จับตา! เปิดประชุมสภา พลิกผิดเป็นชอบ? กฎหมาย 2 สินค้ากระทบสุขภาพ

จับตา! เปิดประชุมสภา พลิกผิดเป็นชอบ? กฎหมาย 2 สินค้ากระทบสุขภาพ

กฎหมายเกี่ยวกับ 2 สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 'เครื่องดื่มแอลกอฮอล์'-'บุหรี่ไฟฟ้า' อาจมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในการเปิดประชุมสภาฯรอบนี้ ต้องจับตาอย่างยิ่ง

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลต่ออันตรายต่อสุขภาพ และเป็นสินค้าที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กำหนดให้สัญลักษณ์สีแดงเสมอในการเจรจาเขตการค้าเสรี(FTA)  “ที่ไทยจะยอมไม่ได้” ได้แก่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ สินค้าอันตราย หรือที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงยา

น้ำเมา บุหรี่ไฟฟ้า ข้อห้ามตามกฎหมาย

ที่ผ่านมา ประเทศไทยนับว่ามีมาตรการควบคุมอย่างเข้มข้น จนเป็นต้นแบบให้หลายประเทศ โดยมีพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551  อาทิ ห้ามมิให้ ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม, ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณ ,ห้ามมิให้ ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลมีอายุต่ำกว่า 20 ปี

พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ห้ามผู้ใดขายหรือให้ซึ่งผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ,ห้ามผู้ใดใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้บุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ขายหรือให้ซึ่งผลิตภัณฑ์ยาสูบ, ห้ามผู้ใดโฆษณาหรือทําการสื่อสารการตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบ,ห้ามผู้ขายปลีกผลิตภัณฑ์ยาสูบแสดงหรือยินยอมให้แสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ สถานที่ขายปลีก

และ “บุหรี่ไฟฟ้า” เป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย ห้ามผลิต นำเข้าและจำหน่าย

ทว่า สิ่งที่จะต้องจับตาอย่างยิ่ง ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 พ.ศ.2567 ที่จะมีการเปิดประชุมในวันที่ 12 ธันวาคม 2567 คือ การพิจารณาเกี่ยวกับ “กฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ไฟฟ้า” ที่น่าจะมีหลายเรื่องที่อาจเป็นการ “เปลี่ยนจากข้อห้ามตามกฎหมาย ให้เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย”หรือไม่ 

กังวล 3 เรื่องใหญ่ (ร่าง)กฎหมายน้ำเมาใหม่

การแก้ไขกฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการเสนอเข้าสู่สภาฯหลายฉบับ จากหลากหลายภาคส่วน จึงมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. 

วิสาร เตชะธีราวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ  กล่าวว่า กมธ. วิสามัญฯ มีการพิจารณาแก้ไขสาระสำคัญแล้ว คือ 1.การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จากเดิมที่อำนาจการออกกฎหมายอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยกระจายอำนาจผ่านคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

 และ2.เพิ่มความยืดหยุ่นการทำงานของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับจังหวัด เพื่อออกนโยบายที่เหมาะสมกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจและผลกระทบของแต่ละพื้นที่

อย่างไรก็ตาม  สาระสำคัญใน(ร่าง)นั้นมีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดจากเดิมอย่างน้อย 3 เรื่องใหญ่ ที่ภาคประชาสังคมและนักวิชาการมีความกังวลอย่างยิ่ง
1.องค์ประกอบของคณะกรรมการ จากเดิมมี 2 ชุด คือ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ  แต่ฉบับใหม่ จะเหลือเพียง “คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่สิ่งที่เป็นข้อกังวลจากภาคส่วนที่ขับเคลื่อนเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น อยู่ตรงที่องค์ประกอบคณะกรรมการควบคุมฯ จะมีผู้แทนจากภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย 

“ (ร่าง)พ.ร.บ.ควบคุมฯ ในส่วนของโครงสร้างคณะกรรมการควบคุมฯที่มีผู้แทนภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยนั้น เป็นการทำลายเจตนารมย์ของกฎหมาย ถือว่าขัดหลักการ เพราะกฎหมายควบคุมไม่ต้องการให้ผู้ที่มีส่วนกับการผลิตเข้ามาเป็นกรรมการ”ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


2.การโฆษณา จากเดิมที่ “ห้ามผู้ใดโฆษณา” ถูกปรับเป็น “ห้ามไม่ให้มีการโฆษณา เว้นแต่ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายสามารถทำได้ตามหลักเกณฑ์ที่ รมว.สาธารณสุขกำหนด”

และ3. สถานที่และเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  มีโอกาสจะเปิดให้จำหน่ายได้มากขึ้น

“หากร่างกฎหมายนี้ผ่าน จะเป็นต้นแบบให้กฎหมายสุขภาพอื่นๆ เปิดโอกาสให้ตัวแทนภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องเข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการได้ทั้งหมด และการเปลี่ยนแปลงสาระหลายเรื่อง ทำให้ต้องเตรียมรับมือสถานการณ์ใหม่ที่จะถือเป็นการเปลี่ยนบรรทัดฐาน ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องปกติมากขึ้น แม้ว่าไม่ใช่สินค้าปกติ และการดื่มกระทบต่อสุขภาพ”รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

2 แนวทาง เปลี่ยนคุมบุหรี่ไฟฟ้า

ในส่วนของ “บุหรี่ไฟฟ้า” ได้มีการตั้ง “อนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย”  ซึ่งมีรายงานข่าวว่ามีการกำหนดแนวทางเกี่ยวกับการจัดการปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าไว้ 3 แนวทางได้แก่

 1. กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภทเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

2. ให้บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย ยกเว้น Heat not burn Tobacco Product (HTP)

 3. ให้บุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภทถูกกฎหมาย
จะเห็นได้ว่าใน 3 ทางเลือกดังกล่าว มี 2 ข้อที่หากมีการเลือกและได้รับความเห็นชอบจากสภาฯจะเป็นการเปลี่ยนกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าไปจากเดิมอย่างมาก นั่นคือ ข้อ 2 และ 3

ทั้งนี้ ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวในการเสวนา เรื่อง “เจาะลึก ข้อดีข้อเสีย 3 แนวทาง ของอนุกรรมาธิการฯว่า  แนวทางข้อที่ 2 ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ยกเว้นHTP นั้น มีข้อเสียคือ ผลิตภัณฑ์ HTP ยังคงมีนิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติด และองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ยังไม่อนุญาต  และไม่ได้ลดความเสี่ยงเมื่อเปลี่ยนมาใช้ HTP รวมถึง HIP นิยมทำเป็น hybrid เลือกชนิดที่เป็น stick หรือ e-juice ได้ ในผลิตภัณฑ์เดียวจึงไม่สามารถแยกแยะว่าเป็น E- cig หรือ HTP

ส่วนแนวทางข้อที่ 3 ยกเลิกกฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ข้อดีสำคัญที่กล่าวอ้างถึงเรื่องจัดเก็บรายได้จากการเก็บภาษีได้เพิ่มนั้น มีงานวิจัยที่ได้รับทุนจากธุรกิจบุหรี่ ประเมินว่าจะมีรายได้จากบุหรี่ไฟฟ้า 5.7-6.4 พันล้านบาทต่อปี และจะเก็บภาษีได้ 567-913 ล้านบาทต่อปี อีกงานวิจัยเสนอให้เก็บภาษีตามอังกฤษจะได้ 5-20% ของมูลค่า แต่ทั้ง 2 งานวิจัยนี้มีข้อท้วงติงเรี่องความถูกต้องทางระเบียบวิธีวิจัย ส่วนทางการยาสูบแห่งประเทศไทยประเมินมูลค่าทางตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งมีข้อท้วงติงว่าอาจจะจัดเก็บภาษีไม่ได้สูงดังประเมิน

บุหรี่ไฟฟ้า จุดยืน 14 ราชวิทยาลัยแพทย์

ขณะที่ผู้แทนจาก 14 ราชวิทยาลัยวิชาชีพแพทย์แห่งประเทศไทย มีการประกาศเจตนารมณ์ เรียกร้องให้รัฐสภาคงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ให้ความสำคัญกับอนาคตของชาติมากกว่าผลกำไรและภาษี ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และราชวิทยาลัยทุกแห่งส่งเสริมให้ “การไม่สูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า” เป็นค่านิยมดูแลสุขภาพทุกคน และนอกจาก “หมอไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” และขอเชิญคนไทยออกมาปกป้องลูกหลานโดยใช้ “# คนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” เป็นวาระแห่งชาติ จากนี้เป็นต้นไปจนกว่าสภาจะพิจารณายืนยันการไม่ให้มีการนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยต่อไป