ใน 10 ปีข้างหน้า 2.เทคโนโลยี และพลังงาน ได้แก่ เอไอ ควอนตัม ไบโอเทค ซึ่งจะมีผลต่อธุรกิจทุกภาคส่วน รวมทั้งความต้องการไฟฟ้า โดยเฉพาะพลังงานสะอาด ที่เพิ่มขึ้น 2 เท่าในปี 2026 ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมอย่างดาต้าเซนเตอร์ กำลังย้ายฐานเข้ามาในประเทศไทย ในช่วงไม่ถึง 12 เดือนที่ผ่านมา มีการสัญญาณการลงทุนรวมกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ 3.การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเอไอจะเข้ามาแทน 40% ของการจ้างงานใน 10 ปีข้างหน้า 4.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีปัจจุบันลดคาร์บอนได้เพียง 66% ของเป้าหมายเน็ต ซีโร่ 5.การสร้างความเชื่อมั่น และความร่วมมือระหว่างประเทศอีกครั้ง และลดความขัดแย้ง
นายศุภชัย กล่าวว่า ความท้าทายข้างต้นนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของเทรนด์การทำธุรกิจในยุคใหม่ 3 ด้านด้วยกัน อย่างแรกคือ การเข้าสู่ยุคเอไอ และดิจิทัล (Digitalization) ซึ่งจะทำให้การบริโภคพลังงานสูงขึ้นอย่างมหาศาล สองคือ เรื่องของการแบ่งขั้ว ทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งระหว่างภูมิรัฐศาสตร์ ที่ทำให้เกิดการนำมาตรการกีดกันทางการค้า (Protectionist) กลับมาใช้มากขึ้น ซึ่งทำให้ซัพพลายเชนโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และประเทศไทยได้รับอานิสงส์ของการเคลื่อนย้ายทุนที่เข้ามา เพื่อเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ สินค้าอุปโภคบริโภค และความมั่นคงทางอาหาร โดยมีคู่แข่งที่สำคัญคือ เวียดนาม สาม คือ เรื่องการกำจัดคาร์บอน (Decarbonization)
“การเปลี่ยนแปลงใน 3 เรื่อง ได้แก่ Digitalization Deglobalization และ Decarbonization เป็นจุดที่มีทุนไหลเข้ามามากที่สุด เพราะนโยบายของรัฐบาลทั่วโลกก็มีส่วนที่สนับสนุนให้ทุนไหลไปสู่ภาคส่วนดังกล่าว ดังนั้นเศรษฐกิจของเราจึงอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านเพื่อแก้ปัญหา และก้าวข้ามความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม”
นายศุภชัย กล่าวต่อว่า การลงทุนใน Climate Technology ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะใน 3 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ การขนส่งคาร์บอนต่ำ พลังงานทางเลือก อาทิ ไฮโดรเจน และนิวเคลียร์ อาหารและเกษตร
ทั้งนี้ ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้เกิดธารน้ำแข็งละลาย แกนโลกขยับ และโลกหมุนช้าลง ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเวลาของโลก การคำนวณเวลามาตรฐาน กระบวนการทำงานของดาวเทียม ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น นอกจากนั้นหากอุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นอีก 3 องศาเซลเซียส จะทำให้มีประชากรที่อดอยากทั่วโลกกว่า 1.7 พันล้านคน จากประชากรทั้งหมด 8 พันล้านคน ซึ่งย่อมส่งผลต่อความมั่นคงของการเมืองโลก
"ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องมองในภาพรวมซึ่งยากมากที่จะทำแบบนั้น เพราะเอกชนมองความสำเร็จขององค์กรเป็นหลัก ส่วนปัจเจกบุคคลก็มองความสำเร็จของตัวเอง ดังนั้นในภาพรวมจึงต้องเกิดความร่วมมือกัน ไม่ใช่แค่ระหว่างเอกชนกับเอกชน หรืออุตสาหกรรมต่ออุตสาหกรรม แต่ต้องเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐ และเอกชน และรัฐต่อรัฐ"
นายศุภชัย กล่าวว่า การบรรลุเป้าหมายเน็ต ซีโร่ของเครือซีพีในปี 2024 ยังมีความท้าทายและอาจไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ ซึ่งจำเป็นจะต้องซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยในส่วนที่ขาด นอกจากนี้ หากคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของห่วงโซ่อุปทาน (Scope 3) ด้วยก็ยิ่งเป็นความท้าทายสำหรับเครือซีพี การพิจารณาแหล่งพลังงานทดแทนอื่นๆ เช่น พลังงานน้ำ นิวเคลียร์ กรีนไฮโดรเจน และเทคโนโลยีในการกักเก็บคาร์บอน โดยแนวทางในการขับเคลื่อนเรื่องพลังงานสะอาดของเครือซีพีต้องเพิ่มสัดส่วนเป็น 50% ภายในปี 2030 ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ กระบวนการเหล่านี้หากไม่มีพาร์ตเนอร์ในห่วงโซ่อุปทานคงทำไม่สำเร็จ และถ้าไม่มีนโยบายรัฐก็จะทำไม่สำเร็จเช่นกัน
เปลี่ยนป่าเป็นโทเคน
นายศุภชัย กล่าวว่า กระบวนการคาร์บอนเครดิตจะเป็นแนวทางการดูแลอนุรักษ์ป่าได้ดีที่สุด เดิมทีพื้นป่าเป็นทรัพยากรที่มักจะถูกบุกรุกเพื่อใช้ประโยชน์ และป้องกันได้ยาก แต่หากเปลี่ยนป่าให้กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล และเป็นรายได้สำหรับชุมชนที่พึ่งพาอาศัยป่า ทดแทนการบุกรุก และการทำเกษตรเชิงเดี่ยว
นายศุภชัย กล่าวว่า แนวทางการเร่งกระบวนการความยั่งยืนที่เคยเสนอต่อที่ประชุม WEF ได้แก่ 1.การบังคับให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกจะต้องตั้งเป้าหมายความยั่งยืน และรายงานต่อสาธารณะ เพื่อให้องค์กรตระหนัก และมีการลงมือทำอย่างจริงจัง จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ หรือกว่า 80% ของ GDP ประเทศ ลุกขึ้นมาทำเรื่องเดียวกัน และสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ 2.การขับเคลื่อนทุนทางการเงิน อาทิ Green Bond
ปลูกฝังผ่านการศึกษา
นอกจากนี้ การพัฒนา “ทุนมนุษย์” จะเป็นกลไกเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลกได้ โดยจะต้องมีการปฏิรูปการศึกษา วัฒนธรรม และกรอบความคิดเกี่ยวกับระบบความยั่งยืน ให้เกิดการเรียนรู้จากการวิเคราะห์ วิจัย และลงมือปฏิบัติจริง โดยนอกจากการสอนเรื่องความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องเข้าใจด้านจริยธรรมในการดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบ
“ท้ายที่สุดแล้วเป้าหมายเรื่องเน็ต ซีโร่จะยังคงเป็นความท้าทาย และอาจทำได้ไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม การร่วมกันลงมือทำเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจะเป็นการสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่ครอบคลุม และอยู่บนพื้นฐานความยั่งยืน”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์