ทะลุเป้า! ผู้ป่วยบัตรทองรับยาใกล้บ้าน ลดเวลาเดินทาง 22 %
HITAP สรุปผลประเมิน “โครงการรับยาใกล้บ้าน” ช่วยผู้ป่วยลดเวลารอรับยา เวลาเดินทาง 22% ปรึกษาเภสัชกรได้นานขึ้น ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้ 10-20% ด้าน สปสช. เผย 10 เดือน มีโรงพยาบาล ร้านยาเข้าร่วมโครงการเกินเป้า
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานกำกับติดตามโครงการลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยกลไกร้านขายยาแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้รับทราบผลการติดตามความคืบหน้าโครงการลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยกลไกร้านขายยาแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือ โครงการผู้ป่วยรับยาใกล้บ้าน จัดทำโดย “โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)”
พบว่าโครงการดังกล่าวเปรียบเสมือนยิงปืนนัดเดียวได้นก 3 ตัว กล่าวคือ สามารถลดระยะเวลารอรับยาและเวลาเดินทางได้ 37.5 นาที (22%) มีเวลาปรึกษาเภสัชกรเพิ่มขึ้น 4.5 นาที (56%) และลดความแออัดได้ (10-20%) นอกจากนี้ ในแง่ของโรงพยาบาลและร้านยาที่เข้าร่วมโครงการก็ทำได้เกินเป้าหมาย โดยมีโรงพยาบาลเข้าร่วม 130 แห่ง จากเป้าหมาย 50 แห่ง เกินเป้าหมายมา 2.5 เท่า มีร้านยาเข้าร่วม 1,033 แห่ง จากเป้าหมาย 500 แห่ง เกินเป้ามา 2 เท่า
อย่างไรก็ดี โครงการนี้ยังมีความท้าทายใหญ่ๆ อยู่ 3 ประเด็น คือ 1.ความครอบคลุมต่ำและการกระจายไม่ทั่วถึง 2.การสนับสนุนค่าใช้จ่ายไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และ 3.ระบบสารสนเทศยังไม่สนับสนุนการส่งต่อข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลและร้านยา ส่งผลต่อคุณภาพการบริการและเป็นภาระต่อร้านยา ดังนั้นเสนอให้มีการสนับสนุนให้ขยายการดำเนินการของโรงพยาบาลร่วมกับบริการ Telemedicine ให้เพิ่มเป็นอีก 50% ภายในปี 2564 และเป็น 100% ภายในปี 2565 เพื่อลดความแออัดของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 50% ขณะเดียวกันต้องพัฒนาระบบสารสนเทศให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล ร้านยา และ สปสช.
นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการผู้ป่วยรับยาใกล้บ้าน จากจุดเริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 โดยความร่วมมือสภาเภสัชกรรม สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล ผู้ประกอบการร้านยา กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. หลังจากที่ผ่านไป 10 เดือน ข้อมูล ณ วันที่ 1 ส.ค. 2563 พบว่ามีโรงพยาบาลเข้าร่วม 130 แห่ง มากกว่าเป้าหมายซึ่งตั้งไว้ที่ 50 แห่ง เช่นเดียวกับร้านยาเข้าร่วมโครงการ 1,033 แห่ง สูงกว่าเป้าซึ่งตั้งไว้ที่ 500 แห่ง ขณะที่จำนวนผู้ป่วยที่ไปรับบริการที่ร้านยานั้น สปสช.ตั้งเป้าในปี 2564 ไว้ที่ 36,450 คน โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยสมัครใจเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 19,625 คน และมีจำนวนครั้งที่ไปรับบริการจำนวน 29,986 ครั้ง
ในส่วนของประเภทโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการก็สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การลดความแออัด กล่าวคือโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปซึ่งประสบปัญหาผู้ป่วยแออัดในโรงพยาบาล มีอัตราการเข้าร่วมโครงการมากที่สุด โดยโรงพยาบาลทั่วไปเข้าร่วมโครงการมากที่สุด 49 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 37.69% รองลงมาคือโรงพยาบาลศูนย์ 33 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 25.38% ขณะที่รูปแบบการส่งยาที่โรงพยาบาลเลือกใช้มากที่สุด คือรูปแบบที่ 1 สูงถึง 80.77% โดยโรงพยาบาลจัดยาผู้ป่วยส่งไปที่ร้าน แล้วให้ผู้ป่วยมารับยาที่ร้านภายใต้การแนะนำของเภสัชกรร้านยา รองลงมาคือรูปแบบที่ 2 มีสัดส่วน 13:85% โรงพยาบาลจะจัดสต๊อกยาผู้ป่วยส่วนหนึ่งมาไว้ที่ร้านยา ซึ่งคนไข้จะนำใบสั่งยาของโรงพยาบาลหลังพบแพทย์มารับยาที่ร้านยา
สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการมากที่สุดคือกลุ่มผู้ป่วยอายุระหว่าง 61-75 ปี มีจำนวน 7,894 คน รองลงมาคือผู้ป่วยอายุระหว่าง 46-60 ปี มีจำนวน 6,280 คน ผู้ป่วยอายุ 75 ปีขึ้นไป 2,563 คน และอายุ 31-45 ปีอีก 1,644 คน ส่วนโรคที่รับยาที่ร้านยามากที่สุด 5 อันดับแรก คือโรคเรื้อรังอื่นๆ 8,249 ราย โรคความดันโลหิตสูงและโรคเรื้อรังอื่นๆ 3,049 ราย ความดันโลหิตสูงและเบาหวาน 2,873 ราย ความดันโลหิตสูงอย่างเดียว 2,467 ราย ผู้ป่วยจิตเวช 892 ราย และ เบาหวานอย่างเดียว 801 ราย
ขณะที่โรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการรับยามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ มีผู้ป่วยรับยาที่ร้านยา 3,515 ราย โรงพยาบาลหาดใหญ่ 1,805 ราย โรงพยาบาลพระจอมเกล้า 1,128 ราย โรงพยาบาลลำพูน 963 ราย และโรงพยาบาลนครปฐม 859 ราย
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าจำนวนผู้ป่วยสะสมที่เข้าร่วมโครงการรับยาที่ร้านยามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัสโควิด-19 กำลังระบาดเป็นวงกว้างในประเทศไทย และโครงการนี้สอดรับกับนโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นอย่างดี ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อาการคงที่แล้วจึงถูกแนะนำให้ไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านแทนเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและลดความแออัดในโรงพยาบาล
สำหรับการขยายผลโครงการผู้ป่วยรับยาร้านยาในปี 2564 จะนำร่องในรูปแบบที่ 3 โดยให้ร้านยาบริหารจัดการด้านยาทั้งหมดให้กับผู้ป่วย ตั้งแต่การจัดซื้อ การสต๊อกยา และจ่ายยาให้กับผู้ป่วย และสร้างความมั่นใจคุณภาพยาก โดยการทำงานร่วมกันทั้งโรงพยาบาลและร้านยา