80%แพทย์มีปัญหาการนอน เกินครึ่งหยุดหายใจขณะหลับ 15 ครั้ง/ชั่วโมง
ปัจจุบันจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในปี 2564 ทั่วประเทศไทย มีแพทย์จำนวน 38,820 คน สัดส่วนแพทย์ต่อจำนวนประชากร คิดเป็นแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 1,680 คน
KEY
POINTS
- ผลการตรวจภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับของแพทย์ พบว่าผลปกติ 16.5% มีความรุนแรงเล็กน้อย 21.5% มีความรุนแรงปานกลาง 24% และมีความรุนแรงมาก 19%
- ถ้าหยุดหายใจมากกว่า 15 ครั้งต่อชั่วโมง ก็จะมีโอกาสทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคทางสมอง รวมถึงโรคซึมเศร้า วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน (mood swings) และเกิดอุบัติเหตุ
- คนไทยมีความตื่นตัวเรื่องโรคนอนหลับกันมากขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะรู้ว่า ถ้าคุณภาพการนอนไม่ดีจะมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน
ปัจจุบันจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในปี 2564 ทั่วประเทศไทย มีแพทย์จำนวน 38,820 คน สัดส่วนแพทย์ต่อจำนวนประชากร คิดเป็นแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 1,680 คน (กลุ่มคลังข้อมูลสถิติ, สำนักงานสถิติแห่งชาติ ) ทำให้ภาระหน้าที่ของแพทย์มีมากขึ้น
นักศึกษาแพทย์บางส่วนลาออกจากราชการ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทำงานหนักและพักผ่อนไม่เพียงพอ สถานการณ์ภาวะขาดแคลนแพทย์ในปัจจุบัน ทำให้แพทย์ในประเทศไทยทำงานหนักจนเกิดผลกระทบโดยตรงต่อทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น โรคประจำตัว หรือภาวะผิดปกติบางอย่างในร่างกายและจิตใจ สุดท้ายทำให้สูญเสียบุคลากรแพทย์ไปส่งผลกระทบต่อวงการแพทย์และประเทศชาติ
การช่วยชีวิตแพทย์หนึ่งคนสามารถช่วยชีวิตประชาชนต่อไปได้อีกหลายหมื่นคน ปี 2564 โรงพยาบาลเมดพาร์ค จึงได้ทำโครงการ “Save Doctors, Save People, Save Thailand” ต่อเนื่องปี 2565 ด้วยโครงการอาสาดูแลหัวใจหมอ “Save Doctors’ Heart” แพทย์ทั่วประเทศกว่า 1,200 คนคัดกรองโรคหัวใจโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หลังจากตรวจวินิจฉัยแล้วได้รับการผ่าตัดอย่างทันท่วงที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
อาสาดูแลหมอ แก้ปัญหาการนอน
คลินิกเวชศาสตร์การนอน อาสาดูแลหมอ “หลับดี มีคุณภาพ Save Doctors’ Sleep Quality” ส่งเสริมการนอนหลับที่มีคุณภาพ ช่วยฟื้นฟูร่างกาย ช่วยให้แพทย์มีสุขภาพแข็งแรงยั่งยืน สามารถดูแลประชาชนได้อย่างมีศักยภาพ เนื่องจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OBSTRUCTIVE SLEEP APNEA: OSA)ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก จากสถิติของสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทยปี 2563 ประชากรไทยเกือบ 20 % มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น และประชากรทั่วโลกป่วยด้วยภาวะนี้ประมาณ 1 พันล้านคนหรือประมาณ 14% ของประชากรทั้งโลก
ปัญหาการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคนอนไม่หลับ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงสูงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น โรคหัวใจ ภาวะความดันโลหิตสูง การนอนหลับที่ไม่เพียงพอ หรือไม่มีคุณภาพ อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานที่ต้องรับผิดชอบชีวิตผู้อื่นของแพทย์ รวมทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุขณะทำงาน หรือขณะขับรถได้อีกด้วย
"Save Doctors’ประชาชนได้ประโยชน์
“นพ. จิรยศ จินตนาดิลก” แพทย์ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การนอนหลับ คลินิกเวชศาสตร์การนอนหลับ ให้สัมภาษณ์“กรุงเทพธุรกิจ”ว่า เปิดเผยว่า มีแพทย์จากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ 279 คน โดยผลการตรวจสุขภาพการนอนพบว่า 80% ของแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการ เป็นโรคภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ หรือที่เรียกว่า Sleep Apnea โดยมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันไป ซึ่งมีจำนวนถึง 56% ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะกำลังนอนหลับตั้งแต่ 15 ครั้ง/ชั่วโมง ขึ้นไป
นอกจากนี้แพทย์ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 439 คนผ่านการคัดกรองเบื้องต้นเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพื่อค้นหาภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับจำนวน 279 คน(ถือเป็น 63.55%)เป็นแพทย์ที่เข้ารับการตรวจในปี 2023 จำนวน 116 คนและ 163 คนในปี 2024 ผลการตรวจภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับของแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการ พบว่าผลปกติ (Normal) จำนวน 46 คน(16.5%)
- มีความรุนแรงเล็กน้อย (Mild OSA) จำนวน 60 คน(21.5%)มีความรุนแรงปานกลาง (Moderate OSA) จำนวน 67 คน (24%)
- มีความรุนแรงมาก (Severe OSA) จำนวน 54 คน(19%) โดยแพทย์กลุ่มนี้ได้เข้ารับการรักษาต่อเนื่อง ทั้งใน รพ. เมดพาร์ค หรือ รพ. ต้นสังกัดของตนเอง
“ในการวิจัย ถ้าหยุดหายใจมากกว่า 15 ครั้งต่อชั่วโมง ก็จะมีโอกาสทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคทางสมอง รวมถึงโรคซึมเศร้า วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน (mood swings) และเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์อันเป็นสาเหตุจากการหลับในเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จะเห็นว่านอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีผลกระทบทางสังคมอย่างมหาศาล ที่สำคัญหมอทำงานหนักอยู่แล้ว หากมีคุณภาพการนอนไม่ดีก็มีโอกาสที่จะวินิจฉัยผิดพลาด หรือ misdiagnosis ได้”
ข้อมูลจากแพทยสภา ณ มิถุนายน 2567 ประเทศไทยมีแพทย์ที่มีใบอนุญาต 74,480 คน โดย 46.5% อยู่ในกรุงเทพมหานคร คิดเป็นสัดส่วนแพทย์ 1 คน ต่อประชากรราว 940 คน ดังนั้น การดูแลสุขภาพของแพทย์จึงเป็นเรื่องสำคัญ หากสูญเสียแพทย์ไปมากเท่าไหร่ก็จะมีผลกระทบต่อการดูแลคนไข้มากขึ้น
ประเภทของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับแบ่งออกเป็น ขั้นต่ำ (Mild Level) หยุดหายใจมากกว่า 10 วินาที หรือมากกว่า 5-15 ครั้ง/ชม ขั้นปานกลาง (Moderate Level) มากกว่า 15 ครั้ง ขั้นรุนแรง (Severe Level) มากกว่า 30 ครั้ง ความสำคัญคือ ในกลุ่มที่เป็นปานกลางถึงรุนแรง ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะมีผลต่อสุขภาพอย่างแน่นอน สำหรับคนที่เป็นเล็กน้อย จะสังเกตุอาการได้ เช่น ตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกไม่สดชื่น รู้สึกเพลียตลอดทั้งวัน ในกรณีที่เป็นซึมเศร้าหรืออารมณ์แปรปรวน กลุ่มนี้จะมีผลต่อการทำงานในตอนกลางวันได้
ส่วนกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงทางร่างกาย เช่น โรคหัวใจ โรคทางสมอง โรคความดันโลหิตสูง กลุ่มนี้หมอจะแนะนำให้รีบรักษา ถ้ามีอาการกรน ก็อาจจะส่งไปแผนกหูคอจมูก เพื่อวินิจฉัยว่า มีปัญหาการอุดตันที่จมูก ลิ้นไก่ผิดปกติ กรามล่างมีขนาดเล็ก ต่อมทอลซินบวมโต
คนไทยมีความตื่นตัวเรื่องโรคนอนหลับกันมากขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะรู้ว่า ถ้าคุณภาพการนอนไม่ดีจะมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน (work performance) productivity นอกจากนี้ความสูญเสียทรัพย์สินและชีวิตจากอุบัติเหตุก็สูงขึ้น ภาคเอกชนก็ให้ความสำคัญในการตรจคุณภาพการนอนกันมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือในการตรวจวินิจฉัย และอุปกรณ์ช่วยในการนอนหลับมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โรคนอนไม่หลับ หรือ insomnea ถือเป็นกลุ่มใหญ่ เป็นเรื่องของพฤติกรรมเป็นส่วนใหญ่ ส่วนโรคหยุดหายใจระหว่างการนอนหลับ Sleep Apnea กลุ่มนี้จะมีผลต่อสังคมค่อนข้างสูง โดยเฉพาะประสิทธิภาพการทำงาน และอุบัติเหตุ กลุ่มเสี่ยงสูง โดยเฉพาะคนขับรถทางไกล ขับรถบรรทุก ขับรถสาธารณะ เช่น บขส อาจต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ที่สหรัฐอเมริกา คนที่จะมาทำใบขับขี่สาธาณะ จะมีกฏต้องผ่านการตรวจว่ามีความเสี่ยงเป็นโรค Sleep Apnea หรือไม่ ภาครัฐอาจต้องนำร่องกับกลุ่มเสี่ยงก่อน กลุ่มคนที่ทำงานเป็นกะ เช่น พยาบาล ก็มีความเสี่ยงเป็นโรค Sleep Apnea
เล่นกีฬา-แข็งแรงแต่หยุดหายใจขณะหลับ
“พญ. ใจจันทร์ สมใจ หิรัญวัฒนานนท์” กุมารเวชศาสตร์ประสาทวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งสามี ซึ่งเป็นศัลยแพทย์ พบว่ามีความผิดปกติคนละแบบ และต้องได้รับการดูแลรักษา การทำ sleep test ควรเป็นหนึ่งในโปรแกรมการตรวจสุขภาพทั่วไป (Physical check-up programme) เพราะหลายคนอาจไม่มีอาการผิดปกติ จนกว่าจะมีการตรวจวินิจฉัย ปัญหาการนอนมีผลนำไปสู่การเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอัลไซเมอร์ การรักษาปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องสุขอนามัยการนอน (Sleep hygiene) ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคหรือเป็นอันตรายถึงชีวิต
หลังจากเข้ารับการตรวจพบว่าสามี มีความผิดปกติ หยุดหายใจระหว่างการนอนในระดับสูง ทั้งที่เป็นคนแข็งแรงเล่นเทนนิส และกอล์ฟ เป็นประจำ และนอนหลับง่าย ต้องได้รับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้คิดว่า sleep test ควรเป็นหนึ่งในโปรแกรมการตรวจสุขภาพทั่วไป (Physical check-up programme) คนที่อยู่ในวัยที่ทำงานเยอะ และประสบความสำเร็จในชีวิตระดับหนึ่งแล้ว ควรจะคำนึงถึงคุณภาพการนอนซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 ของเวลาในแต่ละวัน การจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อให้มีสุขภาวะการนอนที่ดีต้องมีวินัย และกำลังใจจากสมาชิกครอบครัวด้วย
พันธุกรรมเกี่ยวกับการนอน
การทราบถึงรหัสพันธุกรรมของตัวเอง ช่วยให้วางแผนการนอนที่เหมาะสมได้ ซึ่งการตรวจรหัสพันธุกรรมลักษณะนี้ เป็นหนึ่งในวิธีการดูแลสุขภาพแบบ การแพทย์เฉพาะเจาะจง หรือ Precision and Personalized Medicine “แต่ไม่ว่าจะมีรหัสพันธุกรรมแบบไหน ก็ควรเข้านอนให้เร็ว ฝึกพฤติกรรมส่งเสริมการนอนหลับที่มีคุณภาพ เพื่อให้โกรทฮอร์โมนได้หลั่งอย่างเต็มที่”
“ผศ.พญ.กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์” แพทย์เฉพาะทางสาขา นาสิกวิทยาและภูมิแพ้ โรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่าอุบัติการณ์ของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับในคนไทย พบได้ประมาณร้อยละ 11.4 และอุบัติการณ์ของอาการนอนกรนและ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นนี้ พบเพิ่มขึ้นสูงกว่าเมื่อก่อนมาก ที่สำคัญ โรคนี้มีความสัมพันธ์กับภาวะไหลตายได้ร้อยละ 0.04
วิธีการรักษาอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ การรักษาหลักที่เป็น gold standard ของโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นคือ การใช้เครื่อง Continuous Positive Airway Pressure หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า CPAP ซึ่งแพทย์มักแนะนำให้ใช้ในกรณีที่เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นตั้งแต่ปานกลางขึ้นไป
ซึ่งเครื่องนี้จะทำงานโดยการอัดอากาศเพื่อเปิดถ่างทางเดินหายใจ ไม่ให้ทางเดินหายใจส่วนบนหย่อนและอุดกั้น ซึ่งจะทำให้ระดับออกซิเจนในร่างกาย และการหายใจเข้าออกผ่านทางเดินหายใจส่วนบนดีขึ้น ลดการตื่นกลางดึก และลดความเสี่ยงของโรคต่างๆที่มักเกิดในผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างมีนัยยะสำคัญ
ในผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักเกิน แนะนำให้ลดน้ำหนัก คุมอาหารอย่างถูกวิธี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสามารถลดภาวะหย่อนและตีบแคบของทางเดินหายใจได้ เนื่องจากเมื่อสัดส่วนของกล้ามเนื้อมากขึ้นและสัดส่วนของไขมันลดลง จะทำให้ทางเดินหายใจเปิดได้ดีขึ้นด้วย บางรายที่น้ำหนักเกินเกณฑ์มาก ควรปรึกษาอายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อเพื่อช่วยเรื่องการลดน้ำหนัก นอกจากนี้ การใช่บอลลูนกระเพาะ และการผ่าตัดกระเพาะ จะช่วยลดน้ำหนักได้ดีในรายที่มีภาวะอ้วนรุนแรง