'ไฮเทค&ไฮทัช ดิจิทัลเฮลท์แคร์' ระบบบริการสุขภาพแห่งอนาคตอีก 5 ปี

'ไฮเทค&ไฮทัช ดิจิทัลเฮลท์แคร์' ระบบบริการสุขภาพแห่งอนาคตอีก 5 ปี

'ระบบบริการสุขภาพแห่งอนาคต' ในมุมมองความคิดของศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และประธานกรรมการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือTCELS  อีก 5 ปีจะเป็นแบบ “ไฮเทค&ไฮทัช ดิจิทัล เฮลท์แคร์”

        “จากอดีตที่ระบบบริการสุขภาพจะเน้นเรื่องการรักษาโรค แต่ช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาจะเน้นส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคมากขึ้น เพราะถ้าสุขภาพดีก็จะไม่เจ็บป่วย ค่าใช้จ่ายด้านรักษาโรคก็จะลดลง”ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษเนื่องในโอกาส 36 ปี กรุงเทพธุรกิจ 

          เพราะเมื่อพูดถึงระบบสุขภาพจะมี 6 ขั้นตอน ได้แก่ 1.ส่งเสริมสุขภาพ(Health Promotion) 2.ป้องกันโรค(Disease Prevention) 3.รักษาโรค(Treatment of Disease)4.ฟื้นฟูสภาพ(Rehabilitation)5.การดูแลประคับประคอง(Palliative Care) และ6.การดูและระยะท้าย(End-of-Life Care) ซึ่งจากการพิจารณาข้อมูลทั่วโลกและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง นำมาคาดการณ์ เมกะเทรนด์ระบบสุขภาพอีก 5 ปีข้างหน้า  
2เรื่องใหญ่ส่งเสริมสุขภาพ

          ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ในแง่ของการส่งเสริมสุขภาพ จะดำเนินการ 2 เรื่องสำคัญ เรื่องที่ 1เทเลเฮลท์(Telehealth) มี 3 องค์ประกอบ คือ การบริหารจัดการระบบสุขภาพ การดูแลเกี่ยวกับสุขภาพ และการให้ความรู้เรื่องสุขภาพ ซึ่งอนาคตการส่งเสริมสุขภาพไม่จำเป็นที่คนไข้จะต้องไปรพ.แต่ก็จะได้รับความรู้เรื่องสุขภาพ
       โดยสามารถเข้าไปในโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มต่างๆเพื่อตั้งคำถามแล้วมีคนตอบ เป็นต้น และเรื่องที่ 2 ความรอบรู้ด้านสุขภาพ(Health Literacy) เป็นการยกระดับความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของสังคม ซึ่ง 2 เรื่องนี้หากทำได้ดี การส่งเสริมสุขภาพก็จะดี คนก็จะเจ็บป่วยน้อยลง
\'ไฮเทค&ไฮทัช ดิจิทัลเฮลท์แคร์\' ระบบบริการสุขภาพแห่งอนาคตอีก 5 ปี

     ส่วนการป้องกันโรค จะมี 3 เรื่องใหญ่ คือ การรู้รหัสพันธุกรรมของคน(Genetic Testings) เพื่อหากลุ่มเสี่ยงซึ่งเทคโนโลยีในการถอดรหัสพันธุกรรมของคนปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายที่ลดลงจากอดีตมาก ดังนั้น ถ้าคนสงสัยว่าน่าจะมีโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง แล้วสามารถรู้ข้อมูลพันธุกรรมของตัวเองก็จะหลีกเลี่ยงปัจจัยเสริมที่จะทำให้เกิดโรค เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ 1 ใน 3 ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม หากรู้รหัสพันธุกรรมตัวเองว่ามีการกลายพันธุ์ตรงตำแหน่งนี้เสี่ยงที่จะเกิดโรค ก็จะต้องเลี่ยงปัจจัยภายนอกที่จะส่งเสริมมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

         เอไอ(AI) จะมีบทบาทช่วยในการป้องกันโรค เพราะเมื่อใส่ข้อมูลการใช้ชีวิต อาหารที่รับประทาน ผลการตรวจเลือด ก็จะประมวลผลให้ว่ามีความเสี่ยงเรื่องอะไร บุคคลนั้นก็จะได้หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ
        ความรอบรู้ด้านสุขภาพ(Health Literacy) ถ้าประชาชนรู้ว่าจะหลีกเลี่ยงโรคต่างๆต้องทำอย่างไร จะป้องกันโรคได้ และวัคซีน(Vaccination) ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนเร็วมาก จึงมีการคาดว่าในอนาคตหากเจอเชื้อโรคใหม่ๆเข้ามา เชื่อว่าภายใน 6 เดือนจะมีวัคซีนให้คนทั่วโลกทยอยใช้ จากเดิมต้องใช้เวลาเป็นปี

การรักษาแม่นยำ- ทางไกล
     
สำหรับการรักษาโรค(Treatment of Disease) ในเรื่องการวินิจฉัยโรคจะมีเทคโนโลยีและเอไอ(Diagnostic Tech.+AI)เข้ามาช่วยให้มีความเฉียบขึ้น และแก้ปัญหาในพื้นที่ที่ไม่มีบุคลากรรองรับ เช่น รังสีแพทย์ หรือพยาธิแพทย์ เอไอก็จะเข้ามาช่วยในการอ่านผล ทำให้การวินิจฉัยเร็วและแม่นยำมากขึ้น

      การรักษาทางไกล(Telemedicine) ทำให้คนจำนวนไม่น้อยไม่ต้องมารพ.ก็ได้รับการรักษาโดยอาศัยเทคโนโลยี ,หุ่นยนต์ทำผ่าตัด(Robotic Surgery Telesurgery) อนาคตจะเป็นการต่อยอดเป็นเรื่องของการทำผ่าตัดทางไกล(Tele- Surgery) โดยคนไข้สามารถได้รับการผ่าตัดโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญมากๆ แต่แพทย์ผ่าตัดไม่ต้องไปในพื้นที่

  

        และการรักษาขั้นสูงต่างๆ เช่น การแพทย์แม่นยำ(Precision medicine)ไม่ต้องสุ่มเสี่ยงรองกินยา ได้ผลหรือไม่ได้ผล แต่จะรู้ก่อนรับประทานยาเพราะรู้พันธุกรรมก็จะรู้ว่ายาแต่ละตัวจะได้ผลหรือไม่ได้ผล ,การรักษาจำเพาะ(Targeted Therapy), การรักษาด้วยเซลล์บำบัด(Cell Therapy),3D-Printing ในการทำอวัยวะเทียม ข้อเทียมจะเหมาะกับคนไข้แต่ละคนที่สามารถใช้ได้พอดี และAI ช่วยในการป้อนข้อมูลเข้าไปแล้วนำมาช่วยเรื่องการรักษา
ฟื้นฟู-ประคับประคอง-ระยะท้าย

         การฟื้นฟูสภาพ(Rehabilitation) จะมีการใช้ Tele- Rehabilitationมากขึ้น อาทิ คนไข้ที่ทุพพลภาพต้องทำกายภาพบำบัด จะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูง ต่อไปจะสามารถทำได้ที่บ้านโดยใช้เทคโนโลยี ซึ่งไม่เพียงแต่แนะนำว่าจะต้องทำอย่างไร แต่เทคโนโลยีจะสามารถวัดได้ว่ากล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นหรือไม่ได้ด้วย และข้อมูลจะส่งผ่านไปยังปลายทางที่ให้การดูแล และความรอบรู้ด้านสุขภาพ(Health Literacy) จะทำให้คนพิการหรือทุพพลภาพเรียนรู้ที่จะฝึกตนเองได้อย่างไร

         การดูแลประคับประคอง(Palliative Care) และการดูและระยะท้าย(End-of-Life Care) ในระยะยาวเรื่องของTelehealth การให้คำปรึกษาทางไกล และMedical Robots มีโอกาสที่จะมีพยาบาลหุ่นยนต์ พี่เลี้ยงที่เป็นหุ่นยนต์อยู่ที่บ้าน เพื่อช่วยดูแลคนที่อยู๋ในระยะท้ายของชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมารพ.

\'ไฮเทค&ไฮทัช ดิจิทัลเฮลท์แคร์\' ระบบบริการสุขภาพแห่งอนาคตอีก 5 ปี
Geopoliticsสิ่งที่ระบบสุขภาพต้องคำนึง

       ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ บอกด้วยว่า ในอดีตและปัจจุบันการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาโรคและการฟื้นฟูต่างๆ ส่วนใหญ่จะต้องไปรพ.หรือคลินิก ระยะยาวจะเปลี่ยนจากที่คนไข้ ญาติจะมาพบหน้าแพทย์แล้วบอกว่าความดันโลหิต ชีพจรเป็นอย่างไร กลายเป็นการไปพบแพทย์และรพ.จะยังมีอยู่เพราะคนจำนวนหนึ่งยังต้องไปรพ. แต่คนอีกจำนวนหนึ่งไม่ต้องไปรพ.ก็อาศัยเทคโนโลยีช่วยในการปรึกษาแพทย์ และแพทย์ให้คำแนะนำดูแลตนเองหรือกระบวนการรักษา

       รวมถึง บุคคลทั้งคนที่ป่วยและไม่ป่วยก็จะมีอุปกรณ์ติดตัวที่ใส่หรือฝังไว้ใช้มอนิเตอร์ติดตามและบ่งบอกสัญญาณสุขภาพตนเองมากขึ้น เช่น นาฬิกาที่วัดความดันโลหิตได้ เครื่องที่วัดน้ำตาลติดตัวโดยไม่ต้องไปรพ. เป็นต้น และระยะเวลาไม่นานจะเห็นได้ว่าตัวรพ.มีไม่มาก เพราะสามารถบริการอยู่นอกรพ.ได้เกือบทั้งหมด ก็จะทำให้คนที่เจ็บป่วยที่จำเป็นต้องไปรักษาพยาบาลที่รพ.เท่านั้นไปรพ.

         อย่างไรก็ตาม ภายใต้ดิจิทัล เฮลท์แคร์เช่นนี้ ในระยะยาว ประเทศไทยจะต้องพิจาณาเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์(Geopolitics) ด้วยว่าจะเลือกใช้เทคโนโลยีทางฝั่งตะวันตกหรือฝั่งตะวันออก สมมติมีความสามารถใกล้เคียงแต่ราคาต่างกัน จะเลือกอย่างไร เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะต้องนำเข้ามาใช้พิจารณาด้วย

          “ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมว่าภายใน 5 ปี เมกะเทรนด์ระบบสุขภาพ เทคโนโลยีต่างๆจะวิ่งเข้ามาและแก้ปัญหาต่างๆที่เป็นพายุในระบบสุขภาพ ซึ่งคำที่บ่งบอกระบบสุขภาพในอนาคต ก็คือHigh Tech & High Touch Digital Healthcare เป็นระบบสุขภาพที่มีเทคโนโลยีสูง ขณะเดียวกันก็มีการสัมผัสจิตใจคนด้วย”ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์กล่าว