'เรื่องสายตา' ปัญหาระดับโลก คาดปี 2050 ประชากรครึ่งโลก 'สายตาสั้น'
WHO รายงานว่า จำนวนผู้บกพร่องทางการมองเห็น 2.2 พันล้านคน มีประชากรอย่างน้อย 1 พันล้านคน หรือคิดเป็น 45% ของประชากรทั่วโลก อีกทั้งมีการคาดการณ์ว่า ปี 2050 เราจะมีประชากรครึ่งโลก มีปัญหาสายตาสั้น
Key Point :
- ปัญหาสายตา ถือเป็นปัญหาที่รบกวนการมองเห็นและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ซึ่งคนส่วนใหญ๋ใช้ชีวิตอยู่บนหน้าจอ ทำให้แนวโน้มปัญหาสายตาเพิ่มขึ้น
- ปี 2022 WHO เผยว่า จากผู้บกพร่องทางการมองเห็น 2.2 พันล้านคน มีประชากรอย่างน้อย 1 พันล้านคน หรือคิดเป็น 45% ของประชากรทั่วโลก อีกทั้ง การศึกษาในหลายประเทศ มีการพยากรณ์ว่า ปี 2050 ประชากรกว่าครึ่งโลกจะมีปัญหาสายตาสั้น
- พ่อแม่ยุคใหม่ ที่เลี้ยงลูกด้วยไอแพด มือถือ แม้จะทำให้พ่อแม่สะดวกขึ้น แต่ความจริงไม่ใช่แนวทางที่ดี เพราะทำให้เด็กมีปัญหาสายตาตั้งแต่เด็ก ส่งผลต่อการเป็นโรคทางตาอื่นๆ ได้อีกด้วย
ปัญหาสายตา เป็นสิ่งที่รบกวนการมองเห็น และการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น สายตายาว สายตาเอียง และสายตาสั้น โดยเฉพาะสายตาสั้น ซึ่งพบในกลุ่มเด็กวัยเรียนหรือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี อีกทั้ง ทั่วโลกพบปัญหาสายตาสั้นแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และเด็กที่มีปัญหาสายตาสั้น จะมีแนวโน้มเป็นโรคทางตาอื่นๆ ด้วย
องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยในรายงาน World report on vision 2022 ว่าจากจำนวน
ผู้บกพร่องทางการมองเห็น 2.2 พันล้านคนมีประชากรอย่างน้อย 1 พันล้านคน หรือคิดเป็น 45% ของประชากรทั่วโลก ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นทั้งระยะใกล้และระยะไกลที่สามารถป้องกันได้หรือยังสามารถแก้ไขได้ หากมีการตรวจพบอย่างทันท่วงที แต่สิ่งที่น่ากังวลคือจากนี้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หลายประเทศจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพดวงตาของประชากรมากขึ้นจากการเติบโตของประชากรสูงวัยและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สู่โหมดดิจิทัล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปี 2050 คาดประชากรโลก เจอปัญหา 50% สายตาสั้น
อาจารย์ประเสริฐ ผดุงเกียรติสกุล รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อธิบายว่า ภายหลังปี 2005 หลายประเทศทั่วโลกมีการวิจัยจากคณะวิจัยอื่นๆ รวมถึงมีการวิเคราะห์ข้อมูล ศึกษามากขึ้น มีการพยากรณ์ว่า ปี 2050 เราจะมีประชากรครึ่งโลกสายตาสั้น หากคิดจากฐานปัจจุบัน 7,000 ล้านคน แปลว่าจะมีประชากรโลกกว่า 3,500 ล้านคน ที่จะมีปัญหาสายตาสั้น
อีกทั้ง มีประเด็นศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น พบว่า หากเด็กที่มีสายตาสั้นเร็ว ตั้งแต่ 6 ขวบ เมื่อโตขึ้นจะสายตาสั้นมากกว่า 500 ขึ้นไป และมีโอกาสสายตาสั้นถึง 1,000 และคนสายตาสั้นเยอะ จะมีอัตราการเพิ่มของโรคต้อหิน จอประสาทตาฉีกขาด ต้อกระจก ฯลฯ
จากการศึกษาหลายประเทศพบแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะ Pacific Rim หรือ กลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก จะมีปัญหาเยอะที่สุด อาจจะสูงถึง 80% และทางฝั่งยุโรป 30-40% ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะอยู่ประมาณ 50% ขณะเดียวกัน การศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง พบว่า โควิด-19 ที่ผ่านมา เป็นจังหวะที่ทำให้ปัญหาสายตาสั้นเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นช่วงที่แต่ละคนอยู่ในโลกออนไลน์ ทุกคนใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต มือถือ ทั้งการเรียนการสอน แทบจะไม่มีกิจกรรมนอกบ้าน ตรงนั้นทำให้การใช้สายตาต่อเนื่อง
แนะเด็กห่างจอ
อาจารย์ประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า จากการประชุมวิชาการที่มุ่งแก้ไข ควบคุมสายตาสั้น ของทางมหาวิทยาลัยรังสิตที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางให้เด็กมีสายตาสั้นช้าลง และหากเป็นสายตาสั้นแล้วจะทำอย่างไรให้ชะลอการเพิ่มขึ้นต่อปีให้ช้า พร้อมกับมุ่งทำงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น เพราะเห็นแนวโน้มอนาคตชัดเจน
ข้อสรุปจากงานประชุมถึง ปัญหาสายตาสั้นในเด็ก พบว่า สาเหตุหลัก คือ การใช้สายตา ซึ่งเกี่ยวข้องกับสมาธิเด็ก พ่อแม่ยุคใหม่ จะเลี้ยงลูกด้วยไอแพด มือถือ เพราะเด็กจะนิ่ง ไม่งอแง กลายเป็นเด็กที่เลี้ยงดูง่าย แม้จะทำให้พ่อแม่สะดวกขึ้น แต่ความจริงไม่ใช่แนวทางที่ดี
เด็กเมื่อใช้สายตาระยะใกล้เวลานาน จะทำให้ลูกนัยน์ตายืดยาวขึ้นและนำไปสู่สายตาสั้น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นตัวดึงสมาธิ ยึดอยู่กับจุดนี้ง่าย ส่งผลให้สายตาสั้นเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น หากเด็กยังไม่มีความผิดปกติทางสายตา แนะนำว่า พยายามกระตุ้นให้เขาไปเล่นนอกบ้าน ราว 30 นาที – 1 ชั่วโมง ให้ได้รับแสงสว่างจากแสงภายนอก
“แต่หากเป็นสายตาสั้นแล้วต้องทำอย่างไร มีการศึกษาว่า การใช้กิจกรรมภายนอกอาจจะไม่ได้ประโยชน์มากนัก แต่อย่างน้อยจะทำให้อัตราการเร่งต่ำกว่า ควรหลีกเลี่ยงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในระยะใกล้ และควรจะได้รับการตรวจสายตาจากนักทัศนมาตร ควรตรวจและเฝ้าติดตามทุกปี”
ปัญหาสายตา ในวัยผู้ใหญ่
สำหรับ ผู้ใหญ่ วัยทำงาน อัตราการเพิ่มจะต่ำกว่าเด็ก ดังนั้น ควรตรวจสุขภาพตาเป็นหลัก ตรวจเรื่องของการมองเห็นเป็นหลัก แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงทางสายตา จะมีผลทำให้องค์ประกอบต่างๆ ของตา ไม่ว่าจะเป็นช่องตาตอนหน้า ความลึก ลักษณะความหนาของกระจกตาเกิดการเปลี่ยนแปลง หากเกิดเปลี่ยนแปลงในเชิงทำให้ถดถอย ต้องแก้ไขหรือส่งต่อจักษุแพทย์ ขณะที่ ผู้สูงอายุ จะมีในเรื่องของต้อหิน ต้อกระจก ภาวะความเสื่อมของจอประสาทตา การที่เห็นอะไรผิดปกติ ดังนั้น ควร ต้องได้รับการตรวจทุกปี
อาการของภาวะสายตาสั้น
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลสมิติเวช อธิบายว่า เรื่องของภาวะสายตาสั้นอาการโดยทั่วไป จะมีลักษณะที่เริ่มเกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น การอ่านป้ายสัญญาณจราจรหรือเห็นสัญญาณไฟจราจรมีความฟุ้งในขณะขับรถยนต์ การมองตัวหนังสือจากแผ่นป้าย กระดาน หรือโทรทัศน์ในระยะปกติได้ไม่ชัดเจน จำเป็นต้องมีการเพ่ง หรี่ตา หรือขยับตัวเข้าไปมองในระยะที่ใกล้มากขึ้นจากเดิม เพื่อทำให้เห็นวัตถุนั้นได้ชัดเจน
ในบางราย อาจมีการเอียงศีรษะในขณะที่มองวัตถุในระยะไกล หรือมีการก้มหน้าชิดกับสิ่งๆหนึ่ง เพื่อการมองเห็นที่ชัดเจนขึ้น รวมไปจนถึงอาจมีอาการปวดหัวหรือเมื่อยตาอยู่บ่อยครั้ง
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะสายตาสั้น
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการเกิดภาวะสายตาสั้น มีดังนี้
- ผู้ที่มีภาวะสายตาสั้น จะมีอาการตาล้า หรือปวดศีรษะ เนื่องจากจำเป็นต้องเพ่งมองวัตถุที่อยู่ในระยะไกล
- อาจทำให้ความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและบุคคลรอบข้างลดลง เนื่องจากมองไม่เห็นรายละเอียดสำคัญหรือวัตถุที่อยู่ในระยะไกล เช่น การขับขี่รถยนต์โดยเฉพาะตอนกลางคืน การควบคุมการทำงานของอุปกรณ์เครื่องจักรกลต่างๆ จะทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือเกิดความผิดพลาดขึ้นได้
- ทำให้ภาระทางการเงินมากขึ้น เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำเลนส์ รักษาพยาบาล หรือค่าตรวจตา
- อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือปัญหาสายตาอื่นๆตามมา ไม่ว่าจะเป็น โรคจอประสาทตาลอก โรคต้อหิน โรคต้อกระจก เนื้อเยื่อในดวงตาบางลง เกิดการอักเสบขึ้นบริเวณดวงตา หลอดเลือดอ่อนแอ มีเลือดออกได้ง่าย เป็นต้น
วิธีป้องกันภาวะสายตาสั้น
ภาวะสายตาสั้น จะเป็นปัญหาที่ไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากปัญหาสายตาสั้น เป็นลักษณะตามธรรมชาติที่ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของดวงตาแต่ละบุคคล แต่อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งหมดหวังไป เพราะถึงแม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันได้ แต่เราก็ยังมีวิธีการที่จะช่วยชะลอไม่ให้สายตาสั้นลงอย่างรวดเร็วได้ ดังนี้
- ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ
- งดหรือหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่มีผลต่อร่างกายรวมไปจนถึงเรื่องของดวงตา
- หากเริ่มมีภาวะสายตาสั้น ควรเลือกใช้เลนส์ที่เหมาะสมกับค่าสายตาของตนเองตามที่จักษุแพทย์ให้คำแนะนำ
- ในการทำกิจกรรมที่ต้องใช้การจดจ่ออยู่กับสิ่งๆหนึ่งเป็นเวลานาน เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ การอ่านหนังสือ การเล่นโทรศัพท์ ควรมีจังหวะในการพักสายตา เพื่อหลีกเลี่ยงอาการตาล้า
- เมื่อทำกิจกรรมภายนอกบ้าน ควรสวมแว่นตากันแดด เพื่อปกป้องดวงตาจากรังสีอัลตราไวโอเลต(UV)
- ควรสวมใส่แว่นตาทุกครั้ง เมื่อมีการทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายดวงตา เช่น การใช้สารเคมี เป็นต้น
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะในกลุ่มของพืชผักใบเขียว ผลไม้ รวมไปจนถึงอาหารที่มีกรดโอเมก้า3
- การเกิดปัญหาสุขภาพบางอย่าง โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพเรื้อรัง ส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นแย่ลงได้ ควรเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี ยกตัวอย่างเช่น บุคคลที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น
- เมื่อใช้ชีวิตประจำวัน ในบางครั้งควรมีการสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น การเกิดจุดดำลอยไปมาในดวงตา หรือเกิดจุดดำบริเวณกลางภาพ จู่ๆเห็นแสงคล้ายคลึงกับฟ้าแลบในดวงตา เป็นต้น หากเกิดความผิดปกติใดๆ ควรรีบเข้าพบจักษุแพทย์โดยเร็ว