รู้ทัน“สมองเสื่อม อัลไซเมอร์” ป้องกันก่อนเกิดโรค

รู้ทัน“สมองเสื่อม อัลไซเมอร์”  ป้องกันก่อนเกิดโรค

21 กันยายน ของทุกปีเป็นวันอัลไซเมอร์โลก ซึ่ง “โรคอัลไซเมอร์” เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมทั่วโลก เชื่อว่ามีผู้สูงอายุประมาณ 600,000 -700,000 คนในไทยที่มีภาวะสมองเสื่อม

ทั่วโลกพบผู้ป่วยอัลไซเมอร์มากขึ้นราว 55 ล้านคน และจะยังมากขึ้นทุกปี“ผู้ป่วยอัลไซเมอร์” จะมีปัญหาสำคัญในการหลงลืม อาจจะจำบุคคลไม่ได้ จำสถานที่ไม่ได้ หลงทิศทาง เพราะฉะนั้น เป็นปัญหาที่รักษาไม่ได้ การที่ดูแลป้องกันก่อนตั้งแต่ก่อนเกิดโรค หรือ สามารถวินิจฉัยได้ก่อนเป็นโรคในระยะแรกเป็นสิ่งสำคัญ

นพ. กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลวิมุต อธิบายว่า โรคสมองเสื่อม รวมถึง โรคอัลไซเมอร์ มักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะวัย 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับความเสื่อมถอยของร่างกาย เมื่อคนเราอายุมากขึ้น เซลล์สมองและหลอดเลือดในสมองอาจได้รับความเสียหายมากขึ้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

Checklist!! ‘สุขภาพใจ’หลังพบผู้ประสบภัยน้ำท่วมเครียด- ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย

SIT-TO-STAND TRAINER นวัตกรรมช่วยสูงวัยลุกนั่งได้ด้วยตัวเอง

“สมองเสื่อม”พบมากในอายุ65ปีขึ้น

โดยจะมีการสะสมของโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid)’ ซึ่งมีผลต่อการทำงานของโครงข่ายประสาทในสมองนอกจากนั้น เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคอื่น ๆ ที่จะมาเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อม เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น

"จากการวิจัยยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าพฤติกรรมใดที่นำไปสู่โรคสมองเสื่อม แต่ปัจจัยด้านพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ล้วนมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดโรค นอกจากนี้ ยังพบว่าคนอายุน้อยก็สามารถเป็นโรคสมองเสื่อมได้ แต่สาเหตุมักเกิดจากพันธุกรรม การประสบอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อเนื้อสมอง การใช้สารเสพติดหรือยานอนหลับบางชนิด การติดเชื้อเอชไอวีหรือซิฟิลิส หรือโรคสมองอักเสบจากภาวะแพ้ภูมิต้านทานตัวเอง (Autoimmune encephalitis)”นพ. กฤตวิทย์ กล่าว

รู้ทัน“สมองเสื่อม อัลไซเมอร์”  ป้องกันก่อนเกิดโรค

10 สัญญาณเตือนอัลไซเมอร์

สำหรับสัญญาณเตือนผู้ป่วยอัลไซเมอร์ มีดังต่อไปนี้

1. ลืมสิ่งที่เพิ่งพยายามจะทำ หรือเพิ่งเรียนรู้ : แม้จะตั้งใจจำ แต่ลืม ใส่ใจแต่จำไม่ได้

2. สิ่งที่เคยจัดการได้ ก็ทำไม่ได้เหมือนเดิม : เคยวางแผนจัดการแก้ปัญหาได้ดี ความสามารถการทำจะลดลง

3. ทำกิจวัตรเดิมไม่ได้ดี ทั้งเรื่องทำงาน งานอดิเรก : เช่น เคยเปิดไมโครเวฟ หรือกดโทรศัพท์ได้ แต่ทำไม่ได้แล้ว

4.สับสนวันเวลา สถานที่ : จำวันเวลาสถานที่ไม่ได้ บางคนขับรถเก่งมาก อยู่ๆ งงไปอีกซอย

5. ไม่เข้าใจสิ่งที่มองเห็น : อ่านเนื้อหาในหนังสือไม่เข้าใจ ประเมินระยะห่างสีแสงที่เห็นผิด กะระยะมิติความสัมพันธ์ไม่ได้ หลงทิศ

6. ภาษาการพูด เคยพูดเก่งก็พูดน้อยลง : นึกคำพูดไม่ออก คนที่พูดภาษาที่สองได้ จะพูดไม่ได้ ทั้งๆ ที่เคยพูดคล่อง

7.ความจำในการมองเห็นหายไป : ถ้าสูงวัยหลงลืมปกติ วางสิ่งของไว้ตรงไหน ลองค่อยๆ นึกก็จำได้ แต่อัลไซเมอร์ วางสิ่งของไว้ในที่แปลกๆ และนึกไม่ออก

8. การตัดสินใจแปลกๆ แก้ปัญหาได้ไม่ดี :บางคนเล่นหุ้น ลงทุนการเงิน แต่ทำไม่ได้แล้ว

9. หลีกหนีสังคม : ทำตัวออกห่างจากกลุ่มเพื่อนจากกิจกรรมที่เคยชอบ อย่างไม่มีเหตุ ไม่อยากออกจากบ้าน ลึกๆ กังวลไม่รู้จะทำตัวอย่างไร

10. บุคลิกเปลี่ยน : จากใจดีกลายเป็นคนเกรี้ยวกราด เสียงดัง ใจน้อย จากสะอาดเป็นสกปรก

สังเกตสูงวัย เป็นอัลไซเมอร์หรือไม่?

วิธีสังเกตคนรอบข้างว่า หากคนที่ใกล้ชิดเริ่มแตกต่างจากเดิม ไม่น่าใช้คนที่เคยรู้จัก หรือ ความแปลก มีความรุนแรงจนเริ่มทะเลาะกัน ทำให้เกิดผลเสียกับสมาชิกในครอบครัว ควรพบแพทย์ หากเราต้องเป็นผู้ดูแล

 ผู้ที่เป็นอัลไซเมอร์ ทำอย่างไรที่เราจะเป็นจิตคิดบวก เพราะสิ่งหนึ่งที่จะตามมา คือ ความกังวล ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ

1. เข้าใจเขา พฤติกรรม ความสามารถที่ลดลง ที่ส่งผลให้ทำอะไรแปลกๆ หากเราเข้าใจว่าเป็นอาการป่วยเราจะเข้าใจเขาได้มากขึ้น

2.เข้าใจโรค ว่าอยู่ในระยะอะไร ต้องการการดูแลอย่างไร

3. เข้าใจตัวเอง ผู้ดูแลส่วนใหญ่มักจะลืมไป ยอมรับตัวเราเองว่าอารมณ์โกรธและไม่เข้าใจเป็นเรื่องปกติ วางทุกข์ลง ก็จะทำให้เข้าใจโรคได้ดี

รู้ทัน“สมองเสื่อม อัลไซเมอร์”  ป้องกันก่อนเกิดโรค

ลดอาการสมองเสื่อม

ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่ามียาที่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ แต่อาจมียาบางกลุ่มที่สามารถใช้รักษาบรรเทาอาการและการรักษาประคับประคองโรค โดยวิธีเลือกยารักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของผู้ป่วยแต่ละราย การรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่นกิจกรรมบำบัด (Occupational therapy) สามารถช่วยฟื้นฟูความจำและให้ผู้ป่วยกลับมาทำกิจกรรมประจำวันได้อรรถบำบัด (Speech therapy) ในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการพูดสื่อสารการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยตัวผู้ป่วยเอง (Lifestyle modification) ก็มีประโยชน์อย่างมากใน

การช่วยฟื้นฟูอาการของโรคสมองเสื่อม

"ตอนนี้ยังไม่มียาที่ใช้ป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ แต่เราก็มีวิธีลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่สูบบุหรี่ ดูแลสุขภาพและรักษาโรคเรื้อรังประจำตัวให้หาย ทำกิจกรรมที่ฝึกสมอง เช่น อ่านหนังสือ และสุดท้าย คือการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีเพื่อรู้เท่าทันทุกโรคภัย นั่นเอง” นพ. กฤตวิทย์ กล่าว

รู้ทัน“สมองเสื่อม อัลไซเมอร์”  ป้องกันก่อนเกิดโรค